‘อินดา’อวดไอเดียอินดี้ นิสิตคณะสถาปัตย์ จุฬาฯ

คอลัมน์ ไอคิวทะลุฟ้า

‘อินดา’อวดไอเดียอินดี้ – หากใครมีโอกาสเดินผ่านสถานีแอร์พอร์ต เรลลิงก์ มักกะสัน ระหว่างวันที่ 7-11 พ.ค.ที่ผ่านมา จะได้เห็นนิทรรศการขนาดใหญ่จัดเต็มพื้นที่บริเวณชั้น 3 ในชื่องาน “อินดา พาเหรด 2019 (INDA Parade 2019)”

การแสดงผลงานของน้องๆ นิสิต จากหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการออกแบบสถาปัตยกรรม (หลักสูตรนานาชาติ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากทุกชั้นปีมาแสดงผลงานโปรเจ็กต์ของตัวเองสู่สายตาคนภายนอกให้เห็นว่าพวกเขามี “ไอเดีย” และความสามารถที่ “น่าทึ่ง” แค่ไหน!!

‘อินดา’อวดไอเดียอินดี้

เติมรักอธิบายผลงาน

ดร.ปรีชญา สิทธิพันธุ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาชาวิชาการออกแบบสถาปัตยกรรม (หลักสูตรนานาชาติ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (INDA) กล่าวว่า อินดาไม่ได้เป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นให้นิสิตเรียนจบไปแล้วต้องเป็นสถาปนิก แต่มุ่งเน้นให้มีความคิดสร้างสรรค์ที่จะออกแบบสิ่งใหม่ๆ ในระหว่างที่นิสิตเรียนเขาจะได้เรียนรู้หลายๆ อย่าง เพื่อให้เขาค้นพบตัวเองว่าเมื่อเรียนจบออกไปแล้วจะได้ทำงานอย่างที่ถนัดและรักที่จะทำ โดยมีองค์ความรู้ด้านการออกแบบและวิธีคิดสร้างสรรค์ที่พร้อมต่อยอดในงานสายอื่นที่ต้องการ

‘อินดา’อวดไอเดียอินดี้

น.ส.เติมรัก ชัยวัฒน์ นิสิตชั้นปีที่ 1 ซึ่งสนใจด้านการออกแบบสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับดนตรี เล่าว่า สนใจดนตรีแจ๊ซมานานแล้ว อยากออกแบบสิ่งที่เกี่ยวข้องกับดนตรีสะท้อนออกมาให้คนอื่นเห็นภาพในความคิดของเรา จึงกลายเป็นที่มาของผลงานโดยเริ่มจากเราเข้าไปดูงานที่บาร์แจ๊ซแห่งหนึ่งเพื่อหาแรงบันดาลใจในการสร้างผลงาน จนได้เป็นม่านน้ำตกที่สามารถเปลี่ยนสีตามเสียงของตัวโน้ต

‘อินดา’อวดไอเดียอินดี้

ปลื้ม พงษ์พิศาล

“สิ่งที่เราต้องทำคือโปรแกรมในคอมพิวเตอร์ ให้ตัวโน้ตแต่ละตัวแสดงสีตามความคิดความรู้สึกของเรา เมื่อ นักดนตรีบรรเลงเพลง ผู้ฟังไม่เพียงแต่จะได้ยินเสียงที่ไพเราะเท่านั้น แต่จะได้เห็นสีสันของตัวโน้ตปรากฏสู่สายตาอีกด้วย” เติมรักอธิบาย

ด้าน นายปลื้ม พงษ์พิศาล นิสิตชั้นปีที่ 4 เล่าว่า “การเลือกเรียนเฉพาะทางเพื่อเรียนจบแล้วจะต้องทำงานด้านนี้เพียงอย่างเดียวอาจไม่ใช่คำตอบสำหรับผม เพราะอนาคตเราอาจจะไปเจอสิ่งที่ตรงกับความชอบของเรามากกว่า และอาจจะเร็วเกินไปที่เราจะเลือกว่าเราถนัดอะไรมากที่สุด การเรียนที่อินดาจะไม่ได้เน้นว่าเรียนสถาปัตย์แล้วจะต้องจบออกไปเป็นสถาปนิกเพียงอย่างเดียว นิสิตจะได้เรียนได้ฝึกในทุกๆ อย่างที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบ เน้นการคิดสร้างสรรค์ ลงมือทำและแก้ปัญหา วันข้างหน้าถ้าผมได้เจอสายงานที่คิดว่าตรงกับความชอบความถนัดของผมมากที่สุด ก็ยังได้ใช้ความรู้ที่เรียนต่อยอดให้ประสบความสำเร็จได้”

‘อินดา’อวดไอเดียอินดี้

งานอินดา พาเหรด 2019 จึงไม่ได้มีเพียงการแสดง โปรเจ็กต์จบของนิสิตเท่านั้น แต่เป็นงานที่สะท้อนความเป็น อินดาที่มีความอินดี้ เปี่ยมด้วยพลังความคิดสร้างสรรค์ ความสวยงาม และเรื่องราวที่น่าสนใจในทุกผลงานของนิสิตทุกคน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน