หญ้าทะเล

คอลัมน์ รู้ไปโม้ด

โดย น้าชาติ ประชาชื่น

หญ้าทะเล : รู้ไปโม้ดโดย น้าชาติ ประชาชื่น – หญ้าทะเลเป็นยังไงคะ เหมือนหญ้าบกแล้วไปอยู่ในทะเลหรือเปล่า

ทองสง่า

ตอบ ทองสง่า

หญ้าทะเล (Seagrass) เป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญในระบบนิเวศ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งหากินของสัตว์ทะเลนานาชนิดและสัตว์น้ำเศรษฐกิจ อันได้แก่ กลุ่มปลาทะเล กลุ่มกุ้งทะเล หอย และปูม้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นอาหารสำคัญของพะยูนและเต่าทะเล สัตว์น้ำทั้ง 2 ชนิดนี้ กินหญ้าทะเลเป็นอาหารโดยตรง

หญ้าทะเล

แหล่งหญ้าทะเลเป็นแหล่งวางไข่ แหล่งอนุบาลตัวอ่อน เป็นที่อยู่ของปลา กุ้ง ปูม้า หอยชนิดต่างๆ หมึก ไส้เดือนทะเล ตลอดจนสัตว์เล็กๆ มากมาย และยังมีส่วนช่วยกรองและปรับปรุงคุณภาพน้ำ และมีระบบรากที่คอยยึดจับซึ่งป้องกันการพังทลายของหน้าดินได้เป็นอย่างดี

พบเจอได้ทั่วไปทั้งในเขตร้อนและเขตอบอุ่น สำหรับน่านน้ำไทย พบหญ้าทะเลในหลายพื้นที่ เช่น แหล่งน้ำกร่อย หรือปากแม่น้ำที่ติดป่าชายเลน ชายฝั่งน้ำตื้นที่มีพื้นทรายหรือทรายปนโคลน และที่ลึกติดกับแนวปะการัง โดยทั่วไปทางฝั่งทะเลอันดามันมีความอุดมสมบูรณ์มากกว่าฝั่งอ่าวไทย

หญ้าทะเล

ทั้งนี้ในทะเลไทย พบหญ้าทะเลรวม 13 ชนิดพันธุ์ จากจำนวนทั้งสิ้น 58 ชนิดพันธุ์ที่พบทั่วโลก ทะเลฝั่งอันดามันพบหญ้าทะเล 12 ชนิด ขาดเพียงชนิดเดียวคือหญ้าตะกานน้ำเค็มที่พบเฉพาะทางฝั่งอ่าวไทยซึ่งพบหญ้าทะเลทั้งสิ้น 12 ชนิดเช่นกัน โดยไม่พบหญ้าเงาใบใหญ่ ที่เพิ่งมีรายงานการพบทางฝั่งอันดามันเมื่อไม่นานมานี้

ฝั่งทะเลอันดามันพบหญ้าทะเลในพื้นที่ชายทะเลและเกาะต่างๆ ทุกจังหวัด ตั้งแต่จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล ซึ่งมีพื้นที่รวมประมาณ 60,000 ไร่ โดยแหล่งหญ้าทะเลผืนใหญ่ที่สุดในน่านน้ำไทยคือบริเวณเกาะตะลิบง จังหวัดตรัง

หญ้าทะเล

ขณะที่ฝั่งอ่าวไทยพบหญ้าทะเลทั่วไปตามจังหวัดชายฝั่งทะเล 13 จังหวัดและเกาะบางแห่ง ได้แก่ จังหวัดตราด จันทบุรี ระยอง ชลบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 34,500 ไร่ ส่วนในระดับโลก แหล่งที่มีหญ้าทะเลกระจายพันธุ์อยู่มากที่สุดในโลก คือ อ่าวชาร์ก ทางตะวันตกของประเทศออสเตรเลีย มีหญ้าทะเลขึ้นเป็นพื้นที่ประมาณ 1,500 ตารางไมล์

หญ้าทะเลเดิมเคยเป็นพืชที่อยู่บนบกมาก่อน แต่ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตโบราณแบบเดียวกับฟองน้ำหรือปะการัง เป็นกลุ่มของพืชดอกเพียงกลุ่มเดียวที่มีวิวัฒนาการให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในทะเล โดยมีลักษณะโครงสร้างภายนอกคล้ายคลึงกับหญ้าที่เจริญอยู่บนบก ซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วนคือ

1.ราก เป็นส่วนที่ใช้ในการดูดซึมสารอาหารและแร่ธาตุจากในดิน ทั้งยังช่วยในการยึดเกาะกับพื้นดิน ทำให้หญ้าทะเลมีความมั่นคง 2.เหง้า เป็นส่วนของลำต้นที่เจริญคืบคลานไปใต้พื้นผิวดิน และ 3.ใบ เป็นส่วนที่ใช้ในการสังเคราะห์ด้วยแสงเพื่อสร้างอาหาร

ชนิดพันธุ์หญ้าทะเลแบ่งได้ง่ายๆ ตามลักษณะของใบซึ่งแยกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีใบแบนยาว หรือใบกลมยาว และกลุ่มที่มีใบแบนสั้นรูปรี ส่วนการเรียกชื่อหญ้าทะเลก็มีความหลากหลายไปตามพื้นที่ของชุมชนชายฝั่งทะเล และยังมีความแตกต่างกันระหว่างฝั่งอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามัน ดังนี้

1.กลุ่มที่มีใบแบนยาว หรือ ใบกลมยาว หญ้าคาทะเล (Enhalus acorides), หญ้าต้นหอมทะเล (Syringodium isoetifolium), หญ้ากุยช่ายทะเล (Halodule uninervis), หญ้ากุยช่ายเข็ม (Halodule pinifolia), หญ้าตะกานน้ำเค็ม (Ruppia maritima), หญ้าชะเงาใบมน (Cymodocea rotundata), หญ้าชะเงาใบฟันเลื่อย (Cymodocea serrulata) และ หญ้าชะเงาเต่า (Thalassia hemprichii)

2.กลุ่มที่มีใบแบนสั้นรูปรี หญ้าเงา หรือ หญ้าใบมะกรูด หรือ หญ้าอำพัน (Halophila ovalis), หญ้าเงาใบเล็ก (Halophila minor), หญ้าเงาใบใหญ่ (Halophila major), หญ้าเงาใส (Halophila decipiens) และ หญ้าเงาแคระ (Halophila beccarii)

หญ้าทะเล

แหล่งหญ้าทะเลเป็นระบบนิเวศแรกที่รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ บนแผ่นดิน ทั้งที่เกิดจากมนุษย์และเกิดตามธรรมชาติ ชุมชนส่วนใหญ่จะตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้ชายฝั่งทะเล การพัฒนาด้านเกษตรกรรมต่างๆ ทั้งเพาะปลูกและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เช่น กุ้งทะเล ล้วนมีผลกระทบต่อพื้นที่หญ้าทะเลทั้งสิ้น แหล่งหญ้าทะเลและป่าชายเลนจึงเสมือนเป็นประตูกั้นระหว่างกิจกรรมต่างๆ บนฝั่งกับทะเล ซึ่งรวมถึงแนวปะการังด้วย
[email protected]

อ่าน : พะยูน : จากมาเรียมถึงยามีล ถอดบทเรียนการอนุบาลลูกพะยูนไทย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน