สสส.เพิ่มความเท่าเทียมด้านสุขภาพ

สสส.เพิ่มความเท่าเทียมด้วยสถานการณ์ของสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยง สะท้อนให้เห็นถึงความ ‘เหลื่อมล้ำ’ ทางสุขภาพที่เกิดขึ้นนั้น ทำให้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) มุ่งเน้นที่จะลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมในด้านสุขภาพมาเป็นเวลานาน

สสส.เพิ่มความเท่าเทียม

ร่วมแสดงพลัง

ล่าสุด สสส. จัดเวทีประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน : ประชากรกลุ่มเฉพาะ “Voice of the voiceless : the vulnerable populations” ระหว่างวันที่ 12-13 มิ.ย. ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี เพื่อเป็นเวทีวิชาการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็นการสร้างเสริมสุขภาวะ ประชากรกลุ่มเฉพาะสำหรับภาคี เครือข่ายทั้งภาคประชาสังคม ภาครัฐ และภาคเอกชน

สสส.เพิ่มความเท่าเทียม

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์

สสส.เพิ่มความเท่าเทียม

นพ.วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์

สสส.เพิ่มความเท่าเทียม

นางภรณี ภู่ประเสริฐ

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. พร้อมด้วย นพ.วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ รองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพคนที่ 2 นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมเปิดประชุม

นางภรณีกล่าวว่า เวทีนี้จัดขึ้นเพื่อเปิดพื้นที่ในการพูดคุยพัฒนาแนวทางการขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาวะ ความเป็นธรรมทางสุขภาพอย่างมีส่วนร่วมรวมถึงสื่อสารสาธารณะไปยังสังคมให้มีความเข้าใจ ให้โอกาสและมีทัศนคติ เชิงบวกกับประชากรกลุ่มนี้มากยิ่งขึ้น ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สสส.พยายามขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาวะ ลดความเหลื่อมล้ำในประชากรกลุ่มเฉพาะ ซึ่งจะแสดงผลการทำงาน 1 ทศวรรษความเป็นธรรมทางสุขภาพที่ประสบผลสำเร็จ อาทิ นวัตกรรมการจ้างงานคนพิการ เตรียมความพร้อมประชากรทุกกลุ่ม ก่อนประเทศไทยจะเป็นสังคมสูงอายุ

ด้าน นพ.วีระพันธ์กล่าวว่า วิสัยทัศน์ของ สสส.ระบุว่า ทุกคนบนแผ่นดินไทยมีขีดความสามารถ สังคม สิ่งแวดล้อม ที่เอื้อต่อสุขภาวะ ดังนั้นนโยบายสำคัญของ สสส.เพื่อให้เกิดการสร้างเสริมสุขภาพ คือการจุดประกาย กระตุ้น สาน และเสริมพลังบุคคล พลังองค์กรทุกภาคส่วน ให้มีขีดความสามารถในการสร้างสรรค์ระบบสังคม เอื้อต่อการมีสุขภาวะที่ดีร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในสังคม กำหนดให้ทุกแผนหลักดำเนินงานคำนึงถึงความเหลื่อมล้ำ ตราบใดที่การลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพยังไม่สำเร็จ ยังต้องขับเคลื่อนการแก้ปัญหาเพื่อให้สอดคล้องกับประชากรกลุ่มนี้

ดร.สุปรีดากล่าวว่า เวทีนี้จะเป็นเวทีสำคัญที่ทำให้เกิดสิ่งสำคัญต่างๆ ตามมาอีกไม่น้อย สสส.วางตำแหน่งของตนเองไว้ว่าจะไปแก้ไขปัญหาสุขภาพต่างๆ ที่ต้นน้ำ เราจึงต้องไปดูปัจจัยต่างๆ ทำเรื่องการสื่อสาร ขณะเดียวกันก็ต้องรุกไปยังชุมชน หรือองค์กรที่เข้มแข็งด้วย ทั้งหมดนั้นเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต และพฤติกรรม ซึ่งเป็นต้นเหตุของสุขภาพในปัจจุบันนี้

“เรารู้ดีว่าทุกคนมีปัจจัยตั้งต้นไม่เท่ากัน ปัจจัยที่มีผลต่อสุขภาพของทุกคนไม่ได้เท่าเทียมกัน มีกลุ่มหนึ่งที่ขาดเป็นพิเศษ ไม่ได้อยู่ในจุดที่จะเคลื่อนไปได้พร้อมๆ กับประชากรกุล่มใหญ่ในประเทศ ที่ต้องการการดูแลจำเพาะขึ้น เราจะเรียกว่ากลุ่มชายขอบ กลุ่มเหล่านี้จะมีความไร้ตัวตน การเป็นคนชั้นล่างสุดของสังคมที่ถูกผลักภาระ ต่างๆ ลงมาหาเป็นคนที่มีความเสี่ยงสูงในชีวิต ความปลอดภัย สวัสดิภาพ การถูกคุกคามสูงกว่าคนทั่วๆ ไป ถูกกันไม่ให้เข้าถึงนโยบายต่างๆ ได้รับสิทธิน้อยกว่าคนอื่นๆ

เด็กกลุ่มชาติพันธุ์

ทั้งหมดนำไปสู่ความจำนน จำยอม อยู่ในสังคมนี้อย่างไร้ความหวัง ไร้ความสุข ทั้งหมดที่พูดมาคือทั้ง 8 กลุ่ม ผู้พิการ ผู้สูงอายุ แรงงานนอกระบบ ผู้มีปัญหาสถานะบุคคล ประชากรข้ามชาติ มุสลิม ผู้ต้องขังหญิง และคนไร้บ้าน เราต้องเพิ่มแต้มต่อให้กลุ่มเหล่านี้เท่าเทียมมากขึ้น การจะทำให้เกิดขึ้นจริงไม่ใช่เรื่องง่าย เราจึงจะมาร่วมกันทำสิ่งเหล่านี้ จะต้องพัฒนาโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว

บูธในงาน

ไฮไลต์ของการประชุมครั้งนี้มีประเด็นน่าใจมากมาย โดยมีห้องย่อยรวมกว่า 14 ห้อง ใน 8 กลุ่มประชากร อาทิ ประเด็นเรือนจำสุขภาวะ คุณภาพชีวิตของผู้ต้องหาในเรือนจำ โดยมี นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี มาพูดถึงทัศนะของหมอที่เคยเข้าไปทำงานคลุกคลีอยู่ในเรือนจำ หรือการเข้าไม่ถึงความเป็นธรรมทางสุขภาพในมิติต่างๆ เช่น ผู้หญิงพิการที่เสี่ยงต่อการถูกคุกคามทางเพศ

โดยเฉพาะคนพิการทางการได้ยิน จะมีความเสี่ยงสูงกว่ากลุ่มอื่น หรือการถูกคุกคามทางเพศที่เกิดจากสังคมโซเชี่ยล เช่น การใช้คำพูดเสียดสี ด่าทอ พวกเขาผ่านจุดนั้นมาได้อย่างไร ประเด็นเหล่านี้สังคมจะได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน

ภาคีเครือข่าย

“สสส.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพมาโดยตลอด ทำให้เราได้เห็นว่ามีกลุ่มประชากรที่เป็นเสียงที่เราไม่ได้ยินจำนวนมากได้รับความช่วยเหลือ เสียงของเขาเหล่านั้นมีความหมายมากขึ้น แต่เราก็ยังต้องเดินหน้าต่อไป เพื่อให้กลุ่มประชากรเหล่านี้ได้รับความเท่าเทียม และเดินไปพร้อมๆ กับประชากรส่วนมากในประเทศให้ได้”

โดย…ธีรดา ศิริมงคล


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน