องค์กรแห่งความสุข สร้างสมดุลชีวิตกับงาน

องค์กรแห่งความสุข – แนวทางหนึ่งที่องค์กรจะประสบความสำเร็จได้ คือการสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นสุขให้กับคนในองค์กร หากทุกคนมีความสุขย่อมตามมาด้วยผลการทำงานที่มีประสิทธิภาพ และต่อยอดสู่ความสำเร็จได้

ผู้ร่วมเสวนา

3 ภาคีภาครัฐ อย่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันวิจัยสังคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ร่วมเปิด Grand Opening โครงการ กระทรวงทรัพยากรฯ องค์กรแห่งความสุข ที่สโมสร ทหารบก หวังวางรากฐานสู่ต้นแบบแผนยุทธศาสตร์ 20 ปีพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระยะยาว

ภายในงานจัดเสวนา “ทส. งานและคนสร้างสมดุล ทุนที่ยั่งยืน” โดยมี นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดทส. นายสุจิตต์ ไตรพิทักษ์ ที่ปรึกษากรรมการบริหารแผน 4 สสส. นายประกาศิต กายะสิทธิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการ สสส. นายศิริเชษฐ์ สังขะมาน อาจารย์ประจำ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมเสวนา ดำเนินรายการโดย นายกิตติพจน์ เพิ่มพูล รองคณบดี ฝ่ายยุทธศาสตร์และการพัฒนาที่เป็นเลิศ คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน

กิจกรรมในงาน

นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดทส. เผยว่า การสร้างสุขในองค์กร สิ่งสำคัญคือการสร้างความสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัวของคน ถ้าคนมีความสุข งานย่อมมีประสิทธิภาพตามมา แนวคิด Happy Work Place 8 ประการ ก็มีส่วนสำคัญในการสร้างสุขของคนในองค์กร คือ สุขภาพดี น้ำใจงาม สังคมดี ผ่อนคลาย หาความรู้ ทางสงบ ปลอดหนี้ และครอบครัวดี

สำหรับโครงการทส. องค์กรแห่งความสุข นายวิจารย์เล่าที่มาว่า เริ่มต้นจากสำนักงานปลัดกระทรวง ในปี 2556 และขยายผลไปยังหน่วยงานในสังกัดระดับภูมิภาค 76 จังหวัดทั่วประเทศ ความร่วมมือล่าสุดในครั้งนี้ได้รับงบประมาณ 9,598,000 บาท ระยะเวลาโครงการ 2 ปี ตั้งแต่เดือนส.ค.62-ส.ค.64 โดยมีกลุ่มเป้าหมาย 15 หน่วยงาน 41,414 คน

ปลัดทส. ย้ำว่า การดำเนินการโครงการทส. องค์กรแห่งความสุข จะต้องขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องด้วยการสร้างความตระหนักรู้ การกระจายความรู้ ความดี ความสุขสู่หน่วยงาน สนับสนุนการดำเนินงานสู่การต่อยอดชุดความรู้การพัฒนาสุขภาวะองค์กร ที่ถือเป็นแนวทางการปฏิบัติในระดับหน่วยงานอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเสริมสร้างองค์กรแห่งความสุขอย่างยั่งยืน

นายประกาศิตกล่าวเสริมว่า การทำงานของสสส. เราสร้างต้นแบบองค์ความรู้ต่างๆ มากมาย ซึ่งความรู้เหล่านี้ต้องไปนำกับตัวคูณ คือภาครัฐ เพราะภาครัฐถือเป็นผู้นำในการผลักดันนโยบายหลักๆ ของรัฐบาล ซึ่งองค์กรภาครัฐในระดับกรมมีกว่า 150 องค์กรกระจายอยู่ทั่วประเทศ ดังนั้นหากเรามีตัวคูณหรือมีนักสร้างสุของค์กรเป็นจำนวนมาก ก็จะขับเคลื่อนแนวคิดและส่งเสริมให้ทุกหน่วยงานมีกิจกรรมการสร้างเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิตของบุคลากร เพื่อเสริมสร้างองค์กรแห่งความสุขต่อไป

ขณะที่ ดร.ศิริเชษฐ์เผยถึงโมเดลสร้างสุขภาวะองค์กรภายใต้สูตร “5-4-3” ที่ใช้ในกิจกรรมทส. องค์กรแห่งความสุข ว่า โมเดล “5-4-3” จะประกอบด้วยขั้นตอนต่างๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ดังนี้ ในขั้นแรกหลัก “5 ส.” คือ 1.สถานการณ์และปัญหาในองค์กร 2.สร้างแกนนำ 3.สนับสนุนพื้นที่คิด 4.ส่งเสริมสู่การปฏิบัติ และ 5.สื่อสาร เพื่อนำเสนอเผยแพร่

ดร.ศิริเชษฐ์อธิบายต่อว่า จากนั้นให้เริ่มบริหารจัดการสู่กระบวนการ “4 ต.” คือ 1.ติดตั้งความรู้การใช้เครื่องมือให้กับแกนนำนักสร้างสุของค์กร 2.ติดตามเพื่อบ่มเพาะภาคีในการดำเนินงาน 3.เติมเต็มสิ่งที่ยังขาดด้วยวิธีการโค้ช ร่วมถอดบทเรียนความสำเร็จ และ 4.ต่อยอด ยกระดับสู่การเป็นองค์กรสุขภาวะต้นแบบที่มีมาตรฐาน

ส่วนเป้าหมายสุดท้ายแห่งความสำเร็จ ดร.ศิริเชษฐ์แจกแจงว่า ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ 1.สู่องค์กรสุขภาวะอย่างถาวร 2.สู่การ บูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรภาครัฐกับหน่วยงานกำกับนโยบาย และ 3.สู่นโยบายระดับชาติ มีแผนยุทธศาสตร์ระยะยาว โดยเราทุกคนต้องตระหนักถึงความสำคัญของคุณภาพชีวิต การใช้ชีวิตร่วมกันในการทำงาน เกิดเป็นความรู้สึกของการเป็นเจ้าขององค์กรแห่งความสุขนั้นร่วมกัน เพื่อนำไปสู่วัฒนธรรมองค์กรในอนาคต

นายสุจิตต์กล่าวว่า สสส. ต้องการส่งเสริม พร้อมสนับสนุนให้คนไทยทุกคนมีสุขภาพที่ดี ซึ่งจะต้องเริ่มตั้งแต่ การมีร่างกายที่แข็งแรง จิตใจที่แจ่มใส และสติปัญญาที่ดี อันจะนำไปสู่สุขภาวะสังคมในอนาคต

“การจะเริ่มสร้างสังคมให้มีความสุขนั้น ส่วนหนึ่งยังจะต้องเริ่มจากการสร้างความสุขในสถานที่ทำงาน หรือที่เรียกว่าสุขภาวะองค์กร ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อนำไปสู่แนวทางภาคปฏิบัติร่วมกันได้ในองค์กรต่างๆ ทั้งหน่วยงาน ภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรศาสนา โดยทั้งหมดนี้จะต้องไปพร้อมกันทั้งองคาพยพ เพื่อนำไปสู่สุขภาวะสังคมและของประเทศชาติได้ในที่สุด” นายสุจิตต์เผยวิธีการสร้างสุข

วราวุธ ศิลปอาชา

จากนั้นมีพิธีเปิดโครงการ ทส. องค์กรแห่งความสุข โดย นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. เป็นประธานในพิธี โดยเผยว่า ทรัพยากรบุคคล โดยเฉพาะในหน่วยงานราชการที่เป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ การที่ข้าราชการจะทำงานให้สำเร็จและทำเพื่อพี่น้องประชาชนคนไทยได้นั้น ต้องเริ่มจากความสุขในการทำงาน อย่างคำที่ว่า “หางานที่คุณรัก และรักในงานที่ทำ”

“ประมาณ 2 เดือนที่ผมเป็นรัฐมนตรีทส. ผมไม่รู้สึกว่ากำลังทำงาน แต่กลับรู้สึกว่ามีความสุขทุกวินาทีที่ได้ทำงานเพื่อประชาชน และมีความสุขที่ได้ทำงานร่วมกับข้าราชการ อยากให้ข้าราชการมีความสุขในการทำงาน ไม่ว่าจะทางกายและใจ แบ่งเวลาให้ครอบครัวและงานให้ดี เพราะการทำงานย่อมต้องมีแรงกำลังใจมาส่งเสริมให้เราก้าวต่อ และความสุขของเราจะถูกถ่ายทอดไปยังประชาชนคนไทย 70 ล้านคน” นายวราวุธเผยถึงแนวคิดการสร้างสุข

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน