วันชาติไทย : รู้ไปโม้ด โดย น้าชาติ ประชาชื่น

วันชาติไทย – น้าชาติ เรียนถามว่า วันชาติไทย มีความเป็นมาอย่างไร จำได้ว่าเป็นวันที่ 24 มิถุนายน

นันทมาลี

ตอบ นันทมาลี

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร, วันพ่อแห่งชาติ และวันชาติ และคณะรัฐมนตรีมีมติให้เป็นวันหยุดราชการ

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560 สำนักนายกรัฐมนตรีได้ออกประกาศเรื่อง กำหนดวันสำคัญของชาติไทย มีใจความสำคัญว่า กำหนดให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันสำคัญของชาติไทย ดังนี้ 1.เป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร 2.เป็นวันชาติ 3.เป็นวันพ่อแห่งชาติ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2560 เป็นต้นไป พล..ประยุทธ์ จันทร์โอชา รับสนองพระราชโองการ

จากประกาศของสำนักนายกรัฐมนตรี ทำให้วันที่ 5 ธันวาคมของชาวไทยเป็นวันสำคัญรวมแล้วเป็น 3 โอกาส

ทั้งนี้ ที่เคยกำหนดวันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันชาติสืบเนื่องจากเป็นวาระ อันเป็นวันที่คณะราษฎรปฏิวัติสยามในพ..2475 โดยประกาศใช้ตั้งแต่ ..2481 และเริ่มงานฉลองในปี ..2482 กระทั่ง ..2503 ก็เปลี่ยนไปเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์ ไทย ตามอย่างประเทศราชาธิปไตยอื่นๆ ปัจจุบันตรงกับวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี

ทั้งนี้ ย้อนไปวันที่ 18 กรกฎาคม 2481 รัฐบาลพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (ยศขณะนั้น) ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องวันชาติ ความว่า

ด้วยคณะรัฐมนตรีประชุมปรึกษาและลงมติว่า วันที่ 24 มิถุนายน ย่อมถือว่าเป็นวันชาติ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ด้วยเหตุ ที่ว่า การปฏิวัติสยามจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เกิดขึ้นโดยคณะราษฎร ในวันและเดือน ดังกล่าว เมื่อปี ..2475 คณะรัฐมนตรีจึงกำหนดไว้เพื่อเป็นที่ระลึกถึงเหตุการณ์ครั้งนั้น

โอกาสนั้น ในปี 2483 มนตรี ตราโมท ได้ประพันธ์เพลงประจำวันชาติของไทย โดยให้ชื่อเพลงว่าวันชาติ 24 มิถุนายนขึ้นด้วย

เวลาผ่านมา 22 ปี ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม ..2503 รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้ถือวันพระราชสมภพเป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทย ความว่า

ด้วยคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นว่า ตามที่ได้กำหนดให้มีการเฉลิมฉลองวันชาติไทยในวันที่ 24 มิถุนายน นั้น ได้ปรากฏในภายหลังว่ามีข้อที่ไม่เหมาะสมหลายประการ ในด้านประชาชนและหนังสือพิมพ์ก็ได้เสนอแนะให้พิจารณาในเรื่องนี้หลายครั้งหลายคราว คณะรัฐมนตรีจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นพิจารณา โดยมี พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

คณะกรรมการนี้ได้พิจารณาแล้วเสนอความเห็นว่า ประเทศต่างๆ ได้เลือกถือวันใดวันหนึ่งที่มีความสำคัญเกี่ยวเนื่องกับชนในชาติต่างๆ กัน โดยถือเอาวันประกาศเอกราช วันอิสรภาพ วันตั้งถิ่นฐาน วันสาธารณรัฐ วันสถาปนาพระราชวงศ์ บ้าง ซึ่งไม่เหมือนกัน แต่ประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของชาติโดยทั่วไปนั้นได้ถือเอาวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติ เช่น ประเทศอังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก สวีเดน ญี่ปุ่น ฯลฯ เป็นต้น แม้ประเทศไทยเราเองก็ได้ถือเอาวันพระราชสมภพเป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทยมาแล้ว เพิ่งจะมากำหนดเอาวันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันชาติเพิ่มขึ้นอีกวันหนึ่งในระยะหลังนี้เอง

คณะกรรมการจึงมีความเห็นว่า เพื่อให้เป็นไปตามขนบ ประเพณีของประเทศที่พระมหากษัตริย์เป็นประมุข และเป็น การสมัครสมานสามัคคีรวมจิตใจของบุคคลในชาติโดยทั่วกัน จึงสมควรจะถือเอาวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์เป็น วันเฉลิมฉลองของชาติไทยต่อไป โดยยกเลิกวันชาติในวันที่ 24 มิถุนายน เสีย คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบด้วย จึงได้ลงมติให้ยกเลิกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2481 เรื่อง วันชาติ นั้นเสีย และให้ถือเอาวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทยด้วยต่อไปตั้งแต่บัดนี้

ทั้งนี้ วันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาล ที่ 9 คือวันที่ 5 ธันวาคม .. 2470 ดังนั้น วันชาติจึงตรงกับวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี ตามประกาศเมื่อปี 2503 และ 2560 ดังกล่าว

[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน