ไทยเจ้าภาพจัดประชุม เวทีรมว.กลาโหมอาเซียน+คู่เจรจา

ไทยเจ้าภาพจัดประชุม เวทีรมว.กลาโหมอาเซียน+คู่เจรจา – ต่อเนื่องจากที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน หรืออาเซียน ซัมมิต ครั้งที่ 35 ไปเมื่อเร็วๆ นี้ ไทยจะเป็น เจ้าภาพอีกวันที่ 16-19 พ.ย.ที่จะถึง เมื่อจัดการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนและประเทศคู่เจรจา หรือ ASEAN Defence Ministers’ Meeting Plus เรียกสั้นๆ ว่า ADMM Plus ครั้งที่ 6

ไทยเจ้าภาพจัดประชุม เวทีรมว.กลาโหมอาเซียน+คู่เจรจา

พล.อ.รักศักดิ์ โรจน์พิมพ์พันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนกลาโหม (ผอ.สนผ.) ให้สัมภาษณ์พิเศษตอบคำถามต่างๆ พร้อมอธิบายว่า การประชุมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นกลไกการหารือด้านความมั่นคงและการป้องกันประเทศในระดับยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา จัดตั้งขึ้นจากความเห็นชอบร่วมกันของประเทศสมาชิกอาเซียนในที่ประชุม รมว.กลาโหมอาเซียน ครั้งที่ 4 เมื่อปี 2553 ที่สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เพื่อส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจ และเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างอาเซียน กับประเทศมหาอำนาจในภูมิภาคให้ครอบคลุมในทุกมิติ ยึดหลักความเป็นแกนกลางของอาเซียน (ASEAN-Centrality) เป็นหัวใจสำคัญต่อการตอบสนองอย่างมีประสิทธิภาพต่อความท้าทายด้านความมั่นคงที่สำคัญของภูมิภาค

ไทยเจ้าภาพจัดประชุม เวทีรมว.กลาโหมอาเซียน+คู่เจรจา

พล.อ.รักศักดิ์ โรจน์พิมพ์พันธุ์

ประเทศคู่เจรจาในกรอบ ADMM Plus มีด้วยกัน 8 ประเทศ ได้แก่ เครือรัฐออสเตรเลีย สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐอินเดีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ สาธารณรัฐเกาหลี สหพันธรัฐรัสเซีย และสหรัฐอเมริกา

แต่ละปีประธานอาเซียนจะรับผิดชอบการเป็นประธานจัดการประชุม ADMM Plus ด้วย สำหรับปีนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 6 ถือว่าเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ในฐานะประธานอาเซียน ทางกระทรวงกลาโหมไทย จึงเป็นประธานจัดการประชุมครั้งนี้

กลไกความร่วมมือภายใต้กรอบการประชุม ADMM Plus มีความร่วมมือที่สำคัญคืออะไรบ้าง

ภายใต้กรอบการประชุม ADMM Plus มีการจัดตั้งกลไกเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาที่สอดคล้องกับความท้าทายด้านความมั่นคงของภูมิภาคมีชื่อเรียกว่าคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ADMM Plus Experts’ Working Groups หรือ ADMM Plus-EWGs ปัจจุบันกลไก ดังกล่าว ประกอบด้วยคณะทำงาน 7 ด้าน หมุนเวียนการเป็นประธานร่วมระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา ในทุกวงรอบ 3 ปี (วงรอบปัจจุบัน เม.ย.2560-เม.ย.2563) ได้แก่

1.คณะทำงานผู้เชี่ยวชาญ ด้านการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ หรือ EWG on Humanitarian Assistance and Disaster Relief มีตัวย่อว่า EWG on HADR มาเลเซียและสหรัฐอเมริกา

2.คณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางทะเล EWG on Maritime Security สิงคโปร์และเกาหลีใต้

3.คณะทำงานผู้เชี่ยวชาญ ด้านการแพทย์ทหาร EWG on Military Medicine เมียนมาและรัฐอินเดีย

4.คณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อต้านการก่อการร้าย EWG on Counter Terrorism ไทยและจีน

5.คณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านการปฏิบัติการรักษาสันติภาพ EWG on Peacekeeping Operations อินโดนีเซียและออสเตรเลีย

