คอลัมน์ รู้ไปโม้ด

[email protected]

อยากทราบเรื่องเสื้อเกราะ มีกี่ประเภท และมีประวัติความเป็นมาไหมว่าเป็นอย่างไร

ชู้ตเตอร์

ตอบ ชู้ตเตอร์

เก็บความรู้เรื่องเสื้อเกราะจากเอกสารแผนกการวัตถุระเบิด กองศึกษาและวิจัย กรมสรรพาวุธทหารเรือ โดย อาจารย์กองวิชาฟิสิกส์และเคมี โรงเรียนนายเรือ มาดังนี้

เสื้อเกราะ หรือเสื้อเกราะกันกระสุน หมายถึงเสื้อหรือสิ่งใดๆ ที่ผลิตหรือประกอบรวมขึ้นด้วยแผ่นเกราะ เพื่อป้องกันหรือลดอันตรายจากกระสุนปืนที่ยิงบริเวณลำตัวของผู้ที่สวมใส่ ทั้งนี้ โดยทั่วไปเสื้อเกราะประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ ส่วนที่หนึ่ง เสื้อนอก (Outside Shell Carrier) เป็นส่วนที่ใช้สำหรับรับแรงกระแทก อาจจะมีส่วนที่ใช้แผ่นเหล็ก หรือเซรามิก เพื่อเพิ่มความสามารถในการรับแรงกระแทก
1
ส่วนที่สอง ส่วนยึดรั้ง (Fastening System) ใช้ยึดเสื้อเกราะกับร่างกายทำให้เกิดความกระชับ และส่วนที่สาม แผ่นรับแรงกระแทก (Ballistic Panel) ลักษณะเป็นใย ทอจากใยสังเคราะห์ เมื่อถูกแรงกระแทกจะเกิดการยึดตัว ช่วยดูดซับพลังงาน เพื่อลดความเร็วของกระสุนที่ผ่านเข้ามา

การนำวัสดุประเภทใยสังเคราะห์มาผลิตเสื้อเกราะเพราะมีน้ำหนักเบา และแข็งแรงกว่าโลหะ วัสดุที่ใช้ในปัจจุบัน คือ เส้นใยอะรามิด (Aramid Fiber) เป็นเส้นใยประเภทอลิเอไมด์ หรือไนลอน มีความแข็งแกร่งและแข็งแรงสูง สามารถคงรูปได้ดี ทนต่ออุณหภูมิสูงถึง 370 องศาเซลเซียส

หรืออาจจะเป็นเส้นใยโพลิเอทิลีน ชนิดความแข็งแรงสูงยิ่งยวด (Ultra High Strength Polyethylene Fiber) ซึ่งกระบวนการผลิตต้องใช้เทคนิคพิเศษทำให้มีความแกร่ง แข็งแรง น้ำหนักเบา ราคาถูกกว่าเส้นใยอะรามิด แต่อุณหภูมิที่ใช้งานต่ำกว่า
2
เมื่อกระสุนวิ่งมากระทบกับเสื้อเกราะจะถูกยึดจับไว้ด้วยเส้นใยที่แข็งแรงมาก เรียกกันว่า “เว็บ” (Web) เส้นใยเหล่านี้จะดูดซับและกระจายพลังงานการกระแทกของกระสุนที่ส่งผ่านมายังตัวเสื้อ เป็นผลให้กระสุนนั้นเกิดการบิดเบี้ยวหรือเสียรูปไป พลังงานที่เกิดขึ้นนั้นจะถูกดูดซับไว้ด้วยแต่ละชั้นของเส้นใยจนกระทั่งกระสุนหยุดลงในที่สุด

ดังนั้น การทอเส้นใยให้ยิ่งหนาแน่นมากเท่าไรก็จะยิ่งมีความทนทานต่อแรงกระสุนมากขึ้นเท่านั้น’ นี่คือลักษณะการทำงานของเสื้อเกราะ
3
ในขณะที่กระสุนมากระทบกับเสื้อเกราะพลังงานจากกระสุนจะถูกดูดซับและแพร่กระจายไปตามชั้นของเส้นใยเรื่อยๆ จนท้ายที่สุดคือร่างกาย การกระแทกร่างกายจะเรียกว่า ‘บลันต์ ทรอมา’ (Blunt Trauma) หมายถึงอาการฟกช้ำ

ซึ่งอาการดังกล่าวจะต้องอยู่ในระดับที่ไม่ปรากฏอาการออกมาให้เห็น ร่างกายของคนเราจะสามารถทนทานต่ออาการบลันต์ ทรอมา ได้ปริมาณหนึ่ง ซึ่งสามารถทดสอบและคิดค่าออกมาได้ เรียกว่า ‘Back Face Signature’ มีหน่วยเป็นมิลลิเมตร
4
จากอดีตถึงปัจจุบันมีมาตรฐานการทดสอบเสื้อเกราะอยู่หลายมาตรฐาน โดยมาตรฐานที่เก่าแก่ที่สุดได้แก่มาตรฐานของ NIJ (U.S. National Institute of Justice) เรียกว่ามาตรฐาน U.S.NIJ.0101.03 มาตรฐานนี้กำหนดค่า Back Face Signature เท่ากับ 44 มิลลิเมตร แต่ปัจจุบันปรับปรุงเป็น U.S.NIJ.0101.04

นอกจากนี้ยังมีมาตรฐาน U.S.PPAA1989-05 กำหนดค่า 44 มิลลิเมตรเช่นเดียวกัน แต่จำนวนนัดของกระสุนที่ยิงใส่เสื้อเกราะน้อยกว่า ดังนั้น เสื้อเกราะบางชนิดสามารถผ่านมาตรฐาน PPAA ได้ แต่ไม่ผ่านมาตรฐาน NIJ ถือได้ว่ามาตรฐาน NIJ เป็นมาตรฐานที่ใช้กันอย่างกว้างขวางที่สุด ทั้งในสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย เอเชีย ตะวันออกกลาง และประเทศในยุโรปบางประเทศ เช่น ฟินแลนด์ อังกฤษ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน