ศิลปะจากหัวปลี เรียนรู้เรื่องกล้วยๆ
คอลัมน์ สดจากเยาวชน
รัตนาภรณ์ ละมูลเจริญ
ศิลปะจากหัวปลี – “เราคิดว่าการที่หัวปลีถูกตัดทิ้งไปมันน่าเสียดาย จึงคิดจะสร้างประโยชน์จากมัน”

หัวปลี
ทุกสิ่งล้วนมีคุณค่าในตัวเอง เพียงแค่เรามองเห็นและดึงส่วนดีๆ เหล่านั้นมาใช้ให้ถูกทาง อย่างเช่นที่ อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่การเกษตร ปลูกมะพร้าว ปลูกไผ่ และปลูกกล้วย

แตง ขนิษฐา
ขนิษฐา อรุณแก้วแจ่มศรี หรือ แตง ศิลปินที่กลับบ้านมาทำเกษตรอินทรีย์ ปลูกไผ่และกล้วย มองเห็นประโยชน์จากหัวปลีที่ถูกเกษตรกรส่วนใหญ่ตัดทิ้งเพื่อให้สารอาหารไปเลี้ยงลูกกล้วยให้ใหญ่และได้ราคา

ศิลปินตัวน้อย

ฝีมือรุ่นใหญ่
“เกษตรกรส่วนใหญ่เน้นการเพิ่มมูลค่ากล้วย โดยมองข้ามหัวปลีไป บางคนตัดทิ้งไปเฉยๆ บางคนตัดไปขายแต่ก็ราคาน้อย 10-20 บาท เราก็คิดว่าจะทำอย่างไรกับสิ่งที่ถูกมองข้ามเหล่านี้ดี จึงนึกถึงยางกล้วย ก็เริ่มทดลองจากสวนของเรา ปรากฏว่าหัวปลีให้น้ำยางเยอะและสีค่อนข้างเข้ม จึงทำให้เกิดเป็นงานศิลปะ”
คุณสมบัติของยางกล้วยที่หลายคนรู้คือ ติดทน ซักล้างไม่ออก เมื่อมองในแง่ประโยชน์แล้วยางกล้วยถือเป็นสีย้อมผ้าที่ดีทีเดียว

น้ำยางที่หยดออกมา
ในยางกล้วยนั้นมีสารประกอบฟีนอล (phenolic compounds) เป็นสารประกอบที่มีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของพืช พบได้ตามพืชหลายชนิด แต่สามารถแปรเปลี่ยนเป็นสารประกอบควิโนน (quinone compounds) ที่ให้สีน้ำตาลเข้มเมื่อสัมผัสกับออกซิเจน ทำให้ยางกล้วยที่ถูกเสื้อผ้า สิ่งทอต่างๆ มีสีน้ำตาลเข้ม ติดทนนาน
“พอหนูวาดไปแรกๆ มันจะไม่ค่อยเห็นสีค่ะ เหมือนเราเอาน้ำไประบาย แต่พอทิ้งไว้สักพักมันจะเป็นสีน้ำตาล” ด.ญ.พลอยแหวน มหาวีระรัตน์ หรือ น้องนนนี่ ได้เรียนรู้และนำยางกล้วยมาแต่งแต้มเป็นศิลปะบนเสื้อจากแตง

นนนี่
นอกจากแตงจะนำยางกล้วยมา สร้างงานศิลปะจนเกิดเป็นรายได้ แตงยังนำมาสอนเด็กๆ และผู้สนใจเรียนรู้อยู่เสมอ เป็นการต่อยอดการเรียนรู้ไม่รู้จบ
“หนูรู้มานานแล้วค่ะว่ากล้วยมียางเยอะมากๆ เวลาเข้าสวนก็ต้องระวัง แต่ทุกวันนี้พี่แตงสอนเรื่องประโยชน์ของยางกล้วย หนูก็ไม่กลัวเลอะค่ะ คิดว่ามันเป็นงานศิลปะ” น้องนนนี่เล่าต่อ
ถึงแม้หลายคนจะเห็นว่ายางกล้วยคือปัญหาในการเก็บกล้วย แต่ในอดีตยางกล้วยถือเป็นยาอย่างหนึ่งเพราะมีสารฝาดสมานหรือเรียกว่า แทนนิน (Tannin) ที่ช่วยรักษาแผลสด สามารถห้ามเลือด แต่มีข้อจำกัดว่าต้องใช้น้ำยางที่ได้จากกล้วยโดยตรง
“จริงๆ แล้วยางจากกล้วยส่วนอื่นๆ ก็ใช้ได้ค่ะ เพียงแต่ส่วนอื่นนั้นให้น้ำยางน้อย แต่ในหัวปลีให้น้ำยางเยอะ” แตงเล่าเสริม
หัวปลีที่ถูกตัดทิ้งจริงๆ มีประโยชน์หลายอย่าง นอกจากให้น้ำยางเยอะเป็นผลดีต่อการสร้างงานศิลปะแล้ว ยังเป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ช่วยเพิ่มน้ำนมให้คุณแม่หลังคลอด รวมทั้งมีสารที่ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด
การนำหัวปลีมาสร้างประโยชน์เช่นนี้ไม่ใช่เพียงการเพิ่มมูลค่าเท่านั้น หากแต่เป็นการดึงส่วนที่เป็นประโยชน์ที่มีอยู่แล้วมาใช้ให้มากขึ้น จากหัวปลีที่ถูกมองข้ามกลับกลายเป็นวัตถุดิบสำคัญที่ข้องเกี่ยวกับชีวิตมนุษย์ เช่นเดียวกับสิ่งอื่นๆ รอบตัว หากเรามองเห็นคุณค่าของสิ่งเหล่านั้นแล้วนำมาใช้ให้ถูกทางก็จะเกิดประโยชน์ต่างๆ ตามมาอีกมากมาย

เด็กๆ เรียนรู้เรื่องกล้วยๆ
พบเรื่องราวของศิลปินตัวน้อยกับเรื่องกล้วยๆ ในรายการทุ่งแสงตะวัน ตอน หัวปลี ART วันเสาร์ที่ 26 ตุลาคม 2562 เวลา 05.05 น. ติดตามข่าวสารรายการได้ทางเพจ Facebook ทุ่งแสงตะวัน