6.คณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านการปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม EWG on Humanitarian Mine Action สปป.ลาว และรัสเซีย

7.คณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงไซเบอร์ EWG on Cyber Security ฟิลิปปินส์และนิวซีแลนด์

ไทยเจ้าภาพจัดประชุม เวทีรมว.กลาโหมอาเซียน+คู่เจรจา

Singapore Ministry of Defence

ไทยเจ้าภาพจัดประชุม เวทีรมว.กลาโหมอาเซียน+คู่เจรจา

การฝึกซ้อมความมั่นคงทางทะเล

● การประชุม ADMM-Plus มีโครงสร้างการประชุมเป็นอย่างไร

มีลักษณะ เช่นเดียวกันกับการประชุม ADMM ประกอบด้วยการประชุมระดับคณะทำงาน ASEAN Defence Senior Officials’ Meeting Plus-Working Group : ADSOM Plus WG ระดับ ผอ.สนผ.กลาโหม และการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส เป็นระดับปลัดกระทรวงกลาโหม ตามลำดับ เพื่อเตรียมการสำหรับจัดการประชุม ADMM Plus ซึ่งเป็นระดับรัฐมนตรี

กระทรวงกลาโหมจัดการประชุม ADSOM Plus-WG เมื่อ วันที่ 2 มี.ค.62 ที่จ.ภูเก็ต และจัดการประชุม ADSOM Plus เมื่อวันที่ 4 เม.ย.2562 ที่จ.เพชรบุรี

ไทยเจ้าภาพจัดประชุม เวทีรมว.กลาโหมอาเซียน+คู่เจรจา

การประชุมทั้งสองวาระประสบผลสำเร็จไปได้ด้วยดี โดยหัวข้อการประชุมหลักๆ จะเป็นการรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน การพิจารณาการดำเนินความร่วมมือ และเอกสารที่เสนอจากประเทศสมาชิก ก่อนเสนอให้ที่ประชุม ADMM- Plus ให้การรับรองหรือรับทราบ รวมทั้ง การเตรียมการจัดการประชุม ADMM Plus

● ที่ผ่านมากระทรวงกลาโหมไทยมีบทบาทอย่างไรในการเสริมสร้างความมั่นคงในภูมิภาค

กระทรวงกลาโหมยึดแนวทางตามรัฐบาลที่ว่า “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” กระทรวงกลาโหมได้จับคู่กับกลาโหมสหพันธรัฐรัสเซีย เป็นประธานร่วมในคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ทหาร วงรอบ เม.ย.2557-เม.ย.2560 โดยมีผลการดำเนินงานที่สำคัญคือการจัดการฝึกร่วมระหว่างคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ ภายใต้รหัสการฝึก AM-Hex-2016 ที่ประเทศไทย เมื่อปี 2559

นอกจากนั้น การเป็นประธานร่วมคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ทหาร ยังเป็นส่วนสำคัญในการจัดตั้งศูนย์แพทย์ทหารอาเซียน (ASEAN Center of Military Medicine : ACMM) ซึ่งเป็นความคิดริเริ่มของไทยขึ้นในปี 2558 และได้รับการบรรจุในภาคผนวก 1 ของกฎบัตรอาเซียน เมื่อ มิ.ย.62 ที่ผ่านมา ทำให้เป็น ACMM ได้รับการรับรองให้เป็นองค์กรของอาเซียนอย่างเป็นทางการ

ไทยเจ้าภาพจัดประชุม เวทีรมว.กลาโหมอาเซียน+คู่เจรจา

Getty Imgaes

สำหรับการเป็นประธานร่วมในคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อต้านการก่อการร้ายของไทยร่วมกับจีน ในวงรอบปัจจุบันนั้น จัดการฝึกซ้อมแผนบนโต๊ะ (Table-Top Exercise:-TTX) ขึ้น ระหว่าง 1-7 ก.ย.2562 ที่ประเทศไทย เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านการต่อต้านการก่อการร้าย และจัดทำระเบียบปฏิบัติประจำการวางแผนการต่อต้านการก่อการร้ายในเมืองของกองกำลังต่อต้านการก่อการร้ายเฉพาะกิจ ซึ่งจะนำไปทดสอบในการฝึกภาคสนาม กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-22 พ.ย.2562 ที่จีน

ทั้งนี้ ในการจับคู่การเป็นประธานร่วมในคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในวงรอบต่อไป (เม.ย.2563-เม.ย.2566) กระทรวงกลาโหมไทยและสหรัฐอเมริกา ได้รับความเห็นชอบการเป็นประธานร่วมในคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางทะเล

● การจัดประชุม ADMM Plus ในปีนี้ ในฐานะไทยเป็น เจ้าภาพ เตรียมความพร้อมอย่างไร

กระทรวงกลาโหมเตรียมการจัดการประชุม ADMM และ ADMM Plus มาเป็นลำดับ มีการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายการประชุม ซึ่งปลัดกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน และมีผู้บังคับบัญชาระดับสูงของ บก.ทท. และเหล่าทัพ ร่วมเป็นคณะกรรมการ เพื่อกำหนดนโยบายและให้การตกลงใจต่อแผนการปฏิบัติ

นอกจากนั้น ยังได้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการจัดการประชุมประกอบด้วย

1.อนุกรรมการด้านสารัตถะ อำนวยการและประสานงาน 2.อนุกรรมการด้านพิธีการและสันทนาการ 3.อนุกรรมการ ด้านการรักษาความปลอดภัย 4.อนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์ และ 5.อนุกรรมการด้านการสนับสนุนและอำนวยความสะดวก ซึ่งองค์ประกอบของอนุกรรมการ มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอก กลาโหมร่วมเป็นอนุกรรมการ โดยคณะกรรมการนโยบาย และอนุกรรมการ ได้มีการประชุมวางแผน และประสานการปฏิบัติเพื่อเตรียมการจัดการประชุมมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การจัดการประชุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ประสบความสำเร็จ สมเกียรติของกระทรวงกลาโหม และประเทศไทย ในฐานะประธานอาเซียนในปี 2562

ไทยเจ้าภาพจัดประชุม เวทีรมว.กลาโหมอาเซียน+คู่เจรจา

● ประเด็นที่ไทยเตรียมเสนอต่อที่ประชุม ADMM Plus ครั้งนี้มีอะไรบ้าง

การประชุม ADMM Plus ครั้งที่ 6 จะมีเอกสารผลลัพธ์เป็นแถลงการณ์ร่วมของรมว.กลาโหมอาเซียน กับ รมว.กลาโหมประเทศคู่เจรจา ว่าด้วยการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนเพื่อความมั่นคงที่ยั่งยืน เพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจ และเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างอาเซียนและประเทศคู่เจรจาให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน ซึ่งจะมีการรับรองแถลงการณ์ร่วมฯ ในห้วงการประชุม ADMM Plus ครั้งที่ 6 นอกจากนั้น ยังมีผลลัพธ์ของการดำเนินความร่วมมือในกรอบ ADMM Plus ที่สำคัญ ได้แก่ 1.การประเมินผลการดำเนินงานของคณะทำงาน ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งประเทศสมาชิกเห็นชอบให้คงการดำเนินงานของคณะทำงานที่มีอยู่ทั้ง 7 ด้านต่อไป เนื่องจากยังมีความจำเป็นต่อการเสริมสร้างความร่วมมือให้เกิดความเข้มแข็ง และสอดคล้องกับภัยคุกคาม ด้านความมั่นคงในปัจจุบันของภูมิภาค 2.การจับคู่เป็นประธานร่วมในคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในวงรอบต่อไป (เม.ย.2563 – เม.ย.2566) และ 3.การจัดการฝึกของคณะทำงาน ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านทั้ง 7 ด้าน

ไทยเจ้าภาพจัดประชุม เวทีรมว.กลาโหมอาเซียน+คู่เจรจา

การประชุม ADMM Plus อินเดีย-รัสเซีย

สำหรับกำหนดการการประชุม ADMM Plus ในครั้งนี้ กำหนดจัดขึ้นระหว่าง 16-19 พ.ย.2562 โดยในห้วงการประชุม มีกิจกรรมที่สำคัญที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่วันที่ 16 พ.ย. เป็นการหารือทวิภาคี, วันที่ 17 พ.ย. การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน อย่างไม่เป็นทางการ หรือ ADMM Retreat การประชุมรัฐมนตรีอาเซียน+1 อย่างไม่เป็นทางการ (ADMM+1 Informal Meeting)

วันที่ 18 พ.ย. พิธีเปิดงาน Defense & Security 2019 การประชุม ADMM Plus ครั้งที่ 6, การส่งมอบการเป็นประธานการประชุม ADMM ให้กับกลาโหมเวียดนาม และวันที่ 19 พ.ย. กิจกรรมสันทนาการ กิจกรรมที่เมืองทองธานี มีเรื่องของอุปกรณ์ป้องกันประเทศ และการรักษาความปลอดภัย ที่มีการจัดเป็น ครั้งแรก โดยจะมีการจัดการสาธิตทั้งภายนอก และภายในอาคาร ซึ่งเราต้องการนำยุทโธปกรณ์กว่า 400 บูธ ที่ประเทศไทยได้คิดค้นและพัฒนามาแสดงโชว์ ซึ่งอนาคตเราต้องพึ่งพาตนเองได้ และยังสามารถนำไปขายให้กับต่างประเทศได้

● ผลที่คาดว่าจะได้รับจากการประชุม ADMM Plus ในครั้งนี้

การเป็นประธานการประชุม ADMM และ ADMM Plus ของกระทรวงกลาโหมในปีนี้ ดำเนินการตามแนวคิดหลักของการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนของไทย คือ “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” หรือ Advancing Partnership for Sustainability ที่ต้องการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนของความร่วมมือ ทั้งภายในและภายนอกอาเซียนให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนในทุกมิติ มองไปข้างหน้า ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพื่อดำรงไว้ซึ่งสันติภาพ เสถียรภาพ และความรุ่งเรืองของภูมิภาคอย่างยั่งยืน

มิติด้านความมั่นคงของประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน กระทรวงกลาโหมกำหนดแนวคิดในการเสริมสร้างความร่วมมือ ในกรอบ ADMM และ ADMM Plus ในรูปแบบของ 3S

S1 เป็นแนวความคิดหลัก คือ “ความมั่นคงที่ยั่งยืน” หรือ Sustainable-Security มีผลลัพธ์เป็น ปฏิญญาร่วมของรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนว่าด้วยความมั่นคงที่ยั่งยืน ซึ่งจะมีการลงนาม กันในห้วงการประชุม ADMM ครั้งที่ 13 ทั้งแถลงการณ์ร่วม ของ รมว.กลาโหมอาเซียน กับ รมว.กลาโหมประเทศคู่เจรจา ว่าด้วยการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนเพื่อความมั่นคงที่ยั่งยืน ซึ่งจะมีการรับรองในห้วงการประชุม ADMM Plus ครั้งที่ 6

ไทยเจ้าภาพจัดประชุม เวทีรมว.กลาโหมอาเซียน+คู่เจรจา

ความร่วมมือระหว่างสิงคโปร์และเกาหลีใต้

สำหรับ S2 และ S3 เป็นแนวคิดสนับสนุน

S2 คือการบูรณาการ เสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด หรือ Strengthening, consolidating and optimizing defence cooperation มีผลลัพธ์เป็นเอกสารแนวความคิดว่าด้วยการประเมินผลความคิดริเริ่มต่างๆ ในกรอบ ADMM ให้การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่เกิดประโยชน์สูงสุด และสอดคล้องกับสภาวะแวดล้อมด้านความมั่นคงในปัจจุบันของภูมิภาค

S3 คือ การสนับสนุนกิจกรรม คาบเกี่ยวระหว่าง เสาความ ร่วมมือ หรือ Supporting cross pillar activities มีผลลัพธ์เป็นเอกสารแนวความคิดว่าด้วยบทบาทของฝ่ายทหารอาเซียนในการสนับสนุนการบริหารจัดการชายแดน และเอกสารเพื่อการหารือว่าด้วยการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม หรือ IUU Fishing

เอกสารทั้งสองฉบับเป็นความริเริ่มของไทยที่จะนำขีดความสามารถของฝ่ายทหารอาเซียนไปสนับสนุนให้เกิดสภาวะแวดล้อมด้านความมั่นคงที่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินความร่วมมือของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ให้ดำเนินไปอย่างราบรื่น

ชูชาติ แก้วเก่า

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน