เลือกตั้งครั้งแรกของไทย : รู้ไปโม้ด

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันพุธที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2476 ในยุคที่ไทยยังคงใช้ชื่อ สยาม นับเป็นเหตุการณ์สำคัญมากสำหรับระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย เป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกของประเทศ และเป็นการเลือกตั้งทางอ้อมครั้งแรกและครั้งเดียวตราบจนปัจจุบัน

ที่มาของการเลือกตั้งครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังที่เหตุการณ์กบฏ บวรเดชยุติลง และในวันที่ 28 ตุลาคม 2476 พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี แถลงต่อรัฐสภาว่ารัฐบาลได้ปราบกบฏเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อบ้านเมืองสงบแล้ว จำต้องมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น

ในขณะนั้นประเทศไทย (สยาม) แบ่งการปกครองเป็นจังหวัด มีทั้งสิ้น 70 จังหวัด ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 สามารถเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ประเภทที่หนึ่ง ได้ทั้งหมด 78 คน โดยส่วนใหญ่จะเลือกผู้แทนฯได้จังหวัดละคน มีบางจังหวัดที่มีผู้แทนฯได้มากกว่าหนึ่งคน เพราะมีประชากรมาก ได้แก่ เชียงใหม่ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม และนครราชสีมา มีผู้แทนฯได้ 2 คน ขณะที่จังหวัดพระนครและจังหวัดอุบลราชธานี มีผู้แทนฯได้ 3 คน ซึ่งขณะนั้นรัฐธรรมนูญกำหนดอัตราประชากร 200,000 คนต่อการมีผู้แทนฯได้หนึ่งคน และบวกรวมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่สอง ที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งขึ้นอีก 78 คน รวมทั้งสิ้นเป็น 156 คน

เลือกตั้งครั้งแรกของไทย : รู้ไปโม้ด

ที่ว่าเป็นการเลือกตั้งทางอ้อม สืบเนื่องจากมีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้กรมการอำเภอดำเนินการเลือกตั้งผู้แทนตำบลขึ้นทั่วประเทศในวันที่ 1 ตุลาคม ถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2476 จากนั้นผู้แทนตำบลที่ราษฎรเลือกตั้งไว้ตำบลละ 1 คน จะไปเลือกผู้แทนราษฎรอีกขั้นหนึ่ง ช่วงเวลาเลือกตั้งทั้ง 2 ขั้นตอน ตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม ถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2476 กินเวลา 45 วัน

ในขณะนั้นมีผู้มีสิทธิออกเสียงอยู่ทั้งหมด 4,278,231 คน มี ผู้ออกไปใช้สิทธิทั้งหมด 1,773,532 คน คิดเป็นร้อยละ 41.45 จังหวัดที่มีผู้ไปใช้สิทธิมากที่สุด คือ จังหวัดเพชรบุรี คิดเป็น ร้อยละ 78.82 และจังหวัดที่มีผู้ออกไปใช้สิทธิน้อยที่สุด คือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน คิดเป็นร้อยละ 17.71

เลือกตั้งครั้งแรกของไทย : รู้ไปโม้ด

คณะราษฎร

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งครั้งแรกนี้ กลายมาเป็นนักการเมืองที่มีชื่อเสียงและมีบทบาทในเวลาต่อมา ได้แก่ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์, นายเลียง ไชยกาล, นายโชติ คุ้มพันธ์ เป็นต้น

หลังการเลือกตั้ง ได้มีการจัดตั้งคณะรัฐบาลขึ้นมาใหม่ โดยเสียงส่วนใหญ่เลือกเอา พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง (เป็นสมัยที่ 2) และถือเป็นคณะรัฐมนตรีคณะที่ 5 ของไทย ซึ่งคณะรัฐมนตรีคณะนี้ได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2477 ด้วยเหตุที่รัฐบาลได้เสนอญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบด้วยความตกลงระหว่างประเทศ เรื่องควบคุมการจำกัดยาง แต่สภาไม่เห็นชอบด้วยกับความตกลงที่รัฐบาลได้ลงนามไปก่อนหน้านั้น นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทั้งคณะจึงกราบถวายบังคมทูลลาออกจากตำแหน่ง

เลือกตั้งครั้งแรกของไทย : รู้ไปโม้ด

พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน)

ทั้งนี้ การเลือกตั้งของประเทศไทย เป็นกระบวนการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อให้ได้มาซึ่งบุคคลเข้าไปทำหน้าที่ในการปกครองประเทศไทย อาทิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทย วุฒิสภาไทย ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าเมืองพัทยา และผู้บริหารท้องถิ่นอื่นๆ ด้วยการให้ประชาชนออกเสียงเลือกบุคคลที่เห็นสมควร

ประเทศไทยมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปมาแล้ว 27 ครั้ง นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2476 เป็นต้นมา โดยครั้งล่าสุดมีขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2554 คือเมื่อ 8 ปีก่อน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน