น้าชาติ ประชาชื่น

[email protected]

ข่าวเขียน “สมเด็จฮุน เซนชนะเลือกตั้ง” ทำไมต้องเรียก สมเด็จฮุน เซน ไขข้อข้องใจด้วย

เดี่ยว

ตอบ เดี่ยว

ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ “สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน” จากกษัตริย์พระนโรดมสีหนุเมื่อพ.ศ. 2536 ทั้งนี้ ยังมีบุคคลสำคัญของกัมพูชาได้รับการสถาปนาบรรดาศักดิ์อีก 3 คนคือ สมเด็จอัครมหาธรรมโพธิศาล เจียซิม, สมเด็จอัครมหาพญาจักรี เฮง สัมริน และ สมเด็จพิชัยเสนา เตีย บันห์

นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์กัมพูชา ดร.ศานติ ภักดีคำ อธิบายไว้ในบทความว่าด้วยที่มาและความหมายของนามบรรดาศักดิ์ดังกล่าวในนิตยสารศิลปวัฒนธรรมว่า คำว่า “สมเด็จ” เป็นคำภาษาเขมรโบราณที่แผลงมาจากคำว่า “สฺตจ (เสด็จ)” ปรากฏหลักฐานใช้มาตั้งแต่ศิลาจารึกของเขมรโบราณสมัยพระนคร โดยใช้อักขรวิธีตามศิลาจารึกว่า “สํตจ” และ “สํเตจ” มีความหมายว่า พระนามศักดิ์สิทธิ์สำหรับกษัตริย์ เทพเจ้า นักบวช

ในศิลาจารึกนครวัดสมัยหลังพระนครก็ปรากฏการใช้คำว่า สมเด็จ เช่นเดียวกัน เช่น ใช้นำหน้าพระนามของกษัตริย์ ในจารึก IMA.3 กล่าวถึง “สมเด็จพระชัยเชษฐาธิราชโองการ” และใช้นำหน้าพระนามของพระราชวงศานุวงศ์ชั้นสูง ในกัมพูชาสมัยหลังพระนครยังนำคำว่า สมเด็จ มาใช้นำหน้าสมณศักดิ์ของพระสงฆ์ผู้ใหญ่ นอกจากนี้ นามบรรดาศักดิ์ขุนนางสำรับโท ซึ่งเป็นข้าราชการฝ่ายพระมหาอุปโยราชของกัมพูชาในสมัยหลังพระนคร มีตำแหน่งเสนาบดีนายก ยศเป็น สมเด็จ เจ้าพระยา หรือสมเด็จเจ้าพญา

แสดงให้เห็นว่าตำแหน่ง สมเด็จ ได้นำมาใช้กับตำแหน่งขุนนางชั้นสูงตั้งแต่ในกัมพูชาสมัยหลังพระนครด้วย

การนำคำว่า สมเด็จ มาใช้เป็นยศของขุนนางกัมพูชาสมัยหลังพระนคร คล้ายคลึงกับการใช้คำว่า สมเด็จ ของกัมพูชาในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีคำอธิบายในหนังสือ ?ประชุมลิขิต? ของออกญามหามนตรี จางวางกรมพระราชมณเฑียร (ญึก นูว) ซึ่งพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2513 ว่า “พระสงฆ์และคฤหัสถ์ซึ่งมีฐานันดรศักดิ์เป็นที่ สมเด็จ ไม่ต้องใช้คำราชาศัพท์ เสวย บรรทม ต้องพูดตามคำธรรมดา จะใช้คำราชาศัพท์ได้ก็ต่อเมื่อพระเจ้าแผ่นดินพระราชทานให้เปลี่ยนเป็นเสด็จ”

ด้วยเหตุดังกล่าว ผู้นำของกัมพูชาในปัจจุบันจึงสามารถมีคำนำหน้านามบรรดาศักดิ์ว่า สมเด็จ ได้ทั้งที่เป็นสามัญชน

สมัยหลังพระนคร (พุทธศตวรรษที่ 21-24) ราชสำนักกัมพูชาได้ย้ายศูนย์กลางจากตอนเหนือของบริเวณทะเลสาบเขมรไปตั้งอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง คือบริเวณเมืองละแวก และเมือง อุดงค์ฦๅชัย ในสมัยนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน รวมถึงตำแหน่งยศและนามบรรดาศักดิ์ของขุนนาง เปลี่ยนแปลงจากเดิมที่ใช้ “กัมรเตงอัญ” [เสตงอัญ” ฯลฯ มาใช้ตำแหน่งยศและนามบรรดาศักดิ์ชุดเดียวกับกรุงศรีอยุธยา คือ เจ้าพญา ออกญา ออกพระ ออกหลวง ขุน เป็นต้น

นามบรรดาศักดิ์ “เดโช” เดิมเป็นนามบรรดาศักดิ์ของ “เจ้าเมืองกำพงสวาย” ปรากฏในทำเนียบบรรดาศักดิ์กรุงกัมพูชา “เมืองกพงสวาย พระยาเดโช เจ้าเมือง” นอกจากนี้ยังปรากฏในจารึกนครวัดสมัยหลังพระนครหลักที่ IMA.9 จารึกเมื่อพ.ศ. 2160-70 กล่าวถึง “เจ้าพญาเดโชชัย” และในจารึกนครวัดสมัยหลังพระนครหลักที่ IMA.39 จารึกเมื่อปี พ.ศ. 2290 มีความตอนหนึ่งกล่าวว่า “พระราชทานออกญาวงษาอัครราชเป็นออกญาเดโชกินเมืองกำพงสวายนั้น”

รวมทั้งยังมีการกล่าวถึงนามบรรดาศักดิ์ “ออกญาเดโช” ในราชพงศาวดารกรุงกัมพูชา พงศาวดารพระมหากษัตริย์ และเอกสารมหาบุรุษเขมรด้วย ดังความตอนหนึ่งในพงศาวดารพระมหากษัตริย์ว่า “ออกญายมราชแบนเป็นข้าสมเด็จพระรามาราชาธิราชไปอยู่กับออกญาเดโชแทนที่เมืองกำพงสวาย แล้วออกญายมราชแบนหนีเข้าไปยังกรุงศรีอยุธยา” แสดงให้เห็นว่าตำแหน่งนี้น่าจะมีใช้มาตั้งแต่ในกัมพูชาสมัยหลังพระนคร

ต่อมาในสมัยอาณานิคมฝรั่งเศส ตำแหน่ง ออกญาเดโช ได้เปลี่ยนไปเป็นตำแหน่งของเจ้าเมืองกำพงธม (จังหวัดกำพงธม) เมื่อฝรั่งเศสได้ย้ายศูนย์กลางของเมืองนี้จากเมืองกำพงสวายมาไว้ที่เมืองกำพงธม ดังปรากฏนามบรรดาศักดิ์ในตำแหน่งมนตรีรัฐบาลเขตว่า “ออกญาเดโชบุราราชธรณินท นรินทบริรักษ์ สมุหา ธิบดี อภัยเภรีปารากรมพาหุ”

ตำแหน่ง ออกญาเดโช เป็นตำแหน่งสำคัญเพราะเป็นเจ้าเมืองเอก มีอำนาจมาก และมักมีตำแหน่งเป็นแม่ทัพในการทำสงครามด้วย

นามบรรดาศักดิ์ เดโช จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า เป็นนามบรรดาศักดิ์ของ ออกญาเดโชบุราราช (มาศ) หรือ เดโชกรอฮอม และออกญารามราชเดโช (ยต) ซึ่งทั้ง 2 คนเป็นวีรบุรุษของกัมพูชาที่มีคุณูปการทั้งในด้านการปราบกบฏและด้านการสงครามต่อต้านการรุกรานจากเสียม (สยาม)

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน