จากพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช “ให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนา ทำหน้าที่เสมือนเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต หรืออีกนัยหนึ่งเป็นสรุปผลของการพัฒนาที่ประชาชนจะเข้าไปเรียนรู้และปฏิบัติได้”

เพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยด้านการเกษตร บริษัทไทยเบฟ นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่เพื่อดูการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ เมื่อช่วงปลายปี 2559 ที่ผ่านมา

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นหนึ่งในศูนย์ศึกษาการพัฒนา 6 ศูนย์ที่กระจายอยู่ตามภาคต่างๆ ทั่วประเทศ พระบาทสมเด็จพระ ปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานพระราชดำริให้พิจารณาตั้งขึ้นเป็นป่าสงวนแห่งชาติป่าขุนแม่กวง อ.ดอย สะเก็ด จ.เชียงใหม่ ในพื้นที่ 8,500 ไร่ เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2525

โดยมีพระราชประสงค์ให้เป็นศูนย์กลางการศึกษาทดลอง วิจัย เพื่อหารูปแบบการพัฒนาต่างๆ ในบริเวณต้นน้ำเหมาะสม และเผยแพร่ให้ราษฎรนำไปปฏิบัติต่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำลำธาร ซึ่งศูนย์ศึกษาพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จะศึกษาการพัฒนาป่าไม้พื้นที่ต้นน้ำลำธารให้ได้ผลอย่างสมบูรณ์เป็นหลัก ต้นทางเป็นการศึกษาพัฒนาด้านป่าไม้ ปลายทางเป็นการศึกษาพัฒนาด้านการประมงตามอ่างเก็บน้ำต่างๆ ผสมกับการศึกษาด้านเกษตรกรรม ด้านปศุสัตว์และโคนม และเกษตรอุตสาหกรรม เพื่อเป็นศูนย์ที่สมบูรณ์แบบก่อให้เกิดประโยชน์ต่อราษฎรที่จะเข้ามาศึกษาแล้วนำไปปฏิบัติอย่างได้ผลต่อไป ดังพระราชดำริให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ทำหน้าที่เสมือน “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต”

นายอดุลย์ มีสุข อายุ 54 ปี นักวิชาการเกษตร ประจำศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ เล่าว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชประสงค์ให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้เป็นศูนย์กลางการศึกษา ทดลอง วิจัย เพื่อหารูปแบบการพัฒนาต่างๆ ในบริเวณต้นน้ำที่เหมาะสม ในพื้นที่ภาคเหนือ และเผยแพร่ให้ราษฎรนำไปปฏิบัติต่อ ทั้งนี้ ต้องสอดคล้องกับภูมิสังคม ขนบธรรมเนียมต่างๆ ด้วย

“34 ปีผ่านมาศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้มีผลการศึกษาที่ประสบความสำเร็จแล้วในหลายๆ ด้าน ทั้งด้านการปลูกพืชหลายๆ ชนิดในสภาพพื้นที่ต่างๆ การเลี้ยงสัตว์ที่ถูกวิธี การประมง ฯลฯ โดยมีการสาธิตไว้ในลักษณะของพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต เกษตรกรและประชาชนสามารถนำไปเป็นความรู้ในการประกอบอาชีพได้

การที่เกษตรกรจะเพาะปลูกให้ได้ผลผลิตมากขึ้นและเลี้ยงตัวเองได้นั้นจำเป็นมากที่จะต้องมีความรู้ในการทำการเกษตร ในหลวง ร.9 ทรงให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการส่งเสริมความรู้ในเรื่องการทำการเกษตรอย่างมีหลักวิชาการ และใช้เทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ ซึ่งจะช่วยให้ราษฎรมีความสามารถในการผลิตเพิ่มมากขึ้น”

นายอดุลย์กล่าวด้วยว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเน้นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีตัวอย่างของความสำเร็จ เผยแพร่ความรู้การทำการเกษตรอย่างมีหลักวิชาการ ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ไปสู่เกษตรกรด้วยวิธีการที่เข้าใจง่ายและนำไปปฏิบัติได้จริง เป็นการส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตร เช่น โครงการเกี่ยวกับปลาหมอเทศ ปลานิล นาข้าวทดลอง ข้าวไร่ การผลิตก๊าซชีวภาพ ปุ๋ยอินทรีย์ โรงโคนม ศูนย์รวมนม เนยแข็ง น้ำผลไม้ โครงการขจัดน้ำเสียโดยปลูกผักตบชวา สวนพืชสมุนไพร ฯลฯ อยากให้คนไทยที่สนใจมารับความรู้ไปใช้ประโยชน์สมดังพระราชปณิธานแห่งองค์พระมหากษัตริย์นักพัฒนาผู้ยิ่งใหญ่

นายอดุลย์เล่าให้ฟังถึงพื้นที่ อ.ดอยสะเก็ด ก่อนการฟื้นฟูว่า แรกเริ่มพื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่แอ่งกระทะ เมื่อฝนตกน้ำก็จะท่วม 18 หมู่บ้านโดยรอบ แต่ตอนนี้เปลี่ยนไปหลังจากได้รับการฟื้นฟูป่าจากแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อป่าสมบูรณ์สิ่งที่ตามมาคือฝนตกตามฤดูกาล เกษตรกรทำการเกษตรได้

“พระองค์ทรงเป็นสุดยอดของการเกษตร ทรงเป็นต้นแบบที่ดีที่สุดให้เกษตรกร” นายอดุลย์กล่าว

ศิริรันต์ สิวราวุฒิ รายงาน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน