มข.วิจัยพัฒนา‘ข้าวไร่’สายพันธุ์เด่น

หวังลูกหลานคืนถิ่นอนุรักษ์ภูมิปัญญา

มข.วิจัยพัฒนา‘ข้าวไร่’สายพันธุ์เด่นข้าวไร่ (Upland rice) คือ ข้าวที่มีการปลูกบนที่ไร่ ที่ดอน หรือที่สูง โดยอาศัยน้ำฝนตามฤดูกาล ปัจจุบันข้าวไร่หลายสายพันธุ์ที่เคยเป็นอาหารสำรองแก่ครัวเรือนกำลังหายไปจากประเทศ เนื่องจากปลูกได้เพียงปีละครั้งและให้ผลผลิตน้อยกว่าข้าวนา

นักวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงเดินหน้าวิจัยและพัฒนาข้าวไร่จากต้นน้ำ สู่ปลายน้ำ ตั้งแต่การคัดเลือกสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ การเสาะหาข้าวสายพันธุ์เด่นที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม ไปจนถึงการสนับสนุนองค์ ความรู้เมล็ดพันธุ์ และเป็นกำลังสำคัญ ในถ่ายทอดขยายการทำงานสู่ชุมชน

มข.วิจัยพัฒนา‘ข้าวไร่’สายพันธุ์เด่น

คณะทำงานนักวิจัยและเกษตรกร

มข.วิจัยพัฒนา‘ข้าวไร่’สายพันธุ์เด่น

ลงแปลงข้าวทำวิจัยให้ความรู้

ดร.สมพงศ์ จันทร์แก้ว อาจารย์สาขาพืชไร่ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) นักวิจัยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) อธิบายถึงการทำวิจัยโครงการการคัดเลือกข้าวไร่ พันธุ์พื้นเมืองที่ทนทานต่อการขาดธาตุฟอสฟอรัสเพื่อใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ ข้าวไร่

ว่า ฟอสฟอรัสเป็นส่วนประกอบสำคัญของสารพันธุกรรม ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโต หากพืชขาดธาตุนี้จะทำให้การเจริญเติบโตไม่ปกติ เติบโตช้า แคระแกร็น การติดดอกออกผลไม่สมบูรณ์

มข.วิจัยพัฒนา‘ข้าวไร่’สายพันธุ์เด่น

ดร.สมพงศ์ จันทร์แก้ว

จากเหตุผลที่กล่าวมาจึงทดสอบความทนทานต่อสภาพการขาดธาตุฟอสฟอรัสของข้าวไร่พื้นเมืองรวมถึงประเมินความสัมพันธ์กับเครื่องหมายโมเลกุลที่เชื่อมโยงกับยีน ที่ทนทานต่อการขาดฟอสฟอรัสกว่า 150 สายพันธุ์

จากสายพันธุ์ข้าวพื้นเมืองหลายร้อยสายพันธุ์ที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิรวัฒน์ สนิทชน หัวหน้าโครงการการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากเชื้อพันธุกรรมข้าวพื้นเมืองจากภาควิชาเดียวกัน ได้เก็บไว้เมื่อกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้ได้สายพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่มีความทนทานต่อการขาดฟอสฟอรัสจำนวน 12 สายพันธุ์ ซึ่งมีคุณลักษณะเด่นแตกต่างกันไป

ดร.สมพงศ์อธิบายว่า การที่ต้องเสาะหาคุณลักษณะเด่นควบคู่ไปกับความทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากข้าวไร่ โดยทั่วไปให้ผลผลิตต่ำเพียง 300-400 กิโลกรัมต่อไร่เท่านั้น แตกต่างจากข้าวนาในภาคอีสานที่มีผลผลิตประมาณ 500-600 กิโลกรัมต่อไร่

มข.วิจัยพัฒนา‘ข้าวไร่’สายพันธุ์เด่น

บรรยากาศการทำวิจัย

มข.วิจัยพัฒนา‘ข้าวไร่’สายพันธุ์เด่น

ตัวอย่างผลิตภัณฑ์

คุณสมบัติพิเศษสำคัญประการแรกที่นำมาทดแทนคือการเป็นข้าวสีเช่น ข้าวพันธุ์ เหนียวดำม้ง (ข้าวเหนียวเมล็ดสีดำจากจังหวัดเพชรบูรณ์) และข้าวพันธุ์เมล็ดฝ้าย (ข้าวเจ้าเมล็ดสีดำจากภาคใต้) ซึ่งมีสารแอนโทไซยานิน ที่มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระสูง นำมาผสมกับข้าวมะลิโกเมนสีแดง และข้าวขาวที่มีความนุ่มกว่า ได้เป็นผลิตภัณฑ์ข้าว 3 สี ดีต่อสุขภาพ รสชาติอร่อย และมีราคาสูง

นอกจากนั้นข้าวไร่สายพันธุ์ต่างๆ ที่ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกยังนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีกหลากหลาย อาทิ เครื่องสำอาง อาหารและขนมเพื่อสุขภาพ เกิดการผลิตและแปรรูปทั้งในชุมชนและระดับอุตสาหกรรม

ตัวอย่างชุมชนที่ได้รับการส่งเสริมให้มีการปลูกและแปรรูปข้าวไร่จากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ คือ ชุมชนบ้านหนองแซง ตำบลหนองแซง อำเภอบ้านแฮด จังหวัดขอนแก่น มีการสนับสนุนให้ปลูกข้าว 2 สายพันธุ์หลัก คือ ข้าวพันธุ์เหนียวดำม้ง และ ข้าวพันธุ์เมล็ดฝ้าย ในช่วงเว้นว่างจากการปลูกอ้อย (ช่วงรื้อตอ)

ซึ่งจะมีพื้นที่หมุนเวียนให้ปลูกได้ในทุกปี ปัจจุบันมีทุนหมุนเวียนในชุมชนสูงถึงหลักล้านบาท สร้างรายได้เสริมจากการปลูกอ้อย และลูกหลานเริ่มคืนถิ่นกลับมาทำงานในชุมชนได้แล้ว

การที่ต้องรักษาพันธุ์ข้าวพื้นเมืองของประเทศไว้ เพราะเป็นพันธุ์ข้าวที่ถูกคัดเลือกมานับร้อยปี หากชูจุดเด่นของข้าวเหล่านั้นไปสู่ตลาดที่เหมาะสม แล้วส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกและแปรรูป จะสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างรายได้สู่ชุมชน ทำให้ลูกหลานกลับคืนถิ่นได้ดร.สมพงศ์กล่าวทิ้งท้าย

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน