ห้องสมุดที่มีชีวิต อุทยานเรียนรู้ศรีสะเกษ

ห้องสมุดที่มีชีวิต อุทยานเรียนรู้ศรีสะเกษ – “เมืองเกษตรอินทรีย์ บุคลากรมีคุณภาพ ประชาชนมีส่วนร่วม ศูนย์รวมการศึกษา ก้าวหน้าเทคโนโลยี แหล่งท่องเที่ยวมากมี สืบสานประเพณีภูมิปัญญาท้องถิ่น”

วิสัยทัศน์ของ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ศรีสะเกษ บ่งบอกชัดเจนถึงจุดเด่นด้านการพัฒนาคน การศึกษาเรียนรู้ และเทคโนโลยี โดยไม่ละทิ้งภูมิปัญญาดั้งเดิมของท้องถิ่น อันมีรากฐานจากจุดเด่นทางภูมิศาสตร์เศรษฐกิจและวัฒนธรรมของศรีสะเกษ จังหวัดสำคัญทางภาคอีสานตอนล่างที่มีศักยภาพสำหรับที่ตั้งแหล่งการเรียนรู้แห่งใหม่ล่าสุด “อุทยานการเรียนรู้ศรีสะเกษ” ภายใต้ความร่วมมือของอุทยานการเรียนรู้ TK park และ อบจ.ศรีสะเกษ ที่เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการแล้ว

ห้องสมุดที่มีชีวิต

นายกิตติรัตน์ ปิติพานิช รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ และผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ กล่าวว่า ศรีสะเกษเป็นเมืองรองที่มีความสำคัญทั้งเชิงประวัติศาสตร์และเศรษฐกิจของอีสานตอนล่าง โดยเฉพาะถูกยกให้เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เนื่องจากมีประวัติศาสตร์ความรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยขอมโบราณ จึงนับว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในภูมิภาคนี้

ห้องสมุดที่มีชีวิต

TK park จึงพร้อมสนับสนุนให้อุทยานการเรียนรู้ศรีสะเกษ หรือ Sisaket Knowledge Park (SSK PARK) เป็นอุทยานการเรียนรู้ระดับจังหวัดแห่งที่ 26 เพื่อใช้ในการพัฒนาบุคลากรในชุมชนให้มีนิสัยรักการอ่าน และการเรียนรู้ เพื่อเตรียมความพร้อมด้านองค์ความรู้ที่หลากหลายและรอบด้าน รวมทั้งการพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 และยังเป็นแหล่งพบปะสังสรรค์ ทำกิจกรรม และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งนับเป็นการนำพื้นที่การเรียนรู้มาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ให้สมกับเป็น‘ห้องสมุดที่มีชีวิต’

ห้องสมุดที่มีชีวิต

“TK park เราให้การสนับสนุนในเรื่องการพัฒนาอบรมบุคลากร ด้านการจัดการข้อมูลสารสนเทศให้เป็นระบบมากยิ่งขึ้น มีการฝึกอบรมด้านการใช้เทคโนโลยีในการสร้างระบบสมาชิก การจัดหาหนังสือ ชุดนิทรรศการ สื่อการเรียนรู้ต่างๆ รวมทั้งการพัฒนากิจกรรมเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน” นายกิตติรัตน์กล่าว

นายกิตติรัตน์กล่าวเพิ่มเติมถึงความแตกต่างในการสนับสนุนข้อมูลแก่ศูนย์เรียนรู้ในภูมิภาคต่างๆ ที่มีความต่างในด้านวัฒนธรรมว่า หากพูดถึงมาตรฐานสื่อการเรียนรู้ระดับจังหวัดไม่ต่างกัน ในต่างจังหวัดก็จะใกล้เคียงกับที่กรุงเทพ ขณะเดียวกันเราจะมีทีมงานที่ศึกษาว่าพื้นที่ไหนต้องโฟกัสเรื่องอะไร เช่น ในต่างจังหวัดอาจต้องเน้นเรื่องอาชีพ ถ้ามีเด็กมากก็จะมีหนังสือเกี่ยวกับองค์ความรู้ของเด็กๆ มากหน่อย อย่างในเขต 3 จังหวัดชายแดน มีหนังสือมาจาก มาเลย์ อังกฤษ และที่เกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลามด้วย เพื่อตอบโจทย์ความเป็นท้องถิ่น

ห้องสมุดที่มีชีวิต

เราอยากให้ศูนย์เรียนรู้ต่างๆเป็นศูนย์กลางของชุมชนด้วย มีกิจกรรมของชุมชนประกอบบ้าง เช่น สมาคมต่างๆ เทศบาลใช้ที่ประชุมหรือจัดกิจกรรม แม้แต่การจัดงานแต่ง รวมทั้งเข้ามาติดต่อราชการ ทำพาสปอร์ต ซึ่งเป็นช่องทางให้ศูนย์ทำรายได้จากการเช่าพื้นที่ได้ด้วย

ไม่ง่ายที่จะดึงคนเข้ามาในห้องสมุด แต่เราต้องพยายามดึงเขาเข้ามา และพยายามให้ศูนย์การเรียนรู้เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเขาให้ได้ พื้นที่ง่ายๆ ที่เราเข้าถึงคือออนไลน์

ด้าน นายวิชิต ไตรสรณกุล นายกอบจ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า อบจ.ศรีสะเกษ ร่วมกับคณะผู้บริหาร และสมาชิกสภาจังหวัดศรีสะเกษ เล็งเห็นว่าอุทยานการเรียนรู้ศรีสะเกษ เปรียบเสมือนโลกใบใหญ่แห่งการเรียนรู้ เป็นแหล่งเรียนรู้ ที่ทันสมัยและรวบรวมภูมิปัญญาท้องถิ่น

จึงมีนโยบายในการจัดตั้งขึ้น เพราะมุ่งหวังให้จังหวัดศรีสะเกษเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ของอีสานตอนล่าง เป็นแหล่งการเรียนรู้ในทุกๆ ด้าน เป็นศูนย์กลางให้ประชาชนเข้ามาเรียนรู้ ศึกษา ค้นคว้าหาความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ พบปะสังสรรค์เพื่อสร้างความเข้าใจ ตลอดจนรวบรวมภูมิปัญญาท้องถิ่น องค์ความรู้ของปราชญ์ท้องถิ่นและองค์ความรู้ที่กระจัดกระจายในชุมชนให้เป็นหมวดหมู่และชัดเจนเป็นรูปธรรม ให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลเพื่อการศึกษาและเรียนรู้ต่อไป

ห้องสมุดที่มีชีวิต

กิตติรัตน์-วิชิต

หนึ่งในจุดเด่นของอุทยานการเรียนรู้ศรีสะเกษคือ ทำเลที่ตั้ง ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมืองทำให้เกิดการเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เดินทางสะดวก สามารถเดินทางเข้ามาใช้บริการได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยเฉพาะได้ร่วมมือกับชุมชน เป็นแหล่งจัดกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ เพื่อให้ประชาชนพัฒนาความคิด พัฒนาทักษะ สร้างสรรค์จินตนาการ และเติบโตอย่างมีคุณภาพต่อไป

ซึ่งเราหวังว่าจะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากประชาชนในจังหวัด และจังหวัดข้างเคียง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ปกครองสามารถพาบุตรหลานเข้าใช้บริการ เยาวชนและนักเรียน นักศึกษา เข้าศึกษาค้นคว้าหาความรู้ ทำงานเดี่ยวและงานกลุ่มที่ได้รับมอบหมาย ตลอดจนเข้าร่วมกิจกรรมของอุทยานการเรียนรู้ศรีสะเกษ

ห้องสมุดที่มีชีวิต

อีกทั้งมีหน่วยงานต่างๆ ที่สนใจมาเข้าเยี่ยมชมและศึกษาการดำเนินงานของอุทยานการเรียนรู้ศรีสะเกษ และในอนาคตจะสามารถส่งต่อแนวคิดเรื่องแหล่งเรียนรู้ไปต่อยอดสร้างเครือข่ายแหล่งเรียนรู้ของ อบจ.ต่อไป โดยจะเน้นเป็นแหล่งเรียนรู้ชุมชนหรือปราชญ์ท้องถิ่น เพื่อรวบรวมภูมิปัญญาท้องถิ่นและองค์ความรู้ที่กระจัดกระจายในชุมชนให้มาร่วมในที่เดียวกัน เพื่อใช้พัฒนาคนในท้องถิ่นให้พร้อมก้าวสู่สังคมแห่งยุคข่าวสารไร้พรมแดน

ปัจจุบัน TK park มีเครือข่ายอุทยานการเรียนรู้ระดับจังหวัด เปิดบริการแล้ว 26 แห่ง และอยู่ระหว่างดำเนินงานความร่วมมือและพัฒนาพื้นที่อีก 6 แห่ง มีห้องสมุดชุมชนในรูปแบบ Mini TK อีก 19 แห่ง อุทยานการเรียนรู้ศรีสะเกษดำเนินงานโดยอบจ.ศรีสะเกษ ตั้งอยู่ที่ ถ.วันลูกเสือ ตรงข้าม รร.ศรีสะเกษวิทยาลัย เป็นอาคาร 4 ชั้น เปิดบริการตั้งแต่เวลา 10.00-18.00 น. หยุดทุกวันจันทร์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน