(แปลจาก Hideo Kojima s Love Letter to La La Land เผยแพร่ในเซ็กชั่น glixel ของเว็บไซต์ Rolling Stone เมื่อ 19 ม.ค.)

ที่มา Thaigamewiki

บทความโดย ฮิเดโอะ โคจิมะ (ผู้ให้กำเนิดเกมเมทัลเกียร์โซลิด)

“พวกเราเป็นใคร? และฮอลลีวูดคืออะไรกันนะ? ก็แค่เป็นแหล่งรวมคนหลายคนจากหลายที่แค่นั้นเอง” คำกล่าวนี้มาจากนักแสดงหญิงชื่อ Meryl Streep ภายหลังจากที่เธอรับรางวัล Cecil B. DeMille ในงานลูกโลกทองคำ (Golden Globe Awards) ครั้งที่ 74 อันแสดงถึงความสำคัญและพลังอำนาจของศิลปะ ซึ่งก็คือพลังของภาพยนตร์ในอันที่จะต่อกรกับความรุนแรงในโลกแห่งความเป็นจริง “ฮอลลีวูดน่ะมีแต่คนนอกและคนต่างชาติเต็มไปหมด” เธอกล่าวเช่นนั้น “และถ้าเราไล่พวกเขาออกไปจนหมด พวกคุณก็จะไม่มีอะไรเหลือให้ดูกันเลยนอกจากฟุตบอลและการแข่งศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสาน ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่ศิลปะอยู่ดีนั่นล่ะ”

แต่แล้วพลังของภาพยนตร์นั่นส่งผลอะไรกับเราบ้างล่ะ? ความฝันนั้นทรงพลังแค่ไหน? ผมคิดว่าผมค้นพบคำตอบใน La La Land

ภาพยนตร์เรื่องนี้เปิดฉากด้วยบทเพลงอันเปี่ยมชีวิตชีวาที่ปลุกความอลหม่านของทางหลวง LA และเพลงอันรื่นเริงพร้อมสีสันอันสดใสก็เป็นดั่งมนต์สะกดที่ตรึงให้ผมไม่ละสายตา ฉากอันจัดจ้านและฟุ้งเฟ้อเช่นนี้ เป็นเสมือนสิ่งที่ย้ำเตือนอันสุดทรงพลังให้ระลึกถึงยุคทองของภาพยนตร์เพลงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เช่น An American in Paris, Singing in the Rain หรือ The Band Wagon

ภาพยนตร์ฮอลลีวูดยุคใหม่นี้น้อยมากที่จะใส่องค์ประกอบฉากอันเปล่งประกายเช่นนี้ ซึ่งฉากเหล่านี้ก็ทำให้ผู้ชมรู้ได้ทันทีว่านี่ไม่ใช่ Los Angeles ที่เราคุ้นเคย แต่เป็นแดนแห่งความฝันที่ซึ่งจินตนาการของภาพยนตร์และชีวิตในฝันของอเมริกันชนอยู่ร่วมกันอย่างผาสุก และที่นี่เองที่นักเปียโนแจ๊สผู้มุ่งมั่น (นำแสดงโดย Ryan Gosling) และนักแสดงหญิงผู้เปี่ยมความหวัง (นำแสดงโดย Emma Stone) ได้พานพบกัน ทั้งคู่ตกหลุมรักซึ่งกันและกันและไล่ตามความฝันของตนร่วมกัน มันคือเรื่องราวสุดคลาสสิคที่แสนจะทั้งหวานและขมพร้อมกับทำให้จิตใจพองโตซึ่งผมคิดว่าใครก็ต่างรู้สึกคุ้นเคย

ภาพประดุจความฝันของ LA ที่ปรากฏในภาพยนตร์นั้น ถูกนำเสนอออกมาในรูปแบบของฤดูที่แตกต่างกันไป 4 ฤดู และเมื่อกาลเวลาผ่านไปคู่รักทั้งสองก็ยิ่งใกล้ชิดกันมากขึ้น ต่างต้องเผชิญความลำบากของชีวิต รวมถึงมุ่งหน้าใกล้ความฝันของตนเข้าไปทุกขณะ แต่เมื่อพวกเขายิ่งเข้าใกล้ความฝันเพียงใด สีสันจัดจ้านของโลกในจินตนาการก็ค่อยๆ ซีดจางเลือนหายไป และเมื่อความฝันผันกลายมาเป็นความจริง จุดนี้เองที่ LA ในความเป็นจริงก็คืบคลานเข้ามา สีสันที่เลือนหายไปของโลกนี่เองที่สื่อให้เรารู้ว่าความฝันจะไม่อาจเป็นความจริงขึ้นมาได้หากไม่มีการเสียสละสิ่งใดไป แต่แล้วสิ่งที่หลงเหลืออยู่คือสิ่งใดล่ะ? เหลือเพียงความเป็นจริงอันไร้พิษภัยกระนั้นหรือ? ผมไม่คิดเช่นนั้นและผมคิดว่านั่นล่ะคือสาส์นที่ภาพยนตร์เรื่องนี้จะสื่อ

การที่ได้เห็นทั้งสองเดินไปบนเส้นทางชีวิตในภาพยนตร์นี้จะทำให้ผู้ชมตระหนักได้ว่าแท้จริงแล้วที่นี่หาใช่ดินแดนแห่งความฝันไม่ ในตอนจบเราจะเห็นตัวละครของ Emma Stone นั่งรถที่แล่นออกจากทางหลวงและมุ่งหน้ากลับเข้าไปยัง LA ปล่อยให้ผู้ชมต้องฉงนว่าจะมีสิ่งใดรอคอยเธออยู่ที่นั่น

ในด้านบทเพลงของภาพยนตร์เรื่องนี้ ผมคิดว่ามันคือองค์รวมของความฝันแห่งฮอลลีวูดโดยแท้ และเป็นความฝันที่เริ่มเลือนหายไปในช่วงปลาย 1960s ในตอนนั้นอเมริกากำลังติดหล่มอยู่กับสงครามเวียดนาม และบรรดาโรงภาพยนตร์ดั้งเดิมทั้งหลายต่างก็ต้องหลีกทางให้กับฮอลลีวูดที่มาใหม่ แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ก็หาใช่จะเป็นจุดจบของภาพยนตร์แต่อย่างใด แม้ว่าภาพยนตร์เพลงจะแทบเรียกได้ว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว แต่ภาพยนตร์ก็นำเสนอความฝันใหม่ให้พวกเราเห็นแทน หากว่า La La Land เป็นเพียงการคืนชีพให้กับแนวภาพยนตร์ในช่วงยุคทองของฮอลลีวูดล่ะก็ ผมคงจะมองผ่านเลยไป แต่สิ่งที่เหนี่ยวรั้งผมไว้ก็เพราะมันนำเสนอเส้นทางแห่งความฝันและการฝ่าฟันผ่าน LA แห่งความเป็นจริงก่อนที่จะมุ่งหน้าออกไปตามหาความฝันครั้งใหม่

La La Land ได้แสดงให้เราเห็นทั้งด้านหวานและขมขื่นของทั้งการสร้างและการรับชมภาพยนตร์ในฐานะที่เป็นผู้อาศัยอยู่ในโลกยุคปัจจุบัน รวมถึงด้านหวานและขมขื่นของการมีความฝันและการทำฝันให้เป็นจริง นั่นแหละมันจึงทำให้ผู้รับชมเกิดความรู้สึกอยากดูซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันคือเรื่องราวความฝันกลางวันอย่างไม่ย่อท้อที่มีเพียงภาพยนตร์เท่านั้นที่จะสื่อสารสิ่งเหล่านั้นออกมาได้

บทความนี้แปลจากภาษาอังกฤษซึ่งถอดความมาจากภาษาญี่ปุ่นอีกทอดหนึ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน