คอลัมน์ สดจากเยาวชน

กนกวรรณ อำไพ

ศิลปะ คือการแสดงออกทางความรู้ ความคิด อารมณ์ และจินตนาการ เปรียบเสมือนสื่อหรือเครื่องมือที่ผู้ถ่ายทอดใช้เป็นตัวกลาง เพื่อโยงความรู้สึกนึกคิดของ ตนให้ ผู้อื่นรับรู้ โดยใช้ภาษาภาพในรูปแบบศิลปะหลากหลายลักษณะ เช่น รูปร่าง รูปทรง แสงเงา สี และอื่นๆ

การใช้ศิลปะเป็นสื่อในการเรียนรู้ของเด็กๆ จึงเต็มไปด้วยความคิด สีสัน จินตนาการที่แสดงออกได้อย่างอิสระ สามารถพัฒนาทั้งด้านสติปัญญา ความคิดจินตนาการ มีความสุขกับงานศิลปะของตนเองและยังช่วยเสริมสร้างสมาธิไปในตัว

บทเรียนของเด็กๆ จะสนุกขึ้นเพียงใดหากได้เรียนรู้กระบวนการทำงานศิลปะพร้อมๆ กับเรียนรู้เรื่องราวของชุมชนที่ตนเองอยู่อาศัย เพราะทุนดีที่มีอยู่รอบตัวสามารถเพิ่มคุณค่าให้ห้องเรียนศิลปะเป็นเรื่องสนุกและน่าตื่นเต้นสำหรับเด็กๆ
3
โรงเรียนปรีดาวิทย์ตั้งอยู่ในอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เมืองเก่าที่รุ่มรวยด้วยวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ควรค่าแก่การเรียนรู้ โรงเรียนเห็นความสำคัญเรื่องการ บูรณาการองค์ความรู้ในท้องถิ่น จัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนในวิชาศิลปะ เชื่อมโยงถึงการรักษาศิลปะการละเล่นพื้นบ้านให้ยั่งยืนด้วยการเริ่มจากลูกหลานอู่ทอง ให้เห็นคุณค่าและรู้สึกภูมิใจ นำมาซึ่งความรักและหวงแหนในสิ่งที่มีคุณค่าในชุมชนตนเองผ่านการฝึกฝนวิธีการทำ หัวโตกลองยาวของเด็กๆ

“โรงเรียนสอนวิธีการทำหัวโตครับ ผมกับเพื่อนๆ ฝึกทำ ตอนนี้ทำหัวโตแบบหัวเด็กโบราณได้แล้วครับ” อชิ ด.ช.อชิรวัชร์ มนตรี บรรจงแปะกระดาษลงบนแบบหัวโตด้วยความตั้งใจ

“หัวโตกลองยาว” การละเล่นพื้นบ้านเอกลักษณ์คู่ถิ่นอู่ทอง ในงานประเพณีสำคัญต่างๆ ทั้งสงกรานต์ งานบุญ งานกฐิน หรือแห่นาค ก็มักจะมีการละเล่นหัวโตร่วมขบวนแห่ไปพร้อมกับเสียงกลองยาวที่ตีคู่จังหวะเพื่อสร้างสีสันสนุกสนาน กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมในชุมชนภาคกลาง

ยุคสมัยเปลี่ยนไป ความนิยมการละเล่น หัวโตกลองยาวก็เปลี่ยนไปเช่นกัน น่ายินดีที่วันนี้ลูกหลานอู่ทองยังคงสืบทอดการละเล่นหัวโตกลองยาวด้วยความ ภาคภูมิ
2
“ครูจะให้ออกแบบหัวโตของตัวเองครับ บางคนก็ออกแบบจากตัวการ์ตูนที่ชื่นชอบ หรือไม่ก็สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ได้เลยครับ สมัยก่อนชาวบ้านนิยมทำเป็นหัวคนโบราณหรือหัวเด็ก ตอนนี้หัวโตที่โรงเรียนผมมีหลายรูปแบบมากครับ ทั้งเด็กโบราณ การ์ตูน และตัวตลก ผมอยากทำแบบตัวการ์ตูนครับ เป็นตัวการ์ตูนที่ผมคิดเอง”

เด็กๆ รู้จักบ้านตัวเอง นั่นเพราะคนในชุมชนเห็นคุณค่าและพยายามรักษาไว้ ส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ ห้องเรียนศิลปะจึงเป็นช่วงเวลาที่เด็กๆ ได้สร้างสรรค์ และฝึกฝนวิธีการทำหัวโตกลองยาวด้วยตัวเอง เด็กๆ แต่ละคนมีจินตนาการออกแบบหัวโตออกมาได้สวยงาม ได้เห็นพลังความคิด ความสร้างสรรค์ของเด็กๆ ที่แสดงออกผ่านงานศิลปะ เด็กๆ รู้ดีว่า “หัวโตกลองยาว” เป็นการละเล่นที่สนุกสนานและควรค่าแก่การอนุรักษ์

“เราอยู่อู่ทองก็ต้องช่วยกันดูแลและรักษาครับ ตอนนี้ผมรู้วิธีการทำหัวโตมากขึ้น อยากจะทำเอาไว้เล่นเองที่บ้าน ชอบและภูมิใจครับ” อชิกล่าวทิ้งท้าย

การละเล่นหัวโตกลองยาวของอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี กลายเป็นอีกหนึ่งเทศกาลที่จะช่วยอนุรักษ์ประเพณีการละเล่นพื้นบ้านให้กลับมาเป็นที่นิยมและเป็นมรดกทางวัฒนธรรมไทยสืบไป สร้างรายได้ให้ชาวบ้าน นอกเหนือจากรายได้คือความภูมิใจที่ช่วยสืบสานภูมิปัญญาโดยลูกหลานชาวอู่ทอง

ติดตามให้กำลังใจเด็กๆ อู่ทอง สืบทอดการละเล่นพื้นบ้าน ใน ทุ่งแสงตะวัน ตอน หัวโตอู่ทอง วันเสาร์ที่ 17 ธันวาคม เวลา 06.25 น. ทางช่อง 3 ช่อง 33 และช่อง 3 แฟมิลี่ ช่อง 13 ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้ทาง www.payai.com หรือเฟซบุ๊กทุ่งแสงตะวัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน