สะเดา : รู้ไปโม้ด โดยน้าชาติ ประชาชื่น

สะเดา

สะเดา – ขอถามน้าชาติว่า สะเดา ขมปี๋มีประโยชน์อย่างไร

แก้วใส

ตอบ แก้วใส

สะเดา ชื่อวิทยาศาสตร์ Azadirachta indica A. Juss. วงศ์กระท้อน Meliaceae ชื่ออื่นๆ สะเดา สะเดาบ้าน (ภาคกลาง), สะเลียม (ภาคเหนือ), เดา กระเดา กะเดา (ภาคใต้), จะดัง จะตัง (ส่วย), ผักสะเลม (ไทลื้อ), ลำต๋าว (ลั้วะ), สะเรียม (ขมุ), ตะหม่าเหมาะ (กะเหรี่ยงแดง), ควินิน (ทั่วไป), สะเดาอินเดีย (กรุงเทพฯ) พบขึ้นทั่วไปตามป่าแล้งในอินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย พม่า ปากีสถาน ศรีลังกา และไทย

สะเดา

จัดเป็นพันธุ์ไม้ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ความสูงประมาณ 20-25 เมตร เนื้อไม้แข็งแรงทนทาน ใบสะเดามีสีเขียวเข้ม เมื่ออ่อนมีสีแดง ใบประกอบขนนกชั้นเดียว ใบย่อยรสขมจัด ขอบใบจักเล็กๆ ส่วนดอกสะเดาออกเป็นช่อ ดอกขนาดเล็กสีขาวหรือ สีเทา กลิ่นหอมอ่อนๆ กลีบดอกมี 5 กลีบแยกจากกัน ลักษณะเป็นรูปช้อนแคบยาวประมาณ 4-6 ม.ม. มีขนนุ่มสั้นขึ้นทั้งสองด้าน ในช่อดอกมีสารจำพวกไกลโคไซด์ Nimbasterin 0.005% และมีน้ำมันหอมระเหยที่มีรสเผ็ดจัดอยู่ 0.5% นอกจากนี้ยังพบว่ามีสาร Nimbecetin, Nimbesterol, กรดไขมัน และสารที่มีรสขม

ผลกลมยาวเล็กน้อย เมื่อสุกสีเหลือง ส่วนเมล็ดสะเดามีลักษณะกลมรี ผิวเมล็ดค่อนข้างเรียบหรือแตกเป็นร่องเล็กๆ ตามยาว สีเหลืองซีดหรือเป็นสีน้ำตาล ในน้ำหนัก 1 กิโลกรัมมีเมล็ดประมาณ 4,000 เมล็ด ในเมล็ดจะมีน้ำมันอยู่ประมาณ 45% มีน้ำมันขม Margosic acid 45% หรือเรียกว่า Nim oil และมีสารขม Nimbin

เกี่ยวกับสรรพคุณของสะเดา นำคำตอบมาจากเว็บไซต์คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ข้อมูลของกรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุข เผยว่า สะเดาเป็น ผักสมุนไพรพื้นบ้านที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ โปรตีน แร่ธาตุและวิตามินที่จำเป็นต่อร่างกาย มีสารต้านอนุมูลอิสระช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย

สรรพคุณทางยาของสะเดา 1.ดีท็อกซ์สารพิษตกค้างในร่างกาย ใบสะเดาเมื่อนำมาต้มในน้ำร้อนใช้จิบอย่างน้อยวันละครั้ง ล้างพิษในกระแสเลือด กระตุ้นให้เลือดลมไหลเวียนดีขึ้น 2.รักษาโรคผิวหนัง สารเกดูนิน (Gedunin) และนิมโบลิดี (Nimbolide) ในใบและเมล็ดมีประสิทธิภาพสูงในการออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อรา แบคทีเรียและเชื้อไวรัส ไม่ว่าจะเป็นเชื้อราที่เท้า เล็บ กลาก-เกลื้อน หิด เริม แผลจากโรคสะเก็ดเงิน (เชื้อแบคทีเรีย) หัด ลมพิษ ผดผื่นคัน หูด และอีสุกอีใส 3.แก้ไข้มาลาเรีย สารเคมีกลุ่มลิโมนอยด์ (Limonoids) ได้แก่ สารเกดูนิน และนิมโบลิดี ในใบและเมล็ดสะเดา สามารถยับยั้งเชื้อฟัลซิปารัม (P.Falciparum) ซึ่งเป็นเชื้อไข้มาลาเรียดื้อยาชนิดหนึ่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4.รักษาโรคไขข้อ ขอบใบสะเดา เมล็ดสะเดา และเปลือกต้น เป็นส่วนที่นำมาใช้เป็นยารักษาโรคไขข้อได้ ช่วยลดอาการปวด บวมในข้อ โดยอาจนำมาสกัดเป็นน้ำมันใช้ทาบริเวณที่มีอาการปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ และอาการปวดหลังช่วงล่าง หรือนำใบมาต้มเป็นน้ำดื่มเพื่อรักษาอาการของโรครูมาตอยด์ โรคเกาต์ โรคกระดูกพรุน

5.ช่วยย่อยอาหาร ใบสะเดานำมาทำเป็นเมนูเรียกน้ำย่อยได้ เป็นการกระตุ้นให้ร่างกายผลิตน้ำดี ช่วยให้กระเพาะย่อยอาหารได้ดีขึ้น อีกทั้งน้ำดีที่ถูกกระตุ้นสร้างออกมานั้นจะช่วยย่อยอาหารประเภทไขมันได้ดีขึ้นด้วย 6.บำรุงสุขภาพช่องปาก บำรุงเหงือกและฟัน นิยมนำมา สกัดเป็นส่วนผสมในยาสีฟันทั่วไป ช่วยรักษาโรครำมะนาด โรคเลือดออกตามไรฟัน โรคเหงือก และลดอาการติดเชื้อแบคทีเรียในช่องปาก 7.ลดความเสี่ยงการเกิดเนื้องอก และมะเร็ง มีผลวิจัยบางชิ้นเผยว่า สารพอลิแซ็กคาไรด์ (Polysaccharides) และ สารลิโมนอยด์ (Limonoids) ที่พบในเปลือก ใบ และผลสะเดา มีคุณสมบัติช่วยลดความเสี่ยงการเกิดเนื้องอกและมะเร็ง 8.คุมกำเนิด ใช้น้ำมันสะเดาเพื่อคุมกำเนิดในผู้หญิงและผู้ชาย โดยใช้วิธีต่างกัน ผู้หญิงจะใช้น้ำมันสะเดาชุบสำลีทาบริเวณปากช่องคลอด ส่วนผู้ชายจะใช้ฉีดน้ำมันสะเดาบริเวณท่อนำอสุจิ

9.สะเดาช่วยบำรุงกระดูกและข้อต่อต่างๆ ในร่างกาย 10.ช่วยรักษาโรคเบาหวาน โดยจะยับยั้งการผลิตอินซูลินได้กว่าร้อยละ 50 และยังช่วยปรับสมดุลความอยากอาหาร 11.ดีท็อกซ์สารพิษในกระแสเลือด ทำให้มีปริมาณเลือดดีหมุนเวียนในร่างกายมากขึ้น 12.ต้านมะเร็งสารพอลิแซ็กคาไรด์ และสารลิโมนอยด์ ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเนื้อร้าย 13.ลดการติดเชื้อราในช่องคลอด 14.บำรุงหัวใจ ผลของต้นสะเดาหากนำมาต้ม ใช้จิบอย่างน้อย วันละครั้ง มีคุณสมบัติช่วยขยายหลอดเลือด ทำให้การไหลเวียนของเลือดเป็นปกติ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน