ทรงกรม (ตอนแรก)

คอลัมน์ รู้ไปหมด

ทรงกรม (ตอนแรก) – น้าชาติ การสถาปนาฐานันดรศักดิ์ มีคำว่า ทรงกรม คืออย่างไร

เปียแก้ว

ตอบ เปียแก้ว

มีอรรถาธิบายของ ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ ว่าด้วยธรรมเนียมการเฉลิมพระยศเจ้านาย เว็บไซต์ www.silpa-mag.com นำเสนอ ว่า ธรรมเนียมการเฉลิมพระยศเจ้านายแบ่งออกเป็น 2 ประการคือ “สกุลยศ” และ “อิสริยยศ”

“สกุลยศ” คือพระยศที่ได้มาตั้งแต่ประสูติ หากพระราชโอรสหรือพระราชธิดาประสูติแต่ เจ้าจอมมารดา หรือ สามัญชน จะได้พระยศชั้น “พระองค์เจ้า” (พระองค์เจ้ายังมีอีกหลายแบบ) และหากพระราชโอรสหรือพระราชธิดาประสูติแต่พระมารดาที่เป็น เจ้า จะได้พระยศชั้น เจ้าฟ้า

พระราชโอรสชั้นเจ้าฟ้ายังแบ่งออกเป็นอีกสอง ชั้นคือ เจ้าฟ้าชั้นเอก และ เจ้าฟ้าชั้นโท ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับพระยศของผู้เป็น แม่ อีกว่ามีสายสัมพันธ์อย่างไรกับพระเจ้าอยู่หัว หาก แม่ เป็น ลูก ของพระเจ้าแผ่นดินในรัชกาลก่อนๆ กรณีนี้คือ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี

สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี และพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี ซึ่งทั้ง 4 พระองค์เป็นพระราชธิดาในรัชกาลที่ 4 ดังนั้นพระราชโอรสหรือพระราชธิดาจึงจัดอยู่ในชั้น เจ้าฟ้าชั้นเอก ชาววังจะขานพระนามว่า ทูลกระหม่อมชาย หรือ ทูลกระหม่อมหญิง

หาก แม่ เป็น หลาน ของพระเจ้าแผ่นดินในรัชกาลก่อนๆ ในกรณีนี้คือ พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์ พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค กรมขุนอรรควรราชกัลยา และพระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมขุนสุทธาสินีนาฏ ซึ่งทั้ง 3 พระองค์เป็นพระราชนัดดาในรัชกาลที่ 3 ดังนั้นพระราชโอรสหรือพระราชธิดาจึงจัดอยู่ในชั้น เจ้าฟ้าชั้นโท ชาววังจะขานพระนามว่า สมเด็จชาย หรือ สมเด็จหญิง

“อิสริยยศ” คือพระยศที่ได้รับพระราชทานจากพระเจ้าอยู่หัว แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบคือการเลื่อนพระยศ เช่น เลื่อนพระยศจากชั้นพระองค์เจ้าเป็นเจ้าฟ้า และการ “ทรงกรม” ซึ่งการทรงกรมนี้ปรากฏมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา การทรงกรมเป็นพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ แก่เชื้อพระวงศ์เพื่อเป็นพระเกียรติยศเนื่องจากได้ช่วยเหลืองานราชการแผ่นดิน

การเฉลิมพระยศเจ้านายทั้งแบบ สกุลยศ และ อิสริยยศ นั้นไม่ได้ตายตัวหรือยึดติดกับประเพณีและกฎมณเฑียรบาล แต่จะขึ้นอยู่กับพระบรมราชวินิจฉัยหรือพระราชนิยมของพระมหากษัตริย์แต่ละรัชกาล เช่น รัชกาลที่ 4 มีพระราชดำริจะพระราชทานพระอิสริยยศแก่พระราชโอรส หรือพระราชธิดาของเจ้าจอม สองพระองค์ที่เป็นเจ้านายต่างชาติ คือพระองค์เจ้ากำโพชราชสุดาดวง (เขมร) และเจ้าจอมตนกูสุเบีย (มลายู) จากชั้นพระองค์เจ้าเป็นชั้นเจ้าฟ้า แต่เจ้าจอมทั้งสองก็มิได้มีพระราชโอรสหรือพระราชธิดา

รัชกาลที่ 5 มีพระราชนิยมจากการเฉลิมพระยศในต่างประเทศ โดยการนำชื่อเมืองมาต่อท้ายพระนาม เช่น Prince of Wales ของสหราชอาณาจักร จึงมีพระบรมราชวินิจฉัยนำชื่อเมืองในสยามมาทรงกรมให้เจ้านาย เช่น กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน และกรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เป็นต้น

รัชกาลที่ 7 มีพระบรมราชวินิจฉัยเลื่อนพระยศเจ้านายในชั้นหม่อมเจ้าเป็นพระองค์เจ้า ส่วนใหญ่เป็นพระโอรสหรือพระธิดาในพระเชษฐาของพระองค์ เช่น เลื่อนพระยศ หม่อมเจ้ากัลยาณิวัฒนา มหิดล เป็นพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากัลยาณิวัฒนา และหม่อมเจ้าอานันทมหิดล มหิดล เป็นพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ทั้งนี้ ทรงเลื่อนพระยศเจ้านาย เนื่องจากทรงเล็งเห็นว่า เจ้านายในสมัยนั้นเหลือน้อย เต็มทีแล้ว

รัชกาลที่ 9 มีพระบรมราชวินิจฉัยทรงกรมเจ้านายให้สอดคล้องกับพระบิดาของเจ้านายพระองค์นั้นๆ เช่น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชครินทร์ ทรงกรมล้อกับ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ซึ่งทรงกรมหลวงสงขลานครินทร์ และพระเจ้าวร วงศ์เธอ กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต ทรงกรมล้อกับ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ผู้เป็นพระบิดา

ดังนั้นแล้วธรรมเนียมการเฉลิมพระยศ-พระอิสริยยศในแต่ละรัชกาล จึงเปลี่ยนแปลงไปตามพระบรมราชวินิจฉัยและพระราชนิยมของพระมหากษัตริย์แต่ละรัชกาล

ฉบับพรุ่งนี้ (3 ก.ค.) อ่านรายละเอียดว่าด้วยการทรงกรม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน