หมีขอ บินตุรง

 

น้าชาติ ประชาชื่น

[email protected]

น้าชาติ หมีขอไม่ใช่หมีใช่ไหมครับ

ณพล

ตอบ ณพล

ตอบว่า หมีขอไม่ใช่หมี เหตุที่เรียกกันว่า หมี อาจจะเพราะมีขนดำยาวหยาบคล้ายหมี และรูปร่างหน้าตาบางส่วนคล้ายคลึงกับหมี “หมีขอ” หรือ บินตุรง หรือ หมีกระรอก (Binturong) ชื่อวิทยาศาสตร์ Arctictis binturong จริงแท้มันเป็นสัตว์จำพวกชะมดและ อีเห็น วงศ์ Viverridae ที่ใหญ่ที่สุดมี 3 ชนิดย่อย ชนิดย่อย A. b. binturong อาศัยอยู่ในเทือกเขาตะนาวศรี ชนิดย่อย A. b. kerkhoveni อาศัยอยู่ในตะวันออกของเกาะสุมาตรา และชนิดย่อย A. b. menglaensis พบในยูนนาน ประเทศจีน

ลักษณะสำคัญ มีหางยาวเป็นพวงคล้ายกระรอก ขนตามลำตัวสีดำ ยาวและหยาบ ยกเว้นขนบริเวณหัวที่อาจจะเป็นสีเทา หูกลม ขอบหูมี สีขาว หลังใบหูมีขนค่อนข้างยาวขึ้นเป็นกระจุก ดวงตาเล็ก เล็บโค้งสั้น ความยาวหัว-ลำตัว 61-96 เซนติเมตร หางยาว 50-84 เซนติเมตร หนัก 9-20 กิโลกรัม หางของหมีขอยาวประมาณ 90 เซนติเมตร

แข็งแรงมาก ใช้ยึดเกี่ยวกิ่งไม้หรือหยิบสิ่งของได้ ปลายหางซีกหนึ่งเปลือยเปล่าไม่มีขนเพื่อประโยชน์ในการยึดจับ นับเป็นสัตว์เพียงชนิดเดียวในโลกเก่าที่มีหางแบบยึดจับ และ หมีขอมีต่อมฝีเย็บขนาดใหญ่ที่ผลิตสารกลิ่นฉุนใช้ในการทำเครื่องหมาย บางคนกล่าวว่ากลิ่นของหมีขอคล้ายกลิ่นข้าวโพดคั่วอบเนย

อาศัยอยู่บนต้นไม้ กลางวันจะอาศัยโพรงไม้เป็นที่หลับนอน เวลาหากินคือตั้งแต่พลบค่ำจนถึงรุ่งสาง โดยจะหากินบนต้นไม้มากกว่าบนพื้นดิน มันเคลื่อนไหวเชื่องช้า อาศัยเพียงลำพัง หรืออยู่เป็นครอบครัวโดยมีลูกเล็กอยู่ร่วม มีตัวเมียเป็นใหญ่ในฝูง

สำหรับอาหารของหมีขอ แม้จะอยู่ในอันดับสัตว์กินเนื้อ แต่มันกินผลไม้เป็นอาหารหลักเช่นเดียวกับอีเห็น และอาจเป็นสัตว์ในกลุ่มนี้ที่กินผลไม้มากที่สุด มีบ้างที่กินซากสัตว์หรือสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดเล็ก ปลา นก แมลง และสัตว์เลื้อยคลาน ไข่ ใบไม้ ยอดอ่อน มันปีนต้นไม้เก่งมาก โดยใช้หางที่ยาวเกาะเกี่ยวกิ่งไม้จากต้นหนึ่งไปยังอีกต้นหนึ่ง ทั้งว่ายน้ำได้ด้วย

หมีขอมีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศ ในฐานะเป็นผู้กระจายเมล็ดพืช และเป็นผู้ควบคุมประชากรสัตว์ฟันแทะ

ชื่อ “หมีขอ” มาจากที่มีรูปร่างลักษณะคล้ายกับหมี ประกอบกับมีพฤติกรรมเมื่อพบปะมนุษย์ แม้จะเป็นสัตว์ป่าแท้ๆ ก็มักไม่เกรงกลัว แต่กลับอยากรู้ อยากเห็น โดยจะยื่นตีนหน้าไปหา เหมือนแบมือขอของ หรือท่าขอมือของสุนัขที่ฝึกแล้ว เมื่อมีใครยื่นอะไรสักอย่างให้ เช่น เงิน ก็จะคว้าแล้ววิ่งหายไปในพงไม้ ส่วนชื่อ “หมีกระรอก” มาจากขนหางที่เป็นพวงฟูเหมือนกระรอก สำหรับภาษาอังกฤษบางทีเรียกหมีขอว่า แคต แบร์-cat bear ขณะที่คำว่า แบร์แคต-bear cat ไม่ได้หมายถึงหมีขอ แต่ หมายถึงแพนดาแดง

เคยมีการกระจายพันธุ์อย่างกว้างขวางในป่าทึบตั้งแต่ภูฏาน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ภาคตะวันตกของพม่า ไทย ลาว กัมพูชา มาเลเซีย เกาะสุมาตรา-เกาะบอร์เนียวในอินโดนีเซีย และเกาะปาลาวันในฟิลิปปินส์ สถานะปัจจุบันเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 และมีชื่ออยู่ในบัญชีชนิดพันธุ์ที่ไม่มั่นคงของสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (ไอยูซีเอ็น) โดยถูกจัดให้อยู่ในสถานะ “ถูกคุกคาม” ในระดับที่มีความเสี่ยงจะสูญพันธุ์จากธรรมชาติ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน