คอลัมน์ รู้ไปโม้ด

น้าชาติประชาชื่น [email protected]

อยากทราบว่าชาวจีนเชื้อสายแต้จิ๋ว ฮกเกี้ยน ในไทย อพยพมาจากส่วนไหนของประเทศจีน

ขุนทอง

ตอบ ขุนทอง

ข้อมูลจากเว็บไซต์ ไชน่า เรดิโอ อินเตอร์เนชั่นแนล (China Radio International-CRI) หน่วยงานประชาสัมพันธ์ของรัฐบาลจีน ภาคภาษาไทย บันทึกเกี่ยวกับผู้คนเชื้อสายจีนในประเทศไทยไว้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีนมีมายาวนานกว่าหนึ่งพันปี

ชาวจีนเริ่มอพยพเข้ามาพำนักอาศัยในแผ่นดินที่เป็นประเทศไทยปัจจุบันตั้งแต่สมัยสุโขทัย จากบันทึกทางประวัติศาสตร์กล่าวว่า สมัยนั้นจีนได้ส่งคณะทูตมายังราชสำนักแห่งอาณาจักรสุโขทัย ขณะที่ราชสำนักแห่งอาณาจักรสุโขทัยก็ส่งคณะทูตไปเยือนจีนเช่นกัน

สำหรับคนจีนที่อพยพเข้ามาเมืองไทย ครั้งอยู่แผ่นดินจีนมักเป็นชาวบ้านที่อาศัยตามเมืองชายทะเล การเดินทางทางเรือเป็นไปโดยสะดวก ผู้คนส่วนใหญ่ที่เข้ามาจึงมักมาจากมณฑลทางใต้ของแผ่นดินใหญ่ที่ติดทะเล เช่น กวางตุ้ง ไหหลำ ฮกเกี้ยน (ปัจจุบันเรียกชื่อมณฑลฝูเจี้ยน) เป็นต้น

กลุ่มใหญ่อย่างชาวมณฑลกวางตุ้งยังแบ่งออกเป็นหลายกลุ่มตามเมืองและภาษา เช่น กวางโจว แต้จิ๋ว ซัวเถา จีนแคะ คนเหล่านี้ส่วนใหญ่เข้ามาในเมืองไทยแบบ “เสื่อผืนหมอนใบ” หนีภัยธรรมชาติมาบ้าง หนีภัยสงครามบ้าง การทำมาหากิน ฝืดเคืองบ้าง มีพื้นที่ทำกินไม่เพียงพอ หรือครอบครัวมีลูกมาก ฐานะยากจนบ้าง

กล่าวโดยสรุป ชาวจีนที่อพยพมาเมืองไทยมี 5 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ จีนแต้จิ๋ว จีนฮกเกี้ยน จีนแคะ จีนไหหลำ และจีนกวางตุ้ง จีนไหหลำส่วนใหญ่ขึ้นบกบริเวณพื้นที่ทางภาคใต้ของไทย ส่วนจีนฮกเกี้ยนขึ้นบกที่สงขลาแล้วขึ้นเหนือไปพังงา ภูเก็ต หรือลงใต้ไปมลายู ขณะที่จีนแต้จิ๋วกระจายอยู่ทั่วไป เช่น จันทบุรี สงขลา หรือไม่ก็เข้ากรุงเทพฯ

บันทึกประวัติศาสตร์กล่าวว่า ชาวจีนที่เดินทางมาไทยในสมัยอยุธยาส่วนใหญ่เป็นจีนฮกเกี้ยน แต่หลังสมัยอยุธยา กลับเป็นชาวจีนแต้จิ๋วที่อพยพเข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะหลังปี พ.ศ.2310 เนื่องจากกลุ่มจีนแต้จิ๋วเป็นเชื้อสายเดียวกับพระบิดาของสมเด็จพระเจ้าตากสิน ทั้งยังมีบทบาทร่วมสู้รบกอบกู้เอกราช

จีนแต้จิ๋วส่วนใหญ่อพยพมาทางเรือแล้วตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณทิศตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศไทย เช่น ตราด จันทบุรี ชลบุรี ฉะเชิงเทรา รวมทั้งในกรุงเทพฯ ต่อมาภายหลังในศตวรรษที่ 19 จึงขยับขยายออกไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในพื้นที่อื่นๆ เช่น อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก สวรรคโลก

ชาวจีนอพยพเข้ามาทำงานหลากหลาย เป็นกุลี ค้าขาย ทหาร รับราชการ หลายคนเติบโตในหน้าที่การงานเป็นใหญ่เป็นโต ที่เป็นหญิงก็แต่งงานออกเรือนไปกับคนไทย อย่างในสมัยสมเด็จพระเพทราชา แม้จะออกกฎหมายห้ามหญิงไทยมีสามีต่างชาติ แต่ก็ไม่ได้หมายถึงคนจีน

ในสมัยนั้นชาวจีนที่อพยพเข้ามาร่ำลือกันปากต่อปากว่า บ้านเมืองนี้เหมาะแก่การตั้งถิ่นฐานบ้านช่อง ทั้งอาหารการกิน ดินฟ้าอากาศ โอกาสมีงานทำ ทรัพย์ในดินสินในน้ำก็ดีไปหมด และคนไทยใจกว้าง โอบอ้อมอารี ไม่กีดกันคนต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีน ถ้าอดทน อดกลั้น อดออม ขยันขันแข็ง ไม่มีวันอดตาย เสียงร่ำลืออย่างนี้เองที่นำชาวจีนเข้ามากลุ่มแล้วกลุ่มเล่า จนบัดนี้มีชาวจีนโพ้นทะเลหรือชาวไทยเชื้อสายจีนหลายพันตระกูลแซ่

ชาวจีนอพยพในแผ่นดินไทยให้ความสำคัญกับการศึกษาอย่างมาก จากบันทึกทางประวัติศาสตร์ โรงเรียนจีนเอกชนแห่งแรกก่อตั้งขึ้นในสมัยอยุธยา กระทั่ง พ.ศ. 2535 รัฐบาลไทยประกาศว่า ทุกๆ โรงเรียนในประเทศไทยสามารถสอนภาษาจีนได้ เช่นเดียวกับภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน ญี่ปุ่น และภาษาต่างชาติอื่นๆ หลังจากนั้นภาษาจีนกลางก็ได้กลายเป็นวิชาเลือกของหลักสูตรการศึกษาในชั้นประถม มัธยมและอุดมศึกษา

ชาวจีนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นคนขยันขันแข็ง ตั้งใจทำงาน พัฒนาธุรกิจของตนเองให้รุ่งเรือง ส่วนคนไทยเองปฏิบัติต่อชาวจีนอย่างอบอุ่นด้วยน้ำใสใจจริง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน