มหัศจรรย์ลานตะบูน ความสุขเด็กท่าระแนะ

 

 

กนกวรรณ อำไพ

ป่าชายเลน ทรัพยากรทางธรรมชาติที่มีคุณค่ามหาศาล เสมือนขุมทองของชุมชนที่มีพื้นที่ติดแถบชายฝั่ง เมื่อป่ายังสมบูรณ์ ของขวัญแสนดีของป่าชายเลน คืออาหาร อาชีพ และเป็นแหล่งเรียนรู้ให้เยาวชนศึกษาไปด้วยในตัว

บ้านท่าระแนะ ตำบลหนองคันทรง อำเภอเมือง จังหวัดตราด ชุมชนตั้งอยู่บริเวณป่่าชายเลนปากแม่น้ำตราด มีหมู่บ้านเล็กๆ แสนน่ารัก อบอวลไปด้วยความสุขจากผู้คนที่ทำมาหากินแบบเกื้อกูลกับระบบนิเวศในชุมชนของตน

เด็กๆ เติบโตมากับวิถีชีวิตธรรมชาติที่สอนให้รู้จักหาอยู่หากิน มีกิจกรรมพิเศษที่เรียกว่าเดินเข้าป่าลงคลองทีไร ไม่มีใครกลับบ้านมือเปล่า

“ในป่าชายเลนบ้าน ท่าระแนะมีหอยพอกเยอะมากครับ เวลาเข้าป่าชายเลนกับเพื่อนๆ ก็เก็บไปกิน สนุกดีครับ” พชรพล น่วมเนียม หรือ ปอย เด็กชายวัย 12 ปี เล่าถึงทรัพยากรธรรมชาติใกล้ตัวอันอุดม นั่นคือ “หอยพอก” หรือ “หอยปก” นั่นเอง


“หอยพอกจะชอบซ่อนตัวอยู่ในดินเลนครับ ต้องมาหาเวลาน้ำทะเลลง ทำให้เรามองเห็น สังเกตได้ง่าย”

นอกจากหอยพอกที่เด็กๆ เล่าว่ามีในป่าชายเลนทุกแห่งในหมู่บ้านแล้ว เด็กชายปอยยังบอกอีกว่า หอยและสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ ก็มีให้เห็นอีก เช่น หอยจุ๊บแจง ปูแสม และปูดำ แต่ที่เด็กๆ โปรดปรานเวลาได้มาเที่ยวเล่นในป่าชายเลนกลับไม่ใช่สัตว์น้ำ แต่เป็นสถานที่สุดอันซีนในหมู่บ้านที่เรียกกันว่า “มหัศจรรย์ ลานตะบูน”

“ลานตะบูนของเรานะครับ เป็นป่ามหัศจรรย์ ก็คือเป็นรากของต้นตะบูนที่สานกันเป็นแพอยู่ข้างบนพื้นดินจนเราสามารถเดินได้ ต้นตะบูนบริเวณนี้นะครับ เป็นต้นไม้เก่าแก่ สังเกตจากลำต้นที่ใหญ่และรากที่เกี่ยวกันได้ขนาดนี้เพราะว่าคนในชุมชนไม่ตัดมัน เรารักษามันครับ”

เมื่อน้ำทะเลลดปรากฏภาพรากไม้ขนาดเล็กใหญ่เกี่ยวรัดสลับซับซ้อนแผ่กระจายรอบทิศทาง เป็นความสวยงามที่ธรรมชาติมอบให้คนบ้านท่าระแนะ ตอบแทนที่ช่วยกันรักษาดูแล

เด็กหญิงแอร์ จิรภัทร์ สิริสัมพันธ์นาวา ฉายแววตาเปี่ยมสุขเมื่อได้บอกเล่าเรื่องราวของต้นตะบูนไม้ชายเลนที่คุ้นเคย

“รากของตะบูนจะช่วยยึดดิน แล้วก็เป็นที่อยู่อาศัยของปูค่ะ ลูกของตะบูนจะคล้ายๆ กับลูกส้มโอค่ะ พวกหนูจะเก็บมาเล่นเป็นโบว์ลิ่งกลิ้งๆ บนแผ่นไม้ บางทีก็ผ่าเอาเมล็ดข้างใน แล้วช่วยต่อกลับเข้าไปใหม่แบบต่อจิ๊กซอว์ เปลือกของลูกตะบูนที่มี สีน้ำตาลพวกหนูจะเก็บเอาไปย้อมผ้าค่ะ”

ตะบูน บางท้องถิ่นอาจเรียก เป็นไม้ยืนต้นวงศ์กระท้อน ขึ้นปะปนกับไม้ชายเลนชนิดอื่น อาทิ โกงกาง แสม ลูกตะบูนเมื่อยังอ่อนมีสีเขียว พอเริ่มแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล อมแดง ภายในมีเมล็ดแข็งๆ รวมกัน เป็นพู ในยามแก่จัดเปลือกจะค่อยๆ อ้าออกแล้วร่วงลงสู่พื้นดิน ช่วงเวลานั้นเองที่เด็กๆ และคนบ้านท่าระแนะจะเก็บเปลือกลูกตะบูนนำไปแต่งแต้มสีสันให้ผืนผ้า เป็นกิจกรรมที่มีคนในครอบครัว ผู้ใหญ่ในชุมชนเป็นครู ชวนดู ชวนทำความรู้จัก เปิดมุมมองใหม่ๆ ให้เด็กๆ ได้รู้จักต้นไม้พื้นถิ่น และสนุกกับการมัดผ้า ย้อมผ้าสีธรรมชาติจากไม้ใกล้บ้าน

น้องแอร์บอกว่า “พอได้มาลองย้อมผ้าจากลูกตะบูน หนูก็อยากลองเอาไม้ชายเลนชนิดอื่นๆ มาทดลองย้อมผ้าดูค่ะ อยากรู้ว่าจะให้สีอะไร จะสวยเหมือนสีของลูกตะบูนไหม”

“รู้สึกว่าต้นตะบูนบ้านเรามีประโยชน์มากกว่าที่คิดเยอะเลยครับ ทำให้เราไม่ต้องไปใช้สีที่ทำ มาจากสารเคมี ใช้จากธรรมชาติที่เขาสร้างขึ้นมาให้เรา” ปอยกล่าวทิ้งท้าย

ธรรมชาติรอบตัวสอนเด็กๆ ว่าทุกอย่างบนโลกนี้ล้วนมีคุณค่าในตัวเอง อย่างเช่นต้นไม้ใกล้ตัวใกล้ตามีค่ามากขึ้นเมื่อมีคนมองเห็นคุณค่า รู้จักประโยชน์และนำมาใช้อย่างคุ้มค่า

เด็กบ้านท่าระแนะชวนผจญภัยในลานตะบูน มีเรื่องราวที่ น่าค้นหา รอทุกคนไปค้นพบ เดินตามรอยการเรียนรู้ รู้จักพรรณไม้และเส้นสีจากชายเลนของเด็กๆ เมืองตราดอย่างเต็มอิ่ม วันเสาร์ที่ 20 ต.ค.นี้ ในรายการทุ่งแสงตะวัน ตอน “สีสันลูกตะบูน” ทางช่อง 3 ช่อง 33 เวลา 06.25 น.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน