งานสลักผสานใบตอง เฉลิมพระเกียรติร.10

คอลัมน์ สดจากเยาวชน

งานสลักผสานใบตอง เฉลิมพระเกียรติร.10 – คณาจารย์ นักศึกษาคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ และคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี บูรณาการศาสตร์ความรู้ คว้าถ้วยพระ ราชทานสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ในการประกวดแกะสลักผัก-ผลไม้ ผสานงานใบตอง ดอกไม้สด ครั้งที่ 21

ในหัวข้อ “เฉลิมพระเกียรติมหามงคล บรมราชาภิเษกเอกอัครรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้า เจ้าอยู่หัว” จัดโดยโรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว กรุงเทพ ฟอร์จูน ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

งานสลักผสานใบตอง

ผศ.เสริมศรี สงเนียม ผู้จัดทำโครงการ และผู้ควบคุมทีมจากสาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ เล่าว่าเข้าร่วมการแข่งขันเป็นปีที่ 2 ในปี 2560 ได้รับรางวัลชนะเลิศถ้วยพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 แนวคิดการออกแบบงานเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ผสมผสานงานแกะสลัก งานดอกไม้และงานใบตองให้ตรงกับหัวข้อการประกวด เช่น แกะสลักฟักทองเป็นเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ พสกนิกรร่วมถวายพระพรชัยมงคล และแกะสลักดอกไม้จากผักผลไม้นานาพันธุ์

งานสลักผสานใบตอง

โดยบูรณาการองค์ความรู้ร่วมกันระหว่างศาสตร์ ฝ่ายศิลปกรรมจัดทำโครงสร้างหลัก แกะสลักพระบรมฉายาลักษณ์ แกะสลักคชสีห์ ราชสีห์ และแกะสลักตัวคนจากเผือกในอิริยาบถต่างๆ ส่วนนักศึกษาเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ทำหน้าที่แกะสลักรายละเอียด เช่น เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ แกะสลักดอกไม้ และประดิษฐ์งานดอกไม้ใบตองแบบไทยประเพณี เมื่อนำทั้งสองศาสตร์มาเกื้อกูลกันทำให้เกิดผลงานที่ประณีตงดงาม

งานสลักผสานใบตอง

อาจารย์ดิษฐวัฒน์ อินนุพัฒน์ ผู้จัดทำโครงการ และผู้ควบคุมทีมจากสาขาวิชาประติมากรรม คณะศิลปกรรมศาสตร์ กล่าวเพิ่มเติมว่าทุกคนในทีมร่วมแรงร่วมใจกันสร้างสรรค์ผลงานที่ตนเองรับผิดชอบเต็มความสามารถ บางอย่างยึดตามรูปแบบ การแกะของรุ่นครูบาอาจารย์ที่สอนต่อๆ กันมา และมีการสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ทำให้เกิดรูปแบบที่หลากหลาย วิจิตรงดงาม นักศึกษาได้เรียนรู้และเสริมสร้างประสบการณ์ตรง ซึ่งแตกต่างจากการเรียนในชั้น

งานสลักผสานใบตอง

ปลา นายธีร์คณาธิป ไพทูรย์ สาขาเทคโนโลยีงานประดิษฐ์สร้างสรรค์ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ เล่าว่าหน้าที่หลักของตนเองคือดูแลเรื่องงานดอกไม้ประดิษฐ์และงานใบตอง ทุกชิ้นบรรจงเรียงร้อยด้วยความวิจิตรงดงาม เพื่อสื่อถึงการเฉลิมพระ เกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 โดยนำความรู้ความสามารถทั้งหมดที่เรียนมาทุ่มเทลงในผลงานชุดนี้

ด้าน ณัฐ นายภูวิพัฒน์ สุภาศรีคงพัฒน์ สาขาเทคโนโลยีงานประดิษฐ์สร้างสรรค์ คณะเทคโนโลยีคหกรรม ศาสตร์ กล่าวว่าการรักษามาตรฐานเเชมป์แกะสลักรางวัลถ้วยพระราช ทานจากครั้งที่ผ่านมาสร้างความกดดันให้ทีมมาก ต้องประชุมวางแผนทุกส่วนของงานอย่างครอบคลุมและตรงกับโจทย์ การทำงานร่วมกับเพื่อนต่างคณะเป็นการพัฒนาศักยภาพของตนเองไปในตัว

งานสลักผสานใบตอง

ปลา ธีร์คณาธิป – ณัฐ ภูวิพัฒน์ – ปู ชลตกานต์ – ขวัญ ขวัญฤดี

ปู นายชลตกานต์ เณรเถาว์ นักศึกษาสาขาวิชาประติมากรรม คณะศิลปกรรมศาสตร์ เล่าว่ารับผิดชอบในส่วนโครงสร้างงานก่อนประดับดอกไม้สด การเกลาโฟม และส่วนประกอบย่อยๆ ของงาน ใช้ทักษะในเชิงศิลปะที่เรียนรู้มาบูรณาการร่วมกับงานฝีมือสาขาคหกรรมศาสตร์ ทุกส่วนของผลงานโดดเด่นและสำคัญ แต่ส่วนที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษคือการแกะพระบรมฉายาลักษณ์และเครื่องราชกกุธภัณฑ์ซึ่งใช้เวลาและทักษะมาก

ขณะที่ ขวัญ น.ส.ขวัญฤดี ภูเต้านา นักศึกษาสาขาวิชาประติ มากรรม คณะศิลปกรรมศาสตร์ เผยว่าการร่วมแรงร่วมใจกันบูรณาการนำองค์ความรู้จากศาสตร์ทั้งสองคณะ และความประณีตในการแกะสลักผักและผลไม้ ศิลปะการจัดวาง และแกะสลักประติมากรรม เกิดเป็นผลงานที่ประจักษ์แก่สายตาคณะกรรมการและประชาชนทั่วไป

งานสลักผสานใบตอง

ปิดท้ายที่ศิษย์เก่าจากคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ บอย นายพัฒนพงษ์ เกิดพุฒ เผยว่าภูมิใจอย่างยิ่งที่ทำชื่อเสียงให้มหาวิทยาลัยที่ตนเองรัก รับผิดชอบการแกะสลักเครื่องราชกกุธภัณฑ์ วาลวิชนีคือพัดกับพระแส้ ธารพระกร และเรือสุพรรณหงส์ แต่ละชิ้นต้องแกะและตั้งใจทำออกมาให้ดีที่สุด ในการทำงานการวางแผนร่วมกันระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้องทั้งสองคณะเป็นหนึ่งเดียวทำให้เกิดเป็นผลงานชิ้นเอกที่สวยงามและประสบความสำเร็จในการแข่งขันครั้งนี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน