เที่ยววัดนิเวศธรรมประวัติ

สไตล์โกธิก-หนึ่งเดียวในไทย

เที่ยววัดนิเวศธรรมประวัติ – พอเอ่ยถึง .พระนครศรีอยุธยา เชื่อว่าหลายๆ คนคงจะนึกถึงวัดวาอาราม และโบราณสถานต่างๆ อย่างแน่นอน และแน่นอนว่าในพระนครศรีอยุธยานี้มีวัดดังๆ และวัดสำคัญอยู่มากมาย

คราวนี้เลือกเดินทางมายัง .บางปะอิน ใกล้ๆ กรุงเทพฯ ด้วยระยะทางไม่ถึงร้อยกิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางเพียง 1 ชั่วโมงโดยประมาณ ซึ่งยังเร็วกว่าบางวันที่ต้องฝ่าฟันรถติดไปทำงานในเมืองเสียอีก ก็มาถึงจุดหมายปลายทางที่วัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร

ผู้คนส่วนใหญ่ที่มาเที่ยวยังพระราชวังบางปะอินแล้วมักจะข้ามฟากไปเที่ยวกันต่อที่วัดนิเวศธรรมประวัติเช่นกัน วัดแห่งนี้ตั้งอยู่บนเกาะกลางแม่น้ำเจ้าพระยา บนเกาะลอย .บ้านเลน .บางปะอิน .พระนครศรีอยุธยา ฝั่งตรงข้ามพระราชวังบางปะอินพอดี

เที่ยววัดนิเวศธรรมประวัติ

ทางเข้าพระอุโบสถ

เที่ยววัดนิเวศธรรมประวัติ

พระอุโบสถ

เที่ยววัดนิเวศธรรมประวัติ

ภายในพระอุโบสถ

การเดินทางไปวัดนิเวศธรรมประวัติมีทางเดียวคือ นั่งกระเช้าไฟฟ้าข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งที่จอดรถวัดนิเวศธรรมประวัติจะอยู่ติดกับที่จอดรถของพระราชวังบางปะอิน

กระเช้าไฟฟ้าเปิดให้บริการตั้งแต่ 05.30-20.30 . มีเจ้าหน้าที่คอยควบคุมกระเช้าเพื่อรับส่งผู้คนทั้งสองฝั่งที่ต้องเดินทางไปมาตลอดวัน เมื่อมาถึงบนเกาะแล้ว บริเวณทางลงกระเช้าจะมีกล่องรับบริจาคให้ช่วยเหลือค่าไฟ และค่าซ่อมบำรุงกระเช้าซึ่งแล้วแต่ศรัทธาของแต่ละคน

วัดนิเวศธรรมประวัติ สร้างขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เพื่อทรงใช้เป็นสถานที่สำหรับบำเพ็ญพระราชกุศลเมื่อเสด็จฯ แปรพระราชฐานมาประทับยังพระราชวังบางปะอิน ซึ่งพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเลียนแบบโบสถ์ฝรั่ง ใช้ศิลปะแบบโกธิก โดยเฉพาะพระอุโบสถของวัด ที่เป็นอาคารมีโดมหอคอยปลายแหลมอย่างวิหารในสถาปัตยกรรมตะวันตก

ด้านหน้าบริเวณทางเข้าพระอุโบสถมีมุขยื่นออกมา ลักษณะเป็นสามเหลี่ยมหน้าจั่วซ้อนกัน 2 ชั้น รอบผนังพระอุโบสถเจาะช่องหน้าต่างเป็นรูปโค้งปลายแหลมทุกด้านของอาคาร บริเวณท้ายพระอุโบสถเป็นหอระฆังยอดโดมลักษณะรูปกรวยแหลมสูงขึ้นไป 3 ชั้น

แต่ละชั้นนั้นเจาะช่องหน้าต่างเป็นอาร์กแบบโค้งปลายแหลมไว้รอบหอระฆัง ชั้นแรกมีการเจาะช่องหน้าต่างทั้งสี่ด้าน และวางยอดปราสาทจำลองประดับไว้ที่มุมทั้งสี่ด้าน ถัดขึ้นไปชั้นที่ 2 และ ชั้นที่ 3 เจาะช่องหน้าต่างและประดับด้วยกระจกสี 8 ด้าน

บนสุดของยอดทำเป็นโดมปลายแหลม บนหอระฆังมีเจดีย์สำริดปิดทองภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ตรงผนังเบื้องล่างยอดโดมประดับด้วยนาฬิกา บอกเวลาเป็นเลขโรมัน

เที่ยววัดนิเวศธรรมประวัติ

สถาปัตยกรรมแบบตะวันตกที่สวยงาม

เที่ยววัดนิเวศธรรมประวัติ

พระพุทธนฤมลธรรมโมภาส

ส่วนภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธนฤมลธรร โมภาสเป็นพระประธาน ซึ่งออกแบบโดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ โดยใช้การผสมผสานศิลปะแบบประเพณีนิยมกับศิลปะแบบตะวันตกเข้าด้วยกัน

บริเวณฐานชุกชีซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระประธานก็มีลักษณะเหมือนที่ตั้งไม้กางเขนในโบสถ์ ช่องหน้าต่างเจาะไว้เป็นหน้าต่างโค้ง และเมื่อหันกลับมองบนฝาผนังด้านหน้าของพระประธาน จะเห็นพระบรมสาทิสลักษณ์ของรัชกาลที่ 5 ประดับด้วยกระจกสีที่สั่งเข้ามาจากประเทศอิตาลี มีความสวยงามเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งหาชมจากที่ใดในเมืองไทยไม่ได้

นอกจากนี้บริเวณโดยรอบของวัดยังมีจุดที่น่าสนใจอีกหลายแห่ง อาทิ สุสานสวนหินดิศกุลอนุสรณ์ซึ่งรวบรวมหินชนิดต่างๆ เช่น หินปูน หินทราย หินกรวด หินชนวน

และยังเป็นสถานที่บรรจุอัฐิของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และอัฐิของเจ้าจอมมารดาชุ่ม พระสนมเอกในรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นพระมารดาของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และมีอัฐิของเจ้านายราชสกุลดิศกุลอีกหลายองค์

หอพระไตรปิฎกเป็นอาคารทรงจัตุรมุขสองชั้น ขนาด 7.40×7.40 เมตร ก่ออิฐสอปูน ชั้นล่างเป็นพื้นปูกระเบื้องหินอ่อนสีเทา หลังคาเป็นโครงไม้มุงด้วยกระเบื้องจีน เป็นหอเก็บพระคัมภีร์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างรวม 119 คัมภีร์ เมื่อปีพุทธศักราช 2421

หอไตรปิฎกแห่งนี้มีความงามตามแบบศิลปะโกธิกที่นิยมในสมัยกลางที่ประเทศอังกฤษ ภายในเป็นตู้พระไตรปิฎกหกเหลี่ยมบรรจุพระคัมภีร์ทั้งสิ้น

เที่ยววัดนิเวศธรรมประวัติ

พระตำหนักสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

พระตำหนักสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระตำหนักเป็นอาคารสองชั้น ก่ออิฐสอปูน พื้นไม้กระดานทั้งสองชั้น หลังคาโครงไม้มุงด้วยกระเบื้องลอน หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล พระธิดาของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าว่า

เมื่อครั้งเสด็จพ่อทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ได้เสด็จไปจำนำพรรษาอยู่ที่วัดนิเวศฯ เพราะในขณะที่วัดนี้กำลังก่อสร้าง เสด็จพ่อทรงเป็นราชองครักษ์ตามเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงไปทอดพระเนตรการก่อสร้างทุกวัน สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ตรัสว่าวัดนี้เงียบสบาย เจ้านายผนวชก็อยู่ได้เสด็จพ่อจึงทูลรับว่า ถ้าถึงปีทรงผนวชจะเสด็จมาอยู่ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ปลูกตำหนักถวายหลังหนึ่ง

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงผนวชและจำพรรษาที่วัดนี้ เมื่อพุทธศักราช 2426 เพื่อสนองพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่จะให้เจ้านายประจำพรรษาที่วัดนี้บ้าง

พระอาจารย์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ คือ พระอมราภิรักขิต เจ้าอาวาสวัดนิเวศธรรมประวัติ รูปแรก

ในระหว่างที่ทรงจำพรรษาอยู่ที่วัดนี้ได้ทรงตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรมขึ้น และได้ทรงพระราชนิพนธ์ตำราเรียนแบบเรียนเร็ว เล่ม 1” เพื่อใช้สอนนักเรียนที่โรงเรียนของวัดนี้เป็นครั้งแรก

เทวรูปปัญจสิงขรและเทวรูปพระอินทร์ ประดิษฐานอยู่ที่ซุ้มแบบโกธิกติดกับประตูทางเข้าพระอุโบสถ เทวรูปปัญจสิงขรถือพิณอยู่ที่ซุ้มตะวันตก และเทวรูปพระอินทร์เป่าสังข์อยู่ที่ซุ้มตะวันออก

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ช่างปั้นขึ้นเพื่อเลียนแบบนักบุญในศาสนาคริสต์ เดิมเป็นรูปปูนปั้น แต่ต่อมาชำรุดแตกหัก จึงโปรดให้สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นผู้รับสั่งจัดการหล่อขึ้นใหม่ด้วยทองคำสำริดปิดทองคำเปลว และนำไปประดิษฐานแทนองค์เดิม

เที่ยววัดนิเวศธรรมประวัติ

นั่งกระเช้าไฟฟ้าไปวัด

ส่วนด้านหน้าวัดมีศาลาการเปรียญหลังใหม่ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปประธาน ที่มีพระนามว่า พระพุทธทีปังกรวชิรรัศมิ์นาถประชา ซึ่งมีพิธีเปิดเมื่อวันที่ 25 ..2552 พื้นที่อาคารประมาณ 880 ตารางเมตร งบประมาณก่อสร้าง 39 ล้านบาท ออกแบบโดยกรมศิลปากร ด้านหน้าวัดมีความเป็นธรรมชาติ ร่มรื่น มีศาลาให้นั่งพักผ่อน มีต้นไม้ใหญ่มากมาย

ด้วยสถาปัตยกรรมที่งดงามแปลกตา มีเอกลักษณ์ และความสวยงามอย่างที่หาชมที่อื่นได้ยากยิ่ง วัดนิเวศธรรมประวัติจึงเป็นวัดหนึ่งใน .พระนครศรีอยุธยาที่ไม่ควรพลาดโอกาสในการมาเยี่ยมเยือน

การเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว มาตามเส้นทางพหลโยธิน เมื่อถึงประตูน้ำพระอินทร์ ให้ข้ามสะพานวงแหวนรอบนอก จากนั้นให้เลี้ยวซ้ายบริเวณกิโลเมตรที่ 35 สู่ทางหลวงหมายเลข 308 เข้ามาประมาณ 7 กิโลเมตร

ณัฐวุฒิ ทิพย์ประโภชน์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน