“กาญจนบุรี” เบิก “ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี” สนุกสนานแบบเก๋ไก๋ ตื่นตา เพลินใจ ไปกับวิถีชุมชน

ได้ยินชื่อเสียงมาเนิ่นนานว่าจังหวัด “กาญจนบุรี” มีสถานที่ท่องเที่ยวให้ต้องไปอยู่หลายแห่ง แต่เท่าที่ทราบใครๆ ที่มาเมืองกาญจน์ก็จะมาสัมผัสกับบรรยากาศชิวๆ บนสายน้ำแควใหญ่และแควน้อยด้วยการลอยล่องไปกับแพพัก รวมทั้งยังไปตามแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ น้ำตก ภูเขา ป่าไม้ ที่ยังคงความสมบูรณ์สวยงาม และที่ขาดไม่ได้ก็คือสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์อย่างสะพานข้ามแม่น้ำแคว ซึ่งแต่ละคนมักใช้เป็นจุดอ้างอิงของการมาถึงถิ่นนี้

แต่นับจากนี้ มุมมองของการมาเที่ยวเมืองกาญจน์จะเปลี่ยนไป เมื่อ “สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดกาญจนบุรี” ได้จัดกิจกรรม “ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี” ที่ได้ดึงจุดเด่นด้านต่างๆ ของแต่ละชุมชน ไม่ว่าเป็นธรรมชาติที่ยังคงความสมบูรณ์สวยงาม สถานที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ ที่ยังไม่ค่อยมีใครได้มาเห็น วิถีชีวิตดังเดิมที่เต็มไปด้วยภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น รวมถึงความหลากหลายของชาติพันธุ์ที่ได้รังสรรค์ชีวิตความเป็นอยู่ที่น่าสนใจ ไม่ว่ารูปแบบของบ้านเรือน การแต่งกาย ขนมธรรมเนียมประเพณี ตลอดจนเรื่องของงอาหารการกิน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเสน่ห์ที่ชวนให้หลงใหล หากได้มาสัมผัสแล้วจะตกหลุมรักอย่างแน่นอน

โดยได้นำร่อง 4 เส้นทาง ประกอบด้วย เส้นทางที่ 1 อ.เมือง-ด่านมะขามเตี้ย- ท่ามะกา- ท่าม่วง เส้นทางที่ 2. หนองปรือ-ศรีสวัสดิ์ เส้นทางที่ 3. พนมทวน-ห้วยกระเจา- เลาขวัญ-บ่อพลอย และเส้นทางที่ 4.ไทรโยค- ทองผาภูมิ-สังขละบุรี ซึ่งแต่ละเส้นทางจะได้ทราบถึงความเป็นมาของแต่ละชุมชนและที่มาของชื่อ แค่นี้ก็มีความน่าสนใจไม่น้อยแล้ว อย่าง “บ้านเขานางสางหัว” อำเภอเลาขวัญ ที่ชื่อฟังดูน่ากลั๊วน่ากลัว แต่แท้ที่จริงแล้วเป็นสิ่งที่แสดงถึงความมั่นคงในความรัก เพราะมีตำนานของหญิงสาวที่นั่งรอคอยคู่รักที่ไปออกรบและไม่มีวันกลับมา ด้วยการนั่งรอพร้อมกับการสางผมบริเวณเชิงเขา ได้มีผู้คนพบเห็นจนมาเล่นเป็นตำนานสืบมา เป็นต้น

พร้อมกันก็ได้รับชมการแสดงที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่นที่ไม่ค่อยได้ยินหรือเห็นจากที่ไหนมาก่อน อย่างการแสดง “รำตง” ของชาวกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นการรายรำตามจังหวะที่ดูแปลกตา กับเสียงดลตรีที่ไม่ค่อนคุ้นหู แต่ก็ฟักดูสนุกสนานไม่น้อย และการแสดงรำตงของชาวกะเหรี่ยงแต่ละที่ก็ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว อย่างที่บ้านช่องกระเหรี่ยงก็เป็นอีกแบบหนึ่ง หรือชาวกะเหรี่ยงที่บ้านปลายนาสวน ซึ่งเป็นหมู่บ้านเก่าแก่มีอายุไม่ต่ำกว่า 500 ปี ก็มีความแตกต่างจากที่บ้านแม่กะบุงที่เป็นชาวกะเหรี่ยงดั้งเดิมแม้อยู่ห่างกันไม่มากนัก และรำวงของชาวกะเหรี่ยงที่บ้านเวียคาดี้ หมู่บ้านสุดท้ายของไทยก่อนข้ามไปพม่า ก็มีจังหวะสนุกสนานต่างจากชาวกะเหรี่ยงทั้ง 3 หมู่บ้านที่กล่าวมา จึงเป็นความน่าสนใจที่แตกต่างกันออกไปของแต่ละท้องถิ่น

แต่ที่ดูจะเหมือนๆ กัน ก็คือเรื่องของอาหารการกิน ซึ่งชาวกะเหรี่ยงมีขนมที่ขึ้นชื่อคือ “ขนมทางโย๊ะ” หรือ หมี่สิ ที่แปลว่าข้าวบด ซึ่งทำจากข้าวเหนียวนึ่ง งาดำคั่วกับเกลือ โขลกรวมกันจนเป็นเนื้อเดียว รสชาติเค็มมัน ทุกหมู่บ้านของชาวกะเหรี่ยงจะมีขนมขึ้นชื่อนี้ให้ลองลิ้มชิมรสไม่ต่างกัน

รวมทั้งการแต่งการที่เป็นเอกลักษณ์ ตรงนี้ก็ถือเป็นเสน่ห์ให้ชวนลุ่มหลงเช่นกัน จึงเป็นที่มาของสินค้ายอดนิยมของชุมชนเหล่านี้ นั่นก็คือผ้าทอมือ ซึ่งนำมาตัดเย็บเป็นย่าม และเสื้อรูปแบบต่างๆ ซึ่งนอกจากสวยงามเป็นเอกลักษณ์แล้ว ยังมีความทนทาน ใช้ได้นานเลยที่เดียว ที่สำคัญราคาไม่แพงมากด้วย

ความแตกต่างของชาติพันธุ์ในยุคสมัยปัจจุบัน ไม่ได้สร้างความแตกแยกหากแต่เป็นแรงดึงดูดได้ให้มาสัมผัส อย่างที่บ้านวังกะ อำเภอสังขละบุรี วัฒนธรรมชาวมอญที่สะท้อนออกมากับเครื่องแต่งกาย สิ่งปลูกสร้าง และสถาปัตยกรรมตามท้องถิ่น ประกอบกับอัธยาศัยที่ดีของผู้คนในพื้นที่ ได้ดึงดูดผู้คนเข้ามาท่องเที่ยวจำนวนมาก

รวมทั้งเครื่องหัตกรรมและของฝากต่างๆ ก็เป็นอีกสิ่งที่ดึงดูดความน่าสนใจได้ไม่น้อยเลยทีเดียว โดยเฉพาะที่บ้านเจย์สามองค์ ที่นี่ถือเป็นแหล่งรวมรวมสินค้าประเภทเครื่องไม้ที่มีมากมายหลลากหลายรูปแบบ รวมทั้งเครื่องประดับที่ทำมาจากหินและหยก รูปแบบที่สะท้อนความเป็นท้องถิ่นวิถีของผู้คนที่หลากหลายเชื้อชาติทั้งไทย กะเหรี่ยง มอญและพม่า ก็นำมาซึ่งความน่าสนใจให้ผู้คนทั่วไปไม่ต่างกัน

การท่องเที่ยวไปตามชุมชน หลายคนอาจมองว่าไม่น่าสนใจ แต่หากลองมาปรับเปลี่ยนมุมมองใหม่ อย่างที่เรียกว่าเป็นการท่องเที่ยวนวัตวิถี ก็ทำให้เห็นอะไรดีๆ ที่ไม่เคยรู้มาก่อน โดยเฉพาะสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ แม้ไม่เคยได้ยินมาก่อน แต่ก็สร้างความประทับใจสำหรับการมาเยี่ยมเยือนได้ไม่น้อย อย่างวัดถ้ำองจุภายในถ้ำมีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นประติมากรรมเป็นแบบกะเหรี่ยง ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

หรือบ้านตะคร้ำเอน ท่องเที่ยวไหว้พระคู่บ้านคู่เมืองหลวงพ่อดำ วัดตะคร้ำเอน พพร้อมชมโบสถ์ วิหาร และโบราณสถานประวัติศาสตร์พุทธศาสนาที่วัดพระแท่นดงรัง รวมทั้งบ้านโป่งไหมที่ วัดเขาคีรีวงษ์ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานองค์พระพุทธรูปใหญ่ 5 พระองค์ มีความสวยงามมาก ซึ่งเป็นบางส่วนของสถานที่ท่อเที่ยวที่รอให้ทุกคนได้เข้ามาพิสูจน์

สำหรับความสวยงามของธรรมชาติ ถือเป็นจุดเด่นของชุมชนท่องเที่ยวนวัตวิถีของจังหวัดกาญจนบุรีเลยก็ว่าได้ บอกได้เลยว่าทุกหมู่บ้านที่ได้เข้าไปสัมผัส ล้วนมีอากาศที่สนชื่นมาก โดยเฉพาะเส้นทางที่ 2 หนองปรือ-ศรีสวัสดิ์ และเส้นทางที่ 4 ไทรโยค-ทองผาภูมิ-สังขละบุรี ไม่ว่าจะตื่นขึ้นมาที่หมู่บ้านไหน ก็ได้สูดอากาศสดชื่นเต็มปอดไม่ต่างกันเลย

แต่ความน่าสนใจของแต่ละชุมชน อยู่ที่การใช้ต้นทุนเดิมทางธรรมชาติที่มี ไม่ว่าเป็นสถานที่กักเก็บน้ำ ป่าชุนชน ตลอดจนพื้นที่เกษตร โดยนำความรู้ด้านสถาปัตยกรรมท้องถิ่นมาแต่งแต้ม เช่น นำปีกไม้มาทำเป็นบ้านพัก พอแค่หลบแดดฝนได้ ซึ่งกลายเป็นจุดเช็คอินที่มีชื่ออย่า “บ้านห้อยขา” ริมอ่างห้วยกะพร้อย หรือการทำสะพานไม้ไผ่ที่บ้านช่องอ้ายกาง อำเภอไทรโยค ก็ทำให้อ่างเก็บน้ำธรรมดาๆ ดูมีมูลค่าสูงลิบลิ่ว หรือแม้แต่บริเวณที่ว่างป่าวที่หน้าวัดพุตะเคียน บ้านพุองกะ ที่ทำสะพานไม้ไผทอดยาวไปในแปลงข้าวไร่ ก็ดึงดูดความน่าสนใจได้เช่นเดียวกัน

หากย้อนกลับไปเมื่อกว่า 15 ปีที่แล้ว คำว่า OTOP” ดูเหมือนเป็นสิ่งแปลกปลอมของชุมชนส่วนใหญ่ มีเฉพาะบางชุมชุนที่มีความพร้อมเรื่องของผลิภัณฑ์อยู่แล้วที่เข้าใจและพร้อมเดินหน้าได้ในทันที แต่วันนี้ OTOP ได้กลายเป็นสิ่งที่มีคุณค่า นำมาซึ่งรายได้ให้แก่ผู้คนในชุมชนทั่วทั้งประเทศ “ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี” ก็เช่นเดียวกัน อาจเป็นเรื่องใหม่ของหลายชุมชน แต่ถ้าเริ่มทำพร้อมกับจัดการอย่างเป็นระบบ ชุมชนท่องเที่ยวนวัตวิถีนี่แหละ ที่กระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ให้มีความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน