ศาลท้าวมหาพรหม เอราวัณ

คอลัมน์ รู้ไปโม้ด

ศาลท้าวมหาพรหม เอราวัณ – เพิ่งเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ ญาติพาไปไหว้พระพรหมที่แยกราชประสงค์ อยากทราบใครสร้างไว้ตั้งแต่เมื่อไหร่ ประวัติค่ะ

อมรรัตน์

ตอบ อมรรัตน์

ศาลท้าวมหาพรหม โรงแรมแกรนด์ไฮแอทเอราวัณ ตั้งอยู่หน้าโรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ บริเวณสี่แยกราชประสงค์ ถนนราชดำริ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร

ย้อนไปเมื่อ พ.ศ. 2494 พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ขณะดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจ กำหนดให้ก่อสร้างโรงแรมเอราวัณขึ้นที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ เพื่อรองรับแขกต่างประเทศ ว่ากันว่า เบื้องต้นของการก่อสร้างเกิดอุบัติเหตุขึ้นมากมาย ต่อมาเมื่อการก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จ ปลายปี พ.ศ.2499 บริษัทสหโรงแรมไทยและการท่องเที่ยว จำกัด ผู้บริหารโรงแรมได้ติดต่อ พลเรือตรีหลวงสุวิชานแพทย์ ร.น. นายแพทย์ใหญ่กองทัพเรือ ผู้ทรงคุณวุฒิเรื่องการนั่งทางใน เข้าดำเนินการหาฤกษ์วันเปิดโรงแรม

ศาลท้าวมหาพรหม เอราวัณ

พลเรือตรีหลวงสุวิชานแพทย์ ท้วงติงว่า การก่อสร้างโรงแรมไม่ได้ทำพิธีบอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในบริเวณนั้นก่อน ฤกษ์วางศิลาฤกษ์ของโรงแรมก็ไม่ถูกต้อง อีกทั้งชื่อของโรงแรม เอราวัณ นั้น เป็นชื่อของช้างทรงของพระอินทร์ ถือเป็นชื่อศักดิ์สิทธิ์ จำเป็นต้องมีการบวงสรวงที่เหมาะสม วิธีการแก้ไขจะต้องขอพรจากพระพรหมเพื่อช่วยให้อุปสรรคหมดไป และจะต้องสร้างศาลพระพรหมขึ้นทันทีหลังจากการก่อสร้างโรงแรมแล้วเสร็จ และสร้างศาลพระภูมิไว้ในโรงแรม

จึงได้มีการตั้งศาลพระพรหมขึ้น ออกแบบตัวศาลโดย นายระวี ชมเสรี และ ม.ล.ปุ่ม มาลากุล องค์ท้าวมหาพรหมปั้นด้วย ปูนปลาสเตอร์ปิดทอง ออกแบบและปั้นโดย นายจิตร พิมพ์โกวิท ช่างกองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร อัญเชิญพระพรหมมาประดิษฐานที่หน้าโรงแรมเอราวัณเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2499 ตามแผนงานครั้งแรก องค์ท้าวมหาพรหมจะเป็นโลหะหล่อสีทอง แต่เนื่องจากเวลาจำกัดด้วยฤกษ์การเปิดโรงแรม จึงได้เปลี่ยนวัสดุเป็นปูนปั้นปิดทอง

ศาลท้าวมหาพรหม เอราวัณ

ทั้งนี้ ท้าวมหาพรหมโรงแรมแกรนด์ไฮแอทเอราวัณ ถูกสร้างขึ้นในห้วงเวลาเดียวกับพระพรหมที่ตั้งสถิตอยู่ในศาลบนดาดฟ้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล โดยเกิดจากการให้คำแนะนำของพลเรือตรีหลวงสุวิชานแพทย์เช่นเดียวกัน

ปัจจุบัน ศาลท้าวมหาพรหม โรงแรมแกรนด์ไฮแอทเอราวัณ อยู่ในความดูแลของ มูลนิธิทุนท่านท้าวมหาพรหม มีการรำละครชาตรีแก้บนกันทุกวัน รวมถึงการเข้าสักการะของผู้คนจากทั่วสารทิศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ชาวต่างชาติ เช่น ชาวจีนที่ถึงกับจัดทัวร์มาสำหรับการนี้โดยเฉพาะ

ศาลท้าวมหาพรหม เอราวัณ

เมื่อกลางดึกของคืนวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ.2549 ศาลท้าวมหาพรหมถูกชายเสียสติผู้หนึ่งใช้ค้อนทุบทำลาย ทำให้ตัวองค์ท้าวมหาพรหมแตก จึงมีการบูรณะพร้อมกับสร้างองค์ใหม่ด้วย แล้วเสร็จในปลายเดือนพฤษภาคม โดยมูลนิธิทุนท่านท้าวมหาพรหมทำพิธีอัญเชิญองค์ท่านท้าวมหาพรหมที่บูรณะเสร็จแล้วกลับมาประดิษฐานที่เทวาลัย ในวันที่ 21 พฤษภาคม 2549 เวลา 11.39 น. ซึ่งเป็นเวลาที่องศาของดวงอาทิตย์ส่องตรงศาลพอดี โดยอัญเชิญเป็นขบวนจากกรมศิลปากรมาจนถึงศาลท้าวมหาพรหม

ต่อมาวันที่ 17 สิงหาคม 2558 เวลา 18.55 น. มีเหตุระเบิดขึ้นบริเวณสี่แยกราชประสงค์ ใกล้กับศาลท้าวมหาพรหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติรายงานว่าเป็นระเบิดทีเอ็นทีหนัก 5 กิโลกรัม บรรจุในท่อบริเวณศาลท้าวมหาพรหม รัศมีการทำลายล้าง 30 เมตร มีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 70 ราย และเสียชีวิตทันที 16 ราย องค์เทวรูปท้าวมหาพรหมได้รับความเสียหายรวมทั้งหมด 12 จุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนคาง ใช้งบประมาณบูรณะ 70,000 บาท ใช้เวลา 9 วัน

น้าชาติ ประชาชื่น

[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน