ชมนิทรรศการ‘สักสี สักศรี’ ศิลปะ-มรดก3กลุ่มชาติพันธุ์

สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) ร่วมกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไต้หวัน และสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย เปิดตัวนิทรรศการ “สักสี สักศรี ก่อนรอยแห่งเกียรติจะลบเลือน” (Tattoo COLOR, Tattoo HONOR)

ครั้งแรกของไทยในการจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับรอยสัก 2 แห่ง เพื่อบอกเล่ามรดกทางวัฒนธรรมผ่านศิลปะการสักลายบนเรือนร่างของ 3 กลุ่มชาติพันธุ์ คือ ชาวไท่หย่า (Atayal) ชาวไผวัน (Paiwan) จากไต้หวัน และชาวล้านนาไทย อันสะท้อนวัฒนธรรมการสักลายที่บ่งบอกถึงความกล้าหาญ เกียรติยศ และคติความเชื่อ ฯลฯ

หลากหลาย

ก่อนรอยแห่งเกียรติจะลบเลือน

สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) มีนโยบายที่มุ่งเน้นในการพัฒนาและเชื่อมโยงองค์ความรู้ ส่งเสริมและสนับสนุนความรู้ให้กับประชาชนในมิติต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ให้มีพื้นที่การเรียนรู้นอกห้องเรียนมากยิ่งขึ้น

นิทรรศการ “สักสี สักศรี ก่อนรอยแห่งเกียรติ จะลบเลือน” ที่ใช้ศิลปะการสักลาย ในการถ่ายทอดเรื่องราวประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ ถือว่าเป็นมิติใหม่ในการสร้างสรรค์องค์ความรู้ เพราะการสักลายไม่เพียงแต่เพื่อความสุนทรียะเท่านั้น แต่ยังมีนัยยะสำคัญที่กล่าวถึงเกียรติยศและความภาคภูมิใจในขนบธรรมเนียมของกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งในประเทศไทยและไต้หวัน ทั้งนี้ นิทรรศการสักสี สักศรี จะกระตุ้นการเรียนรู้ และถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์กลุ่มชาติพันธุ์ สู่ประวัติศาสตร์ของคนทุกคน ตลอดจนสามารถรักษาองค์ความรู้ให้อยู่คู่สังคมตลอดไป

หลากหลาย

ลายสักมือและร่างกายของชาวไผวัน

ด้านนายราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ กล่าวว่า นิทรรศการสักสี สักศรี ภายใต้แนวคิด “ก่อนรอยแห่งเกียรติจะลบเลือน” บอกเล่าเรื่องราวและมรดกทางวัฒนธรรม กลุ่มชาติพันธุ์ของไทยและไต้หวัน ผ่านศิลปะการสักลายบนเรือนร่างผ่าน 3 กลุ่มชาติพันธุ์ คือ ชาวไท่หย่า ทางตอนเหนือของไต้หวัน ชาวไผวัน ทางตอนใต้ของไต้หวัน และชาวล้านนา ทางตอนเหนือของไทย อันสะท้อนวัฒนธรรมการสักลายเพื่อบ่งบอกถึงความกล้าหาญ เกียรติยศ และคติความเชื่อ เพื่อสนับสนุนการถ่ายทอดมรดกทางภูมิปัญญาสู่คนรุ่นใหม่และประชาชนไม่ให้สูญหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์

หลากหลาย

การสักหน้าของชาวไท่หย่า

ภายในนิทรรศการ จะถูกเนรมิตให้เต็มไปด้วยบรรยากาศของศิลปะการสักลาย ขนบธรรมเนียม และวัฒนธรรมความเชื่อเกี่ยวกับรอยสักที่มีร่วมกันในภูมิภาค ประกอบไปด้วย 3 โซนกิจกรรมคือ 1.โซนภาพและวัตถุ จัดแสดง อาทิ หุ่นไม้แกะสลัก มือไม้แกะสลัก ภาพประวัติศาสตร์ การสักของกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นต้น 2.โซนกิจกรรมเสวนาและเวิร์กช็อปจากผู้เชี่ยวชาญด้านมรดกวัฒนธรรมทั้งไทยและไต้หวัน และ 3.โซนฉายภาพยนตร์สารคดี ที่จะบอกเล่าองค์ความรู้การสักลาย การสื่อนัยยะทางสังคม ในรูปแบบผสมผสานที่น่าสนใจ

สำหรับรายละเอียดการจัดแสดงในส่วนของประเทศไทยนั้นจะสะท้อนผ่านชาวล้านนาที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของไทย โดยได้นำเสนอวัฒนธรรมการสักขาลาย อันเป็นเอกลักษณ์เก่าแก่ ที่ถ่ายทอดกันมาหลายชั่วอายุคน ในกลุ่มของชายชาวล้านนาจะแสดงถึงความกล้าหาญ ความเป็นลูกผู้ชาย และความอดทนต่อความเจ็บปวด ผ่านลวดลายสัตว์หิมพานต์ ตามคติความเชื่อจากศาสนาพุทธและฮินดู อาทิ หนู นกกระจาบ นกแร้ง สิงโต ค้างคาว ชะมด ราชสีห์ นกกาบบัว เสือ ช้าง ลิง และหนุมาน นอกจากนี้ ยังมีลวดลายที่หาชมได้ยากในปัจจุบัน อาทิ ลายเมฆ ตัวมอมหรือสิงโต เป็นต้น

หลากหลาย

ลายสักชาวล้านนา

อย่างไรก็ตาม การสักขาลายถือเป็นการสักตามจารีตประเพณี และขนบธรรมเนียมกลุ่ม ไม่มีการใช้มนต์คาถาประกอบพิธีกรรมการสัก แต่จะใช้เป็น ‘การตั้งขันครู’ เพื่อบูชาครูที่ สักลายให้ และเมื่อสักเสร็จครูสักจะผูกด้ายขาวที่ข้อมือ เป็นอันจบพิธีกรรมการสักขาลาย ตามขนบวัฒนธรรมกลุ่มชายชาวล้านนา

นายหง ซื่อ โย่ว ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไต้หวัน (NTM) กล่าวว่า ไต้หวันเลือกนำเสนอการสักของ 2 กลุ่มชาติพันธุ์ คือ ชาวไท่หย่า และชาวไผวัน โดย ชาวไท่หย่า ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของไต้หวัน จะมีเอกลักษณ์คือการสักหน้า เพื่อเป็นเครื่องหมายที่แสดงถึงความสามารถ ก่อนที่จะได้รับการสักหน้านั้น ในเพศชายจะต้องได้รับการยอมรับว่ามีความกล้าหาญ และในเพศหญิงจะต้องได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ถักทอ และทำการเกษตรเก่งเสียก่อน

หลากหลาย

วิธีการสักลายไท่หย่า

สำหรับชาวไผวันซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของไต้หวัน จะใช้การสักบริเวณลำตัวของเพศชาย และมือของเพศหญิง เพื่อเป็นเครื่องแสดงออกถึงสถานะทางสังคม และความรับผิดชอบ โดยผู้ที่จะสามารถสักได้นั้นจะต้องเป็นชนชั้นสูงของเผ่าเท่านั้น

ทั้งสองกลุ่มได้ใช้ศิลปะการสักลายบนร่างกาย แสดงถึงเกียรติยศทางสังคม ขนบธรรมเนียมกลุ่ม ผนวกกับคติความเชื่อทางศาสนาของกลุ่มชาติพันธุ์ ทำให้การสักไม่ใช่เพื่อสุนทรียะเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของความศักดิ์สิทธิ์และความสัมพันธ์ทางสังคม ที่ต้องได้รับอนุญาตหรือการยอมรับในกลุ่มก่อนจะสักลาย

ผู้สนใจ “นิทรรศการสักสี สักศรี” สามารถเข้าชมได้ฟรีตั้งแต่วันนี้ถึง 27 ต.ค.2562 ที่มิวเซียมสยาม (ท่าเตียน) ถนนสนามไชย กรุงเทพฯ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ มิวเซียมสยาม ถนนสนามไชย กรุงเทพฯ หมายเลขโทรศัพท์ 0-2225-2777 เว็บไซต์ www.museumsiam.org หรือ www.facebook.com/museumsiamfan

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน