เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช

คอลัมน์ รู้ไปโม้ด

น้าชาติ ประชาชื่น [email protected]

อยากทราบ รายละเอียด เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช

พัชนี

ตอบ พัชนี

เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช เดิมชื่อเรือหลวงท่าจีน พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานชื่อใหม่ตามพระราชนาม ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

เป็นเรือฟริเกตสมรรถนะสูงที่กองทัพเรือ ดำเนินการจัดหาจากสาธารณรัฐเกาหลี เพื่อใช้ในภารกิจการป้องกันประเทศและการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ระยะเวลาดำเนินโครงการระหว่างปีงบประมาณ 2556-2561 ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 14,997 ล้านบาท

โดยกองทัพเรือว่าจ้างบริษัท DaewOo Shipbuilding & Marine Engineering หรือ DSME ดำเนินการสร้าง และวันที่ 22 ธ.ค.2561 บริษัท DSME ได้ส่งมอบเรือ โดยกำลังพลประจำเรือนำเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดชออกเดินทางกลับประเทศไทยมาถึง ท่าเรือจุกเสม็ด อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 7 ม.ค.2562

รู้ไปโม้ด

เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช หมายเลขเรือ 471 เป็นเรือรบประเภท เรือฟริเกต ขึ้นกับการบังคับบัญชากับกองเรือฟริเกตที่ 1 กองเรือยุทธการ จัดเป็นเรือรบชั้น 1 ของกองทัพเรือ มีกำลังพลประจำเรือ 141 นาย ได้รับการออกแบบและสร้างตามมาตรฐาน ทางทหารของกองทัพเรือชั้นนำ มีระวางขับน้ำสูงสุด 3,700 ตัน ใช้ระบบขับเคลื่อนแบบ CODAG (Combined Diesel and Gas Turbine) ทำความเร็วสูงสุดมากกว่า 30 นอต มีระยะปฏิบัติการในทะเลที่ความเร็ว 18 นอต มากกว่า 4,000 ไมล์ทะเล

มีความคงทนทะเลสูงถึงภาวะทะเลระดับ 8 หรือความสูงคลื่นอย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องรับการส่งกำลังบำรุงไม่น้อยกว่า 21 วัน คุณลักษณะของเรือถูกออกแบบโดยใช้ Stealth Technology เพื่อลดขนาดพื้นที่หน้าตัดการสะท้อนคลื่นเรดาร์ ลดการแผ่รังสีความร้อนจากตัวเรือ และลดการแพร่คลื่นเสียงใต้น้ำ ทำให้ยากต่อการถูกตรวจจับและพิสูจน์ทราบ

เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดชมีขีดความสามารถในการปฏิบัติการรบทางเรือทั้ง 3 มิติ ได้แก่ การรบผิวน้ำ การปราบเรือดำน้ำ และการป้องกันภัยทางอากาศ รวมทั้งยังมีขีดความสามารถโจมตีที่หมายชายฝั่งด้วยอาวุธปล่อยนำวิถี โดยนำเฮลิคอปเตอร์ขนาดไม่เกิน 10 ตัน ไปกับเรือได้ 1 ลำ เช่น เฮลิคอปเตอร์แบบ S-70B Sea Hawk หรือแบบ MH 60S Knight Hawk

นอกจากนั้นยังมีขีดความสามารถตรวจการณ์และการทำสงครามอิเล็กทรอนิกส์ครอบคลุมทุกมิติ ทุกระยะ ด้วยอุปกรณ์ตรวจจับที่มีประสิทธิภาพ ได้แก่ เรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำและอากาศแบบ AMB-EP เรดาร์ตรวจการณ์ทางอากาศระยะไกล แบบ AMB ER โซนาร์แบบ DSQS-24C โซนาร์ลากท้ายแบบ ACTAS-20 ระบบดักรับการแพร่คลื่นเรดาร์ R-ESM และระบบดักรับการแพร่คลื่นวิทยุ C-ESM เป็นต้น

รู้ไปโม้ด

ติดตั้งอาวุธที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูง ได้แก่ ปืนหลักแบบ 76/62 SuperRapid Multi-Feed ปืนกลรองแบบ 30 ม.ม. MSI อาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่พื้นแบบ Harpoon Block II อาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่อากาศแบบ ESSM ระบบป้องกันตนเองระยะประชิดแบบ Phalanx ตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำแบบ MK 54 และระบบแท่นยิงเป้าลวงต่อต้านอาวุธปล่อยนำวิถีและตอร์ปิโดแบบ Soft Kil Weapon System (SKWS) DL-12T และแบบ MK 137

หัวใจในการบริหารจัดการการรบ หรือ Combat Management เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดชได้รับการติดตั้งระบบอำนวยการรบ SAAB 9LV MK 4 ที่ใช้เป็นมาตรฐานในเรือรบหลักของกองทัพเรือ สามารถเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธี หรือ Tactical Data Link กับเรือฟริเกตชุดเรือหลวงนเรศวร และเรือหลวงจักรีนฤเบศร รวมถึงเครื่องบินตรวจการณ์และเตือนภัยล่วงหน้า SAAB 340 AEW8C Erieye และเครื่องบินขับไล่ JAS-39 Gripen ของกองทัพอากาศ จึงทำให้ทุกหน่วยในพื้นที่การรบเห็นและเข้าใจภาพสถานการณ์เดียวกัน ทวีกำลังขีดความสามารถการรบให้กับกองทัพ ส่งผลให้การปฏิบัติการร่วมในลักษณะกองเรือ Battle Group และการปฏิบัติการร่วมกับกองทัพอากาศมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นอกจากขีดความสามารถในการปฏิบัติการรบแล้ว ยังมีขีดความสามารถในการปฏิบัติการทางทหารที่ไม่ใช่สงครามได้ หลากหลายภารกิจเช่นกัน ได้แก่ การบังคับใช้กฎหมายในทะเล การตรวจค้นเรือต้องสงสัย ด้วยเรือ RHIB ที่มีความเร็วสูงมากกว่า 40 นอต 2 ลำ การต่อต้านการก่อการร้ายในทะเล ด้วยการใช้เป็นกองบัญชาการของส่วนควบคุมชุดปฏิบัติการพิเศษและเป็นฐานบินของเฮลิคอปเตอร์ ตลอดจนการปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเล ด้วยการใช้ระบบอำนวยการรบและระบบเดินเรือแบบรวมการวิเคราะห์ทิศทางการเคลื่อนที่ของยานพาหนะหรือผู้ประสบภัยในทะเล การเคลื่อนที่ของ คราบน้ำมันการเคลื่อนที่ของกลุ่มก๊าซที่ลอยในอากาศ

เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดชยังออกแบบมาให้มีขีดความสามารถในการอยู่รอดขณะปฏิบัติการในพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนของสารนิวเคลียร์ เคมีและชีวภาพที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ รวมทั้งการปรับใช้พื้นที่ในโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ที่มีระบบปรับอากาศรองรับ เป็นที่พักชั่วคราวของผู้ประสบภัย ตลอดจนการสนับสนุนการส่งกลับทางสายแพทย์ หรือ MEDVAC จากพื้นที่ประสบภัยบนฝั่งมายังเรือ หรือจากเรือในทะเลไปยังโรงพยาบาลบนฝั่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน