ซีรี่ส์ Nier นั้นแตกหน่อออกมาจากซีรี่ส์เกมอย่าง Drakengard (หรือ Drag-On Dragoon) ของค่าย Square-Enix ซึ่งมีรากมาจากการเป็นเกม Action-RPG ที่ได้รับความนิยมในระดับหนึ่ง ที่แม้จะไม่โด่งดังเป็นพลุแตกอย่าง Final Fantasy หรือ Dragon Quest แต่ก็เป็นซีรี่ส์ที่มีแฟนๆ ติดตามอยู่มากพอสมควร

แฟนๆ ของ Square-Enix น่าจะทราบกันดีว่าพวกเขาสร้างชื่อมาจากความเป็น RPG มากกว่า Action ทำให้โปรเจคล่าสุดของซีรี่ส์อย่างภาค Automata พวกเขาเลยมองหาทีมพัฒนามาเป็นตัวช่วย ในการสร้างเกมแอคชั่นที่สนุก ดุเดือดเลือดพล่านมาผสานกับเนื้อเรื่องที่แสนจะลึกล้ำ มันย่อมกลายเป็นอะไรที่ยอมเยี่ยมได้ไม่ยาก และใครกันจะเหมาะสมในการแบกรับหน้าที่อันหนักอึ้งอันนี้ ไปกว่ากระบี่มือหนึ่งในการสร้างเกมแอคชั่นบนแผ่นดินญี่ปุ่น พวกเขาคือ Platinum Games นั่นเอง

หากยังจำกันได้กับผลงานเยี่ยมๆ อย่าง Vanquish, Metal Gear Rising: Revengence หรือ Bayonetta 2 กันได้ ชื่อของ Platinum Games นั้นคงไม่ต้องพึ่งคำโฆษณา มาตรฐานของเกมแอคชั่นไฮสปีดที่พวกเขาสร้างเอาไว้ยังสูงลิบหาใครจับตัวได้ยาก และสิ่งนั้นสถิตย์อยู่ใน Nier: Automata อย่างสมบูรณ์แบบ

เรื่องราวของเกม คือ มนุษย์ต่างดาวได้บุกโจมตีโลกด้วยกองทัพจักรกลจนทำให้ไม่สามารถที่จะปกป้องโลกเอาไว้ได้ มนุษย์จึงจำต้องอพยพหนีไปยังดวงจันทร์ สร้างฐานทัพและส่งหุ่นแอนดรอย์รบ ที่มีชื่อว่าหน่วย YoRHa ลงมาเพื่อต่อสู้กับเหล่าเครื่องจักรและชิงโลกกลับคืนมา

จุดเด่นแรกตั้งแต่แรกเห็นของเกมคือดีไซน์ตัวละครที่ทำให้หลายคนหลงรัก เราจะได้เล่นเป็น 2B (ทูบี)หนึ่งในหน่วยรบที่ถูกส่งมาปฎิบัติภารกิจบนโลก แต่พลาดท่าโดนโจมตีเสียก่อนและร่วมมือกับแอนดรอย์สายสำรวจอย่าง 9S (ไนน์เอส) ในการสืบค้นและทำลายจักรกลทั้งหลาย เพื่อทวงคืนความยิ่งใหญ่ให้กับมนุษยชาติ

ระบบของเกมนั้นเป็น Open World Action-RPG เต็มสูบ มีลายเซ็นของค่ายแพลตินั่มชัดเจน นั่นคือแอคชั่นรวดเร็ว รุนแรง ว่องไว เน้นการต่อคอมโบที่ต่อเนื่องสวยงาม ระบบการต่อสู้จะควบคุมโดยปุ่มโจมตีเบาและโจมตีหนัก ที่ผู้เล่นจะต้องเลือกใช้อาวุธมากมายที่มีให้เลือกในเกม ได้แก่ มีดสั้น ดาบ ดาบใหญ่ ทวน และสนับมือ ลองมาผสมผสานให้เกิดคอมโบที่รุนแรง ทั้งยังสามารถ “หลบ” หรือ “สวน” การโจมตีของศัตรู เพื่อสร้างจังหวะและท่วงท่าเท่ๆ ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งแฟนของค่ายนี้น่าจะคุ้นเคยกันดี

ไม่เพียงเท่านั้น ตัวละครของเรายังมี Pod หรือหุ่นยนต์ช่วยเหลือตัวน้อย คอยติดสอยห้อยตาม ทั้งช่วยโจมตีและให้การสนับสนุนด้านอื่นๆ ให้กับเรา

ความยอดเยี่ยมอีกจุดหนึ่งของเกมคือการจับเอาแนวเกมแบบ Bullet Hell หรือเกมยานยิงกระสุนเม็ดถั่วที่โปรปรายออกมาเป็นห่าฝนให้เราต้องหลบหลีกอย่างสนุกสนานมาประสานเข้ากับเกมแอคชั่น ทำให้เราไม่รู้เลยว่าฉากข้างหน้าจะเป็นยังไง ฟันศัตรูต่อสู้ระยะประชิดอยู่ดีๆ มุมกล้องซูมออก เปลี่ยนทิศทาง แล้วก็ ตูม! เรากำลังเล่นเกมยานยิงแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย! ที่น่าประทับใจก็คือ มันเวิร์ค เนียน เข้ากันดิบดี

ระบบการปรับแต่งและอัพเกรดตัวละครทำได้แปลก สำหรับอาวุธนั้น เราจะต้องท่องไปในโลกกว้างหาวัตถุดิบที่จำเป็นมาอัพเกรดให้อาวุธนั้นช่วยเพิ่มค่าพลังของตัวละคร เพราะนอกจากการตีบวกจะช่วยเพิ่มพลังทำลายของอาวุธชิ้นนั้นๆ แล้ว มันยังยืดความยาวของคอมโบและช่วยเพิ่มค่าสถานะต่างๆ เช่น เพิ่มความเร็วในการโจมตี หรือ อัตราการเกิดคริติคอล ให้ตัวเราอีกด้วย การอัพเกรด Pod ก็เช่นกัน เราสามารถซื้ออัพเกรดจากร้านค้า เพื่อให้พวกมันสามารถสร้างเกราะป้องกันเราชั่วคราว หรือสร้างค้อนยักษ์ขนาดมหึมาโจมตีใส่ศัตรู ทำให้ตัวเลือกของการใช้อาวุธและ Pod ที่สอดประสานส่งเสริมกัน มีความเป็นไปได้มหาศาล

สำหรับการอัพเกรดตัวละคร ด้วยความที่เราเป็นแอนดรอยด์ การอัพเกรดต่างๆ จะต้องใช้ Module Chip ซึ่งเป็นไอเท็มที่เก็บได้จากศัตรูหรือตามหีบต่างๆ ที่จะช่วยเพิ่มค่าสเตตัสให้กับเรา เช่น Max HP, ลดระยะเวลา cool down ของ Pod, เพิ่มพลังโจมตีระยะไกล ฯลฯ ซึ่งตัวชิพนี้สามารถนำมาผสมกันให้เกิดเป็นชิพที่ประสิทธิภาพสูงขึ้นได้อีก แต่ก็จะถูกจำกัดด้วยจำนวน slot หรือช่องใส่ชิพเพื่อไม่ให้เราเก่งเกินเกมนั่นเอง

โลกกว้างๆ ของ Automata นั้นออกจะดูเวิ้งว้างเปลี่ยวเหงาไปสักหน่อย แต่ก็เหมาะกับตีมของเกมที่พูดถึงโลกในยุคที่อารยธรรมมนุษย์ล่มสลายไปแล้วได้ดี กราฟฟิกสวย ดนตรีประกอบและเสียงพากษ์ก็จัดว่าใช้ได้ ทั้งยังมีทางลับทางซ่อนให้ผู้เล่นได้สำรวจมากมายหลายจุด แต่เรื่องที่น่าสนใจที่สุดของเกมก็คงจะไม่พ้นเรื่องราวที่น่าติดตาม และจินตนาการที่ลึกล้ำของ Yoko Taro เกมไดเรคเตอร์ ที่ยิ่งขุดค้นลึกลงไป ก็จะพบกับความมืดมน หม่นหมอง วิปริต บิดเบี้ยว สุดจะคาดเดา

ว่ากันว่า Nier: Automata มีฉากจบถึง 26 แบบด้วยกัน คือแบบ A-Z ตามจำนวนตัวอักษรภาษาอังกฤษ โดยฉากจบแบบที่ A-E ถือว่าเป็นฉากจบที่มีความหมายในเชิงเนื้อเรื่อง (แบบ F-Z เป็นฉากจบแบบขำขัน ออกแนวกลั่นแกล้งผู้เล่นเสียด้วยซ้ำ) และการที่เราจะได้ฉากจบครบทุกแบบนั้นจำเป็นที่จะต้องเล่นจบอย่างน้อย 3 รอบด้วยกัน ถึงจะเข้าใจอรรถรสของเนื้อเรื่องในทุกแง่มุม ซึ่งในการเล่นรอบหลังเราจะได้รับบทเป็น 9S หุ่นยนต์ที่ไม่มีความสามารถในการต่อสู้เทียบเท่า 2B แต่เขาสามารถที่จะแฮกเจาะระบบของเครื่องจักรต่างๆ ได้ โดยการแฮกนั้นเกมจะให้เราเล่นมินิเกม ยานยิง โดยมีเป้าหมายในการทำลายวัตถุทรงกลมให้ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด ช่วยเปลี่ยนอารมณ์ของเกมให้แตกต่างออกไป

จุดหนึ่งผมมองว่าเกมดีไซน์แบบนี้เป็นอะไรที่สร้างสรรค์ดี แต่การยืดเนื้อหาของเกมออกไปนำเอาฉากจบที่แท้จริงไปใส่ไว้ในเกมเพลย์รอบที่สาม ให้ความรู้สึกว่าเกมมันเยิ่นเย้อไปสักหน่อย(และมันก็เป็นสาเหตุที่รีวิวนี้ออกมาช้ากว่าที่ควรจะเป็น) ยังดีที่ระบบการต่อสู้ที่แข็งแกร่งและความอยากรู้จุดจบของเรื่องราวแบกเกมเอาไว้ และนำพาเราไปจนจบเกมได้

Nier: Automata ถือเป็นเกมที่ดีมากเกมหนึ่ง ถ้านับที่ความเป็นแอ็คชั่นก็ถือว่ามันส์ชั้นยอด(แนะนำให้เพิ่มระดับความยากเป็นสูงสุด แล้วจะรู้ว่านรกมีจริง) ถ้านับความเป็น RPG มันมีระบบพัฒนาตัวละครที่เจ๋ง แถมยังมีเนื้อเรื่องที่แฝงนัยยะลึกซึ้งกินใจ ถกประเด็นกันได้เป็นอภิปรัชญาเลยทีเดียว ถ้าคุณกำลังมองกาเกม open world เยี่ยมๆ สักเกม คุณคงไม่เสียใจถ้าเลือกเกมนี้
คะแนน

4 ⁄ 5

ที่มา Thaigamewiki

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน