กระชังปลาอัจฉริยะ นวัตกรรม 3 หนุ่ม ม.มหิดล

คอลัมน์ ไอคิวทะลุฟ้า

กระชังปลาอัจฉริยะ – จากการเปิดเผยของ ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า การประมงน้ำจืดตาม แม่น้ำ ลำคลอง หนองบึงต่างๆ และฟาร์มปลา มักเผชิญอุปสรรคปัญหาจากภัยธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สร้างความเสียหาย และสูญเสียรายได้แก่ชาวประมงน้ำจืดอยู่เสมอ จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ 3 หนุ่มเมคเกอร์ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

กระชังปลาอัจฉริยะ

ณัฐพงศ์ ปัญจวิชญ์ รักษ์ธนา รับรางวัล

ประกอบด้วย นายรักษ์ธนา ฟักนาค นายปัญจวิชญ์ วัฒนภินันท์ชัย และ นายณัฐพงศ์ ศรีภิรมย์ คิดค้นนวัตกรรมกระชังปลาอัจฉริยะ (Smart Fish Cage)” โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษา ผศ.เดชา วิไลรัตน์ และ รศ.ดร.ฉัตรชัย เนตรพิศาลวานิช ซึ่งเป็นที่น่ายินดีที่ผลงานนี้สร้างประโยชน์ต่อสังคม กระทั่งได้รับรางวัลชนะเลิศ Mahidol Engineering Maker Award 2019 เมื่อเร็วๆ นี้

หลุยส์ รักษ์ธนา หัวหน้าทีมเมคเกอร์ นักศึกษาภาควิศวกรรมไฟฟ้า วิศวะ มหิดล กล่าวว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติ ทำให้กระชังปลาหลายแห่งประสบปัญหาปลาน็อกน้ำ หรือการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศและสภาพอุณหภูมิอย่างรวดเร็ว

กระชังปลาอัจฉริยะ

กล่องควบคุมและประมวลผล

จึงเกิดแนวคิดสร้างเครื่องมือ และระบบแจ้งเตือนก่อนเกิดเหตุ เพื่อช่วยเหลือชาวประมงไทยให้เตรียมรับมือ และตัดสินใจแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกระทบกับปลาที่เลี้ยงอยู่ในกระชังได้ทันท่วงที โดยคอนเซ็ปต์ดีไซน์ จะนำเทคโนโลยีนวัตกรรมและการใช้ประโยชน์จากคลาวด์แพลตฟอร์มมาช่วยเก็บข้อมูล และการทำงานของอุปกรณ์ ทำให้กระชังปลามีความฉลาดอัจฉริยะ สามารถแสดงผล สั่งการ เฝ้าระวัง และควบคุมการทำงานได้สะดวกผ่านมือถือสมาร์ตโฟน

กระชังปลาอัจฉริยะใช้ระยะเวลาวิจัยพัฒนาราว 6 เดือน โดยเมคเกอร์ทั้งสาม เริ่มต้นลงพื้นที่เก็บข้อมูลจากชาวประมงที่เลี้ยงปลาน้ำจืด ในกระชังย่านจังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อวิเคราะห์การเลือกใช้เซ็นเซอร์ให้เหมาะสม ใช้เงินลงทุนประมาณ 8,000 บาท

กระชังปลาอัจฉริยะ

รักษ์ธนากับลุงชาวประมง

การออกแบบมุ่งให้ใช้งานง่าย มีหลักการทำงานไม่ซับซ้อน ใช้วัสดุอุปกรณ์ที่หาได้ตามร้านอิเล็กทรอนิกส์ทั่วไป ทำให้มีราคาถูกและชาวประมงยังสามารถทำได้ด้วยตนเอง ค่าที่ได้จากการตรวจวัดนั้นเพียงพอต่อการตัดสินใจ ตอบโจทย์ผู้เลี้ยงปลาน้ำจืดในกระชังได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ด้าน ปั่น ปัญจวิชญ์ กล่าวถึงส่วนประกอบระบบอัจฉริยะว่า กระชังปลาอัจฉริยะออกแบบโดยใช้วัสดุที่หาง่ายและราคาไม่แพง ประกอบด้วย 1. ท่อพีวีซี ขนาด 2 นิ้ว ความยาว 1.5 เมตร จำนวน 2 ท่อน เพื่อใช้ติดตั้งอุปกรณ์เซ็นเซอร์

2. เซ็นเซอร์และทรานส์ดิวเซอร์ วัดอุณหภูมิ ความเป็นกรดด่าง ระดับความสูงและความขุ่นของน้ำ และอุปกรณ์ที่ใช้เชื่อมต่อระหว่างภาคควบคุม ซึ่งเป็นส่วนวงจรอิเล็กทรอนิกส์กับวงจรภาคไฟฟ้ากำลัง

3. สายสัญญาณหุ้มฉนวน ชนิด 5 คอ ที่มีคุณสมบัติกันน้ำได้ดี 4. ไมโครคอนโทรลเลอร์ กล่องควบคุมใช้ประมวลผล

และ 5. ซอฟต์แวร์ (ARDUINO, NETPIE และ LINE Notify) แบ่งการแจ้งเตือนภัยออกเป็น 3 รูปแบบ คือ ระดับปกติ ระดับเฝ้าระวัง และระดับวิกฤต หากค่าอยู่ในระดับเฝ้าระวัง หน่วยควบคุม หรือ MCU จะสั่งให้เพิ่มค่าออกซิเจนในน้ำโดยอัตโนมัติ

กระชังปลาอัจฉริยะ

ติดตามผลระบบอัจฉริยะในกระชังปลา

ขณะที่ ณัฐ ณัฐพงศ์ เผยถึงวิธีการใช้งานว่า นำท่อพีวีซีที่ติดตั้งเซ็นเซอร์เรียบร้อยแล้ววางลงน้ำในแนวดิ่งลึก 1 เมตร เซ็นเซอร์จะตรวจวัดค่าพารามิเตอร์ต่างๆ แล้วจึงส่งสัญญาณมาตามสาย Coaxial เข้ามายังกล่องควบคุมเพื่อประมวลผล

ข้อมูลที่รวบรวมได้จะบันทึกไว้บน คลาวด์ โดยใช้ระบบปฏิบัติการ NETPIE ก่อนแจ้งเตือนข้อความผ่านแอพพลิเคชั่น LINE Notify บนมือถือสมาร์ตโฟน ทำให้ผู้ใช้งานสามารถติดตามผลได้ตลอดเวลา รองรับทั้งระบบ Android และ IOS หากผู้ใช้งานต้องการทราบค่าพารามิเตอร์ต่างๆ สามารถดูได้บนเว็บเพจของ NETPIE โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ในอนาคตวางแผนต่อยอดไปสู่การใช้ปัญญาประดิษฐ์ AI ต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน