พระเสด็จโดยแดนชล ประวัติศาสตร์แห่งรัชกาล :

ข่าวสดหลากหลาย

พระเสด็จโดยแดนชล ประวัติศาสตร์แห่งรัชกาล – 12 ธันวาคม นี้ จะเป็นวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ ในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพุทธศักราช 2562 ในรัชกาลที่ 10

หลังจากพระราชพิธีนี้ว่างเว้นมานานกว่า 93 ปี

เครือมติชนจัดเสวนาให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับพระราชพิธีนี้มาเป็นระยะ เริ่มจาก สำนักพิมพ์มติชน จัดเสวนาหัวข้อ “พระเสด็จ โดยแดนชล : เรือพระราชพิธี และขบวนพยุหยาตราทางชลมารค” โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ บรรณาธิการหนังสือ “ดวงใจในทรงจำ” และ รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ ผู้เขียนหนังสือ “พระเสด็จโดยแดนชล” ที่งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 24 อิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ 2 เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 12 ต.ค.

จากนั้นวันที่ 18 ต.ค. นิตยสารศิลปวัฒนธรรม เชิญอาจารย์ธงทอง อาจารย์ศานติ และผู้เชี่ยวชาญอีกท่าน คือ อาจารย์ธีรพันธุ์ จันทร์เจริญ มาร่วมเสวนาที่ไอคอนลักซ์ ฮอลล์ ห้างสรรพสินค้าไอคอนสยาม

เนื้อหาโดยสรุปจากการเสวนาทั้งสองงาน รศ.ดร.ศานติกล่าวว่า สมัยก่อนมีการเดินทางใน 2 รูปแบบ คือทางชลมารค และทางสถลมารค แต่ปัจจุบันจะเดินทางโดยสถลมารคเป็นหลัก เรือที่มีอยู่จึงเป็นเรือที่เก็บไว้ถือเป็นเรือพระราชพิธีหลักฐานสำคัญที่มีการกล่าวถึงกระบวนเรือในพระราชพิธี และขบวนเสด็จพยุหยาตราทางชลมารค อย่างชัดเจนจะอยู่สมัยอยุธยา แม้จะมีการอ้างอิงย้อนกลับไปถึงสมัยสุโขทัย แต่หลักฐานที่พบไม่ชัดเจนนัก เพราะแม่น้ำยมก็อยู่ห่างจากสุโขทัย 10 กว่ากิโลเมตร อีกทั้งแม่น้ำยังเป็นเกาะแก่ง หากมีการล่องกระบวนเรือจึงเป็นไปได้ยาก ซึ่งหลักฐานที่ชัดเจนน่าจะเป็นสมัยอยุธยาเสียมากกว่า และมีความเก่าแก่ซ้อนเหลื่อมกับสมัยสุโขทัยเช่นเดียวกัน

ช่วงทศวรรษที่ 19-20 เราเริ่มกล่าวถึงกระบวนเรือ หรือเรือที่ใช้ในพระราชสำนัก โดยสมัยโบราณเส้นทางสัญจรไปมาจะใช้เส้นทางน้ำเป็นหลัก และหากอ่านเอกสารรุ่นอยุธยา จะมีหลักฐานระบุไว้ว่าโรงเรืออยู่ตรงข้ามพระราชวังหลวง ตรงวัดเชิงท่า เรียงรายโดยรอบ มีการแบ่งเป็นเรือรบ เรือไล่ เรือขบวน เรือพระที่นั่ง เรือเหล่านี้มี โรงเรือในลักษณะที่แตกต่างกันไป และพร้อมจะเสด็จพระราชดำเนินได้เลย

หลักฐานสมัยอยุธยาปรากฏในเอกสารสำคัญ คือกฎมณเฑียรบาล ที่กล่าวถึงเรือพระราชพิธีในหลายจุด อาทิ กฎหมายในการรักษาความปลอดภัยทางเรือ เช่น เรือประตู เรือที่เป็นเรือคู่ที่คั่นระหว่างกระบวนเรือ เป็นต้น และใครจะตัดขบวนเรือไม่ได้เด็ดขาด เรือแต่ละลำที่มีหน้าที่ของตนเองว่าใช้ทำอะไร นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึงพิธีแข่งเรือ ต่อด้วยพิธีไล่เรือ หรือพิธีไล่น้ำ โดยพระมหากษัตริย์เสด็จลงเรือพระที่นั่ง และทำพิธีในช่วงเดือน 11 ซึ่งเป็นเวลาที่ข้าวสุกเต็มที่และใกล้เก็บเกี่ยว เพื่อไล่น้ำลงไปหรือทำให้ระดับน้ำลดลง ทั้งยังมีระบุข้อปฏิบัติหากมีพายุใหญ่ขณะเสด็จฯทางชลมารคเอาไว้ เผื่อเป็นการเตรียมตัวหากเกิดเหตุ และการเสด็จชลมารคต้องมีม้าแซงอยู่บนฝั่งด้วยทุกครั้ง

ส่วนขบวนพยุหยาตราทางชลมารคเริ่มมีปรากฏสืบทอดมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ และขบวนพยุหยาตราทางชลมารคที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในสมัยอยุธยา คือ ขบวนเพชรพวง ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งปรากฏหลักฐานว่าพระองค์เสด็จฯแปรพระราชฐานไปยังหัวเมืองต่างๆ เป็นริ้วขบวนยิ่งใหญ่ 5 สาย มีเรือทั้งสิ้น 169 ลำ ในสมัยนี้เองมีหลักฐานปรากฏการข้อบังคับการแต่งกายในเจ้าหน้าที่เรือด้วย

รศ.ดร.ศานติอธิบายถึงเรือพระที่นั่งว่า เรือพระที่นั่งจัดเป็นประเภทต่างๆ ชั้นสูงสุด คือ เรือพระที่นั่งกิ่ง มีความประณีต งดงามที่สุด ความสวยงามมาก รองลงมาคือ เรือพระที่นั่งชัย เหมือนหัวเรือเอกชัย จะแกะสลักและประดับกระจก เช่น เรือพระที่นั่งชลพิมานชัย ในสมัยรัชกาลที่ 3 และเรือพระที่นั่งศรีประภัสสรชัย ในสมัยรัชกาลที่ 4 ต่อมาคือเรือพระที่นั่งศรี เป็นเรือพระที่นั่งที่หัวเรือมีลวดลายสวยงาม สำหรับพระเจ้าแผ่นดินทรงใช้ในเวลาเสด็จลำลอง ไม่ได้เข้ากระบวนเรือพระราชพิธี มีท้องเรือที่แตกต่างด้วยสี แยกตามฐานะ เช่น สีดำ คือวังหน้า ส่วนสีแดง คือ เจ้าต่างกรม เป็นต้น ในสมัยก่อนจึงมีการใช้เรือพระที่นั่งอยู่ตลอด ไม่ได้ใช้เป็นครั้งคราว แล้วแต่ว่าจะโปรดใช้ลำใดเสมือนรถยนต์พระที่นั่งในสมัยนี้

“ในสมัยรัชกาลที่ 1 มีการรื้อฟื้น และสร้างเรือพระราชพิธีขึ้นใหม่หมด นำชื่อต่างๆ กลับมาใช้ด้วย และมีการสร้างเพิ่มเติมเรื่อยมา อย่างเรือสุพรรณหงส์ก็สร้างในรัชกาลที่ 1 ต่อมาได้มีการสร้างเรือสุพรรณหงส์อีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งใช้มาถึงรัชกาลนี้ เมื่อปี 2539 ที่มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มีพายุใหญ่เช่นกัน ครั้งนั้นขบวนเรือก็แตกออก แต่มีเรือยางใช้เครื่องยนต์เข้าประกบเรือพระราชพิธีเพื่อช่วยเหลือ แต่ละยุคสมัยก็มีวิธีการแก้ปัญหาแตกต่างกันไป สุดท้ายการเห่เรือ ในปัจจุบันมีสองแบบ คือเห่แบบกองทัพเรือ และเห่แบบที่ใช้เห่ในการแสดงละคร บทเห่จะเหมือนกันแตกต่างกันในรายละเอียดต่างๆ” รศ.ดร.ศานติ กล่าว

สําหรับเรื่องเครื่องแต่งกายในการเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค อาจารย์ธีรพันธุ์กล่าวว่า มีตำราบันทึกเอาไว้ องค์พระมหากษัตริย์ในโบราณจะสวมผ้าที่มีหลายทองพราวทั้งผืน ตอนนี้ยังคงใช่ผ้า เช่นเดิมในเครื่องแต่งกายของเหล่า เจ้าหน้าที่ในเรือ ตำรวจนุ่งสมปักลาย ผ้า เสื้อ หมวก ดาบ เป็นตัวบอกบรรดาศักดิ์ ผ้าบางส่วนในครั้งนั้นเราต้องสั่งมาจากอินเดีย บางครอบครัวที่ผลิตผ้าให้สมัยก่อนไม่ได้ผลิตแล้ว หวังว่าต่อไปจะมีการฟื้นฟูขึ้นมาอีกเพราะในรัชกาลที่ 10 นี้ถือว่าเราจะได้เห็นประเพณีโบราณมากมายที่นำกลับมาสานต่อ

“ถ้าทรงเรือพระที่นั่งกิ่งเปนพยุหยาตรา มหาดเล็กชาวครื่องขวาได้เชิญพระ ล่วมกุดั่น พระสุพรรณศรีปากแฉกไปวางข้างพระที่นั่ง นอกจากนี้มหาดเล็กจะเชิญพระแสงหอกซัดผูกเรือ พระที่นั่งให้มหาดเล็กชาวเครื่องซ้ายขวาเชิญพานพระขันหมาก หีบหนัง พระเต้า ด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นธรรมเนียนสำคัญ” อ.ธีรพันธ์กล่าว

ด้าน ศ.พิเศษธงทองกล่าวถึงกระบวนเรือตั้งแต่สมัยอยุธยา สืบเนื่องถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ว่า กระบวนเรือทั้งหลายล้วนเป็นกระบวนเรืออเนกประสงค์ แล้วแต่ความจำเป็นในการใช้งาน แต่คำว่าเลียบพระนครปรากฏครั้งแรกในรัชกาลที่ 4 แต่เดิมพระเจ้าแผ่นดินเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทิ้งระยะห่างกับชาวบ้านมาก หากพระเจ้าแผ่นดินจะเสด็จฯทางเรือ ชาวบ้านที่อยู่ติดกับแม่น้ำต้องปิดหน้าต่างประตูบ้านทั้งหมด

แต่เนื่องจากมีรัชกาลที่ 4 มีพระราชดำริถึงความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้าแผ่นดินกับชาวบ้าน และมีการผ่อนผันให้ความสัมพันธ์มีระยะที่ใกล้ขึ้น ซึ่งถือเป็นความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย ไม่เป็นอันตรายต่อกัน”

อย่างไรก็ตาม ในยุคนั้นเป็นยุคที่ยังไม่มีสื่อเผยแพร่ มีเพียงการพูดต่อกันมาถึง พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และจะมีการเลียบพระนคร คือ เสด็จพระราชดำเนินรอบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค ภายหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เพื่อให้ชาวบ้านได้ชื่นชม พระบารมี ทั้งนี้การเลียบพระนครเริ่มมีรูปภาพปรากฏขึ้นในรัชกาลที่ 6 รัชกาลที่ 7 ส่วนรัชกาลที่ 8 ได้มีการเว้นว่าง กระทั่งจนถึงปัจจุบัน

“มีผู้คนเคยถามว่าทำไมรัชกาลที่ 9 จึงไม่มีการเลียบพระนคร หลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เนื่องจากในขณะนั้น เพิ่งผ่านสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ระเบิด ลงเรือพังจำนวนมาก แต่มีเพียงการจัดขบวนพยุหยาตรา แต่ยังไม่ได้มีการเลียบพระนคร” นอกจากนี้ การเสด็จฯเลียบพระนครโดยชลมารคจะต่างจากการเสด็จทอดกฐิน การเสด็จฯเลียบพระนครจะแวะวัดหรือไม่ก็ได้ แต่จะเชิญพระชัยหลังช้าง ร่วมขบวนเพื่อเป็นมงคลในการเสด็จฯด้วย หากเสด็จฯทอดกฐินจะต้องเชิญผ้ากฐินในขบวน สิ่งนี้คือความแตกต่าง

สำหรับรัชสมัยรัชกาลที่ 10 มีการจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารคครั้งแรกในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยจะเสด็จฯพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยกระบวนพยุหยาตราชลมารคจากท่าวาสุกรี เสด็จฯเลียบพระนครไปตามแม่น้ำเจ้าพระยาไปที่ท่าราชวรดิฐ และมีเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เป็นเรือต้นในการอัญเชิญพระพุทธรูปที่สำคัญ ระหว่างที่เสด็จพระราชดำเนิน ประชาชนที่เข้าเฝ้าฯรับ เสด็จจะได้รับฟังกาพย์เห่เรืออันไพเราะ คนที่มาดูจริงจะได้สัมผัสถึงความยิ่งใหญ่ในพระราชพิธีสำคัญทางประวัติศาสตร์ได้มากกว่าคนที่รับชมทางทีวี

“การเสด็จฯโดยขบวนพยุหยาตราชลมารค ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นเรื่องพิเศษมาก เพราะ 1 รัชกาลจะมีเพียง 1 ครั้ง หรือพิเศษมากๆ ก็ 2 ครั้ง และในแต่ละรัชกาลก็จะมีสิ่งที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา ดังนั้นครั้งนี้เราถือว่าโชคดีมากที่จะได้ชมการเสด็จฯโดยขบวนเรือพระราชพิธี อีกครั้งในวันที่ 12 ธ.ค.นี้ จากเดิมที่มีการวางไว้ในวันที่ 24 ต.ค. เนื่องจากกระแสน้ำ สิ่งนี้เป็นนัยยะสำคัญในการเสด็จฯเลียบพระนครทางชลมารคมากจะมองข้าม ไม่ได้” อาจารย์ธงทองกล่าว

ธีรดา ศิริมงคล

นนทวรรณ มนตรี

อ่านข่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน