ฝุ่น PM2.5 (ตอนจบ) : รู้ไปโม้ด

โดย น้าชาติ ประชาชื่น

ฝุ่น PM2.5 (ตอนจบ) : รู้ไปโม้ด – ฉบับวานนี้ (22 ม.ค.) “แดงนิด” ถามว่า ฝุ่น PM2.5 เป็นอย่างไร และประชาชนจะลดฝุ่นอย่างไร เมื่อวานรู้จักฝุ่น PM2.5 หรือฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลเผชิญอยู่ พร้อมสารมลพิษทางอากาศอีก 5 ชนิดแล้ว วันนี้มาดูระดับของคุณภาพอากาศกับผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย โดยข้อมูลจากเว็บไซต์ของกรมควบคุมมลพิษ http://air4thai.pcd.go.th นำเสนอเรื่องดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index: AQI) ไว้ว่า

ดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทยแบ่งเป็น 5 ระดับ คือ ตั้งแต่ 0 ถึง 201 ขึ้นไป แต่ละระดับจะใช้สีเป็นสัญลักษณ์เปรียบเทียบระดับของผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย โดยดัชนีคุณภาพอากาศ 100 จะมีค่าเทียบเท่ามาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศโดยทั่วไป หากดัชนีคุณภาพอากาศมีค่าสูงเกินกว่า 100 แสดงว่าค่าความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศมีค่าเกินมาตรฐานและคุณภาพอากาศในวันนั้นจะเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน

ใช้สีเป็นสัญลักษณ์ ดังนี้ 0-25 สีฟ้า คุณภาพอากาศดีมาก เหมาะสำหรับกิจกรรมกลางแจ้งและการท่องเที่ยว

26-50 สีเขียว คุณภาพอากาศดี สามารถทำกิจกรรมกลางแจ้งและการท่องเที่ยวได้ตามปกติ

51-100 สีเหลือง ปานกลาง ประชาชนทั่วไปสามารถทำกิจกรรมกลางแจ้งได้ตามปกติ ผู้ที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ หากมีอาการเบื้องต้น เช่น ไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง

101-200 สีส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ประชาชนทั่วไปควรเฝ้าระวังสุขภาพ ถ้ามีอาการเบื้องต้น เช่น ไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น ส่วนผู้ที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น ถ้ามีอาการทางสุขภาพ เช่น ไอ หายใจลำบาก ตาอักเสบ แน่นหน้าอก ปวดศีรษะ หัวใจเต้นไม่เป็นปกติ คลื่นไส้ อ่อนเพลีย ควรปรึกษาแพทย์

และ 201 ขึ้นไป สีแดง มีผลกระทบต่อสุขภาพ ทุกคนควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น หากมีอาการทางสุขภาพควรปรึกษาแพทย์

ฝุ่น PM2.5

เกี่ยวกับแนวทางลดฝุ่น มีข้อเสนอจากองค์กรกรีนพีซว่า นอกจากการลดปริมาณรถยนต์ การเพิ่มประสิทธิภาพให้ขนส่งมวลชน และการควบคุมปริมาณการปล่อยมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้า อย่างที่หลายๆ เมืองใหญ่ทั่วโลกได้ลองทำเพื่อขจัดปัญหามลพิษทางอากาศแล้ว การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองใหญ่ยังเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยแก้ไขมลพิษทางอากาศที่กำลังฟุ้งอยู่ทั่วเมืองขณะนี้อีกด้วย

ต้นไม้ช่วยดูดซับฝุ่น จากงานวิจัยโดย TNC หรือ The Natture Conservancy รายงานว่า การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองเป็นประโยชน์กับพวกเราหลายด้าน เพิ่มอากาศบริสุทธิ์ เพิ่มความชุ่มชื้นในบรรยากาศ และยังช่วยดูดซับฝุ่นที่กำลังเป็นปัญหาในเมืองใหญ่ได้ ซึ่งหากมีพื้นที่สีเขียวมากพอก็สามารถลดปริมาณฝุ่นได้เฉลี่ยร้อยละ 7-24 และยังทำให้อากาศที่เราหายใจสะอาดขึ้นอีกด้วย โดยฝุ่นละอองจะลอยไปติดอยู่บนผิวใบไม้ และเมื่อมีฝนตกลงมาฝุ่นที่ติดอยู่บนผิวใบก็จะถูกชะล้างลงดิน งานวิจัยดังกล่าวศึกษาจากตัวอย่างในเมือง 245 เมืองทั่วโลก โดยเปรียบเทียบประสิทธิภาพของวิธีการเพิ่มพื้นที่สีเขียวกับวิธีการอื่นๆ ในการแก้ปัญหามลพิษ โดยต้นไม้ใหญ่เป็นชนิดต้นไม้ที่เหมาะจะเป็นตัวช่วยให้อากาศดีขึ้น

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน