เล่าเรื่องเส้นทางทุเรียน ชวนเที่ยวเมืองจันท์-ตราด

 

เล่าเรื่องเส้นทางทุเรียน ชวนเที่ยวเมืองจันท์-ตราด“ทุเรียน” ผลไม้ชื่อดังยอดฮิตติดอันดับของเมืองไทย ทั้งราคาและความนิยม น่าสังเกตว่าปัจจุบันผู้คนคลั่งไคล้การกินทุเรียนกันอย่างไม่เคยมีมาก่อน เมื่อย้อนหลังไปไม่ถึงสิบปีมานี้ ปัจจุบันกลายเป็นว่าใครไม่กินทุเรียนถือว่าตกเทรนด์ความเก๋ไก๋ไปโดยปริยาย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อโลกไร้พรมแดน ชาวจีนที่กลายเป็นเศรษฐีมีสตางค์ต่างสั่งซื้อทุเรียนจากเมืองไทยไปบริโภคอย่างมโหฬาร ดูได้จากสถิติการจำหน่ายทุเรียนผ่านทางอาลีบาบา เว็บไซต์ขายส่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก

เมื่อรักจะกินทุเรียนก็ต้องเรียนรู้ประวัติกันหน่อย ว่า “ทุเรียน” ผลไม้กลิ่นฉุนชนิดนี้มีความเป็นมาอย่างไร

เริ่มกันตั้งแต่คำว่า “ทุเรียน” มีผู้ค้นคว้าไว้ว่ามาจากภาษามอญว่า “ตูเรน” ขณะที่คนอินโดนีเซีย-มาเลเซีย เรียก “ดูเรน” แล้วพัฒนาเป็นภาษาอังกฤษว่า “ดูเรียน” (Durian) ซึ่งมีแหล่งกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 27 สายพันธุ์ ในจำนวนนี้อยู่ในเกาะบอร์เนียว 19 สายพันธุ์ ในแหลมมลายู 11 สายพันธุ์ และเกาะสุมาตรา 7 สายพันธุ์

สำหรับประเทศไทย หลักฐานจากกรมป่าไม้ระบุว่ามีอยู่ 4 สายพันธุ์ คือ ทุเรียนบ้าน (Durio zibethinus Murr.) ทุเรียนดอน (D. malaccensis Planch. ex Mast.) ทุเรียนนก (D. griffithii Mast. Bakh.) และทุเรียนป่า (D.pinanginan Ridley)

กล่าวกันว่าคนไทยรู้จักกินทุเรียนมาตั้งแต่เมื่อ 300 ปีก่อนแล้ว สันนิษฐานว่ารับมาจากมอญ โดยเข้ามากับกองทัพที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ครั้งยกกองทัพไปตีเมืองมะริดและตะนาวศรี เมื่อขาดเสบียงอาหาร เหล่านายกองจึงออกหาตามที่ต่างๆ และคงพบทุเรียนเข้าจึงนำมารับประทาน พบว่ามีรสชาติดี อร่อย จึงนำเมล็ดกลับมาที่กรุงเทพฯ ด้วย

จากนั้นเริ่มปลูกตามบ้านขุนนางผู้ใหญ่หรือเจ้านายทั้งหลาย กลายเป็นสวนทุเรียนแถวฝั่งธนบุรีเรื่อยไปจนถึงจ.นนทบุรี ต่อมาเมื่อเกิดน้ำท่วมใหญ่ทั้งกรุงเทพฯ และฝั่งธนบุรีถึง 2 ครั้ง ทำให้ต้นทุเรียนเก่าตายไปหมด หาดูหลักฐานไม่ได้

บางหลักฐานเชื่อว่าทุเรียนที่นำมาปลูกในกรุงเทพฯ และธนบุรีสมัยนั้นได้มาจากเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อปลูกได้ผลดีแล้ว จึงแพร่ไปยังจันทบุรี ตราด และทางภาคเหนือ

พระยาแพทย์พงศาวิสุทธาธิบดี (สุ่น สุนทรเวช) กล่าวถึงการปลูกทุเรียนของภาคกลาง ว่าประมาณพ.ศ.2397 มีการทำสวนทุเรียนที่ตำบลบางกร่าง คลองบางกอกน้อยตอนใน แรกๆ นั้นเป็นการขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ก่อนพัฒนามาเป็นการปลูกด้วยกิ่งตอน ทุเรียน 3 สายพันธุ์ที่นำเมล็ดมาเพาะ ได้แก่ อีบาตร (ทุเรียนนนทบุรี) ทองสุก และการะเกด ใช้เมล็ดของทั้ง 3 สายพันธุ์นี้ปลูก ทำให้เกิดทุเรียนลูกผสมขึ้นมากมาย แล้วจึงปรับปรุงสายพันธุ์มาเรื่อยๆ จนเป็นสายพันธุ์ทุเรียนในปัจจุบัน

แม้ว่าทุเรียนจะปลูกได้ในทุกภาคของประเทศไทย แต่แหล่งผลิตทุเรียนที่สำคัญของประเทศ คือ จันทบุรี ตราด ระยอง และปราจีนบุรี

ประเวศ แสงพชร

“ประเวศ แสงพชร” นักวิชาการอิสระด้านการเกษตร กล่าวถึงทุเรียนว่าในช่วง 5 ปีนี้ ยังเป็นพืชที่ทำราคาได้เป็นอย่างดี ซึ่งเวลานี้ประเทศจีนกำลังจับจ้องมองไทยอยู่ว่าจะเป็นอย่างไร และเริ่มมีการนำพันธุ์จากเมืองไทยไปให้ฝั่งลาวและกัมพูชาปลูกแข่ง จำเป็นที่ประเทศไทยต้องศึกษาเรื่องนี้ให้ละเอียดและใส่ใจอย่างมากว่าปีหนึ่งๆ ไทยเราผลิตได้เท่าไร บริโภคเท่าไร และส่งออกเท่าไรส่งไปจีนเท่าไร

“ข้อดีของทุเรียนคือทำราคาได้ดี ในช่วง 5 ปีนี้ถ้าจีนจะไปพัฒนาแข่งกับเรา คิดว่าไทยเรายังนำชัยอยู่ ต้องเข้าใจการปลูกทุเรียน ว่าถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตปริมาณน้ำฝนค่อนข้างดี เพราะฉะนั้นจะปลูกได้ดีที่จันทบุรี ระยอง และภาคใต้หลายๆ จังหวัด ขณะเดียวกันก็มีเกษตรกรไทยที่เก่งๆ พยายามจะนำไปปลูกในถิ่นอื่น อย่างไรก็ตาม ต้องปลูกแถวชายน้ำ เช่น แถว จ.หนองคาย เป็นต้น ซึ่งเป็นผลงานของกรมวิชาการเกษตร และศูนย์วิจัยพืชสวน จ.นครพนม ก็ช่วยอยู่ เพราะฉะนั้นหากพูดถึงด้านวิชาการแล้ว ประเทศไทยเรายังเก่งอยู่และไปได้ดี” อาจารย์ประเวศกล่าว

และบอกผ่านไปยังชาวสวนที่สนใจเรื่องของทุเรียนแบบใหม่ๆ ให้ติดต่อขอข้อมูลจากศูนย์วิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตรได้

อาจารย์ประเวศอธิบายว่าทุเรียนเป็นพืชต้องการน้ำ แต่อย่าให้น้ำขังแฉะ ถ้าน้ำขังในระยะ 2-3 วัน จะเกิดรากเน่า โคนเน่าได้ อย่างไรก็ดี ถือว่าชาวสวนทุเรียนในแถบจันทบุรี ระยอง เก่งมาก จะแก้ปัญหาโดยเซาะร่องระหว่างต้นทุเรียน ให้ร่องลึกประมาณ 1 เมตร กว้างราว 50 เซนติเมตร เพื่อเวลาฝนตก น้ำจะได้ระบายออกไปทางร่องดังกล่าวไม่เกิดน้ำขังทำรากเน่า โคนเน่า

ส่วนทางภาคอีสานแถวจ.บุรีรัมย์ เวลานี้ปลูกได้ผลดี เนื่องจากเป็นดินภูเขาไฟ ซึ่งข้อดีของดินภูเขาไฟคือระบายน้ำได้ดี น้ำ ไม่ขัง และที่สำคัญมีธาตุเหล็กและกำมะถัน ช่วยทำให้กลิ่นทุเรียนดีขึ้น ไม่รุนแรง

“อย่างไรก็ตาม หากอยากกินทุเรียนดีและอร่อย ต้องไปที่จันทบุรี ระยอง หรือแถวภาคตะวันออก เพราะเป็นแหล่งปลูกที่สำคัญรวมถึงมีการพัฒนาพันธุ์หลากหลายด้วย” ผู้เชี่ยวชาญทุเรียนกล่าว

ถามถึงพันธุ์ทุเรียนยอดนิยม อาจารย์ประเวศบอกว่ายังมี หมอนทอง กระดุม กบ และ ก้านยาว เป็นหลักอยู่ ส่วนพันธุ์ใหม่ๆ ที่พัฒนาขึ้นมาก็มีพวงมณี และกระจิบ โดยปีที่ผ่านมาชาวสวนพยายามชูพวงมณีขึ้นมา บอกว่ารสชาติดี เนื้อแน่น ทั้งนี้ คิดว่าขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคนที่กิน ส่วนตัวแล้วยัง เห็นว่าก้านยาวและกระดุมยังเป็นหนึ่งอยู่

“ชาวสวนที่เก่งๆ เขาสามารถปลูกทุเรียนนอกฤดูได้ ทำให้ได้ราคาดีมาก ซึ่งที่จริงแล้วทุเรียนส่วนใหญ่ 70% เป็นการบริโภคภายในประเทศ เราจะส่งออกไปจีนส่วนหนึ่ง แต่ถ้าถามถึงตลาดที่ใหญ่ของไทยเป็นตลาดอินโดนีเซีย ใหญ่และน่าสนใจกว่าจีน เวลานี้ทุเรียนไทยที่ข้ามไปปลูกฝั่งลาวมีให้เห็นแล้ว แต่ถึงอย่างไรรสชาติก็ยังสู้ไทยไม่ได้ คุณภาพก็สู้ยัง ไม่ได้ ชื่อชั้นแล้วหากไปจากประเทศไทย ราคาจะดีและชื่อติดตลาด เพียงแต่การประชาสัมพันธ์ของเรายังดีไม่พอ ยังสู้มาเลเซียไม่ได้” อาจารย์ประเวศทิ้งท้ายให้คิด

แหล่งทุเรียนปลูกที่สำคัญเชิงการค้าจะอยู่ในเขตภาคตะวันออกและภาคใต้ มูลค่าการส่งออกเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลเองได้กำหนดให้ทุเรียนเป็นพืช Product champion ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องรับผิดชอบดูแลการผลิตอย่างครบวงจร รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตให้ได้มาตรฐานเพิ่มขึ้น

รวมถึงส่งเสริมให้ชาวสวนมีความรู้ในการผลิตที่เหมาะสม สามารถเพิ่มปริมาณผลผลิตที่มีคุณภาพแต่มีต้นทุนต่อหน่วย ลดลง ก็จะช่วยชาวสวนทุเรียนลืมตาอ้าปากได้ อีกทั้งยังได้ทุเรียนที่มีคุณภาพเข้าสู่ตลาดด้วย

ผู้สนใจจะไปชวนตะลุยสวน!!! ชิม & ช็อปผลไม้ จันทบุรี-ตราด กับมติชน อคาเดมี ที่เชิญ อ.ประเวศ แสงเพชร เป็นวิทยากร วันที่ 11-12 พฤษภาคม 2562 ราคา 5,900 บาท

กิจกรรมทำอะไร?

วันเสาร์ที่ 11 พ.ค.

ช่วงเช้า ชมสวนส้มโอทับทิมสยาม ของ “ประยุทธ์ พานทอง” พร้อมฟังเทคนิคการปลูก ดูแลให้ได้ผลผลิตที่ดีและมีคุณภาพ ในระดับส่งออก ช่องทางการจำหน่ายรายได้งาม

กลางวันรับประทานอาหาร ร้านครัวคุณแดง ริมคลอง

ช่วงบ่ายเดินทางไปยัง อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี ชม “สวนคุณลูกหมู” หรือศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้า(ศพก.) เขาคิชฌกูฏ รับฟังความรู้เทคนิคต่างๆ ในการดูแลผลผลิตในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นทุเรียน, มังคุด ฯลฯ ทั้งยังให้สอยมังคุดสดๆ จากต้น ในราคาย่อมเยาอีกด้วย

วันอาทิตย์ที่ 12 พ.ค.

เดินทางไปยัง อ.เขาสมิง จ.ตราด เข้าชมความ งดงามของ “วัดบุปผาราม” หรือ “วัดปลายคลอง” วัดเก่าแก่ที่สุดในจ.ตราด สร้างราวรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง ชมจิตรกรรมเก่าแก่ ซึ่งผสมผสานศิลปะจีนภายในพระอุโบสถและวิหารพระพุทธไสยาสน์ ฝีมือช่างท้องถิ่น จากนั้นเข้าชมพิพิธภัณฑ์วัดบุปผาราม แหล่งรวบรวมโบราณวัตถุ อันทรงคุณค่า พระพุทธรูปทองบุเงิน พระพุทธรูปปางต่างๆ รวมทั้งเครื่องถ้วยจีน กราบพระบรมสารีริกธาตุ

จากนั้นเดินทางไป “สวนสละสมโภชน์” ของ “กระจ่าง-สมโภชน์ ตรีวงษ์” ฟังเทคนิคการปลูก, การดูแล และการผสมเกสรของทางสวนจนได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและรักษารสชาติ จนเป็นที่เลื่องลือ ชิมและเลือกซื้อสละพันธุ์สุมาลีที่การันตีรสชาติและคุณภาพ ในราคากิโลกรัมถูกสุดๆ (ราคานี้ขายเฉพาะที่สวนเท่านั้น)

กลางวันรับประทานอาหารบรรยากาศกลางสวนทุเรียน ที่ “สวนไพฑูรย์” ของ “ไพฑูรย์ วานิชศรี” ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเขาสมิงอันเงียบสงบ อิ่มอร่อยกับหลากหลายเมนูทำจากทุเรียน พร้อมบุฟเฟต์ทุเรียนคุณภาพส่งออก การันตีด้วยรางวัลการท่องเที่ยวเชิงเกษตร (Agro Tourism)

ปิดท้ายก่อนกลับบ้าน ด้วยการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผลไม้ต่างๆ ของกลุ่มแม่บ้านเกษตรเขาบายศรี “ร้านป้าแกลบ” แหล่งรวมของดีเมืองจันท์ระดับรางวัลโอท็อป 5 ดาว

ติดต่อสอบถามรายละเอียด หรือสำรองที่นั่งได้ที่ inbox เฟซบุ๊กเพจมติชนอคาเดมี คลิก m.me/Matichon.Academy.Thailand หรือโทร. 0-2954-3977-84 ต่อ 2115, 2116, 2123, 2124 มือถือ : 08-2993-9097, 08-2993-9105 ไลน์ : @matichon-tour คลิก http://line.me/ti/p/%40 matichon-tour

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน