คอลัมน์ ข่าวสดหลากหลาย

มัธธาณะ รอดยิ้ม

ไม่นานมานี้ นายคัตซิฮิโกะ โตกุนากะ ช่างภาพผู้เชี่ยวชาญในการถ่ายภาพการบิน เดินทางแวะมาที่สำนักงานของบริษัท นิคอน เซลล์ กรุงเทพฯ เพื่อให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงประวัติและเทคนิคการถ่ายภาพการบิน พร้อมกับ นายฮิเดฮิโกะ ทานากะ ประธานและกรรมการผู้จัดการบริษัทที่คอยเสริมจังหวะอธิบายเทคนิคของการถ่ายภาพการบิน

ช่างภาพชาวญี่ปุ่นระดับมือเซียนเล่าว่า เริ่มสนใจเครื่องบินตั้งแต่วัยเด็ก เริ่มจากงานอดิเรกในการระบุลักษณะเครื่องบิน และพยายามถ่ายหรือที่เรียกว่า สปอตเตอร์ (Spotter) จนกระทั่งเข้ามหาวิทยาลัยจึงมีโอกาสได้ทำงานกับนิตยสารแห่งหนึ่งในญี่ปุ่น และมีโอกาสเดินทางออกไปนอกประเทศเพื่อถ่ายภาพ

“ในสมัยก่อนที่ยังไม่มีอินเตอร์เน็ต ใครอยากเสนอแผนให้กับนิตยสารก็สามารถทำได้ แค่เขียนแผนงานไปหา นิตยสารก็จะมีการเสนองานให้ ในขั้นตอนแรกทุกอย่างใหม่หมด แต่ทุกอย่างก็เป็นไปตามขั้นตอน ซึ่งในช่วงผมเรียนมหาวิทยาลัย ตอนนั้นผมถือว่าเป็นช่างภาพกึ่งอาชีพ” นายโตกุนากะเล่าถึงอดีต

งานใหญ่งานแรกของช่วงชีวิตช่างภาพสำหรับนิตยสารคือ การถ่ายรูปเครื่องบิน นอร์ธรอป เอฟ-20 (Northrop F-20) และเป็นงานใหญ่งานแรกที่ทำให้ช่างภาพผู้ก้าว จากมือสมัครเล่นเป็นมืออาชีพเต็มขั้น

สำหรับการก้าวเป็นอาชีพช่างภาพการบิน นอกจากฝีมือแล้วยังมีโชคเข้าช่วยทำให้ นายโตกุนากะสามารถโลดแล่นในวงการนี้ได้

“งานนี้เป็นงานที่พิเศษมีแค่คนเดียวเท่านั้นที่ขึ้นบินได้ในฐานะช่างภาพ ผมโชคดี ผมเจอคนถูกจังหวะถูกเวลา และมีโอกาสได้ไปสหรัฐ และไปยุโรป ในช่วงเวลานั้นเป็นเรื่องยากที่จะเห็นคนญี่ปุ่นเป็นช่างภาพการบินในยุโรป จึงมีโอกาสได้คอนเน็กชั่น” โตกุนากะเล่าถึงโอกาสที่ได้รับ

ด้วยงบประมาณอุตสาหกรรมการบินที่ลดลงรวมไปถึงงบประมาณกองทัพในหลายๆ ประเทศ ดังนั้นการถ่ายรูปการบินแต่ละครั้งย่อมใช้เงินสูง โตกุนากะระบุว่า การถ่ายภาพใช้งบฯ สูงมากเนื่องจากการขึ้นบินถ่ายภาพบนอากาศแต่ละครั้งใช้งบฯ สูงถึงราว 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณกว่า 690,000 บาท) หลายแห่งที่จ้างไปไม่ยอมเสียเงินง่ายๆ ถ้าผลงานไม่ดีก็ไม่ได้โอกาสให้ขึ้นบินถ่ายรูป

ส่วนการฝึกฝนโตกุนากะเปิดเผยว่าทุกอย่างมาด้วยประสบการณ์ เพราะการถ่ายรูปบนอากาศต้องบินบ่อยๆ เพื่อให้มีประสบการณ์เยอะๆ ไม่ใช่แค่ถ่ายรูปอย่างเดียวต้องรู้จักการบินอีกด้วย

ด้านความแตกต่างการถ่ายภาพการบินกับถ่ายภาพทั่วไป โตกุนากะอธิบายว่า การถ่ายรูปยานพาหนะทั่วไปอย่างรถแข่งฟอร์มูล่าวัน ช่างภาพเพียงแค่จับภาพ ส่วนการถ่ายภาพเครื่องบินคือการกำหนด ทุกอย่างด้วยตัวเอง สตูดิโอคือท้องฟ้าและนักบินคือผู้ช่วยช่างภาพ

“ก่อนขึ้นบินจะมีทีมเข้ามาช่วยกัน การจัดแสงต้องดูเวลาของแสงอาทิตย์ และต้องมีการพูดคุยกับนักบินก่อน เพื่อให้นักบินบินได้ถูกต้องรวมไปถึงวัตถุต่างๆ ที่ช่างภาพต้องการอยู่ในรูป” นายทานากะเสริม

การบินและการถ่ายภาพแต่ละครั้งจะมีเวลาการประชุมงาน 1 ชั่วโมงก่อนลงมือ ทีมงานทั้งหมดต้องเอาใจใส่ทุกขั้น และช่างภาพต้องเป็นผู้กำหนดและการอธิบายให้ทีมรวมถึงนักบินฟัง

“การบินแต่ละครั้งต้องคุยกับนักบินตลอดเพราะนักบินที่เจอมักจะไม่ซ้ำหน้าและต้องอธิบายให้ชัดเจนว่าจะเกิดอะไรอย่างไร ต้องการ แสงด้านไหนก็ให้นักบินบินทิศนั้นหรือหันไป นอกจากนี้ต้องเขียนสตอรี่บอร์ดหรือการเขียนกรอบแสดงเรื่องราว เพราะทุกเวลามีค่าตั้งแต่วินาทีที่ขึ้นบิน ความสำคัญคือการเตรียมการและความปลอดภัยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 90 ส่วนร้อยละ 10 เป็นการถ่ายรูป” โตกุนากะเล่าถึงวิธีการ

ข้อสำคัญที่สุดในการถ่ายรูปบนฟ้าคือ เรื่องความปลอดภัย โตกุนากะย้ำว่าการถ่ายภาพจากบนฟ้าจะต้องคำนึงความปลอดภัยและประสิทธิภาพให้มากที่สุดมากกว่าการ ถ่ายภาพตั้งแต่เครื่องบินขึ้นจนเครื่องบินลง

การถ่ายรูปบนฟ้าจะมีปัญหาด้านระบบ แม่เหล็กที่รบกวนการบิน (EMI-Electronic Menetic Interferecnce) ซึ่งทางสหรัฐทำวิจัยค่าดังกล่าวและอนุญาตให้กล้องนิคอนแค่ 9 รุ่นเท่านั้นที่ผ่านระดับในการนำกล้องขึ้นไปถ่ายระหว่างการบินของทางกองทัพการบินสหรัฐและกองทัพเรือได้

หนึ่งในรุ่นนั้นโตกุนากะเผยว่าคือรุ่น D60 ที่เป็นโมเดลเก่าแต่มีคุณภาพ

“นิคอนมีเทคโนโลยีการถ่ายภาพที่ดีและอยู่ในธุรกิจการถ่ายรูปของวงการสื่อสารมวลชนมานานรวมถึงการถ่ายภาพบนอากาศ แบรนด์อื่นไม่ค่อยอยากลงทุนเพราะตลาดการถ่ายภาพบนอากาศคิดเป็นร้อยละ 1 ของตลาดทั้งหมดเท่านั้น ดังนั้นหลายบริษัทจึงไม่เอา สวนทางกับนิคอนสนับสนุนธุรกิจด้านนี้มาตั้งแต่ตอนแรก” โตกุนากะอธิบาย

ส่วนทานากะเล่าเพิ่มเติมว่า นิคอนกับการถ่ายภาพบนท้องฟ้าและอวกาศเริ่มมาตั้งแต่โครงการอะพอลโลขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐ หรือนาซ่า โดยนิคอนเป็นผู้ผลิตไม่กี่เจ้าที่ได้รับเลือกไปอวกาศรวมไปถึงผลิตกล้องโทรทรรศน์ด้วย

ความท้าทายในชีวิตการทำงานของโตกุนากะคือการเดินทางไปต่างประเทศและต้องเผชิญหน้ากับปัญหาเฉพาะเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเมืองภายใน เอกสารต่างๆ ที่ต้องจัดการ

“ในทุกประเทศมีปัญหาภายในตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง การเข้าไปยังฐานทัพที่จะต้องใช้ใบอนุญาต การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคภัยที่จะต้องมีใบรับรอง ซึ่งการเดินทาง บ่อยๆ ก็จะต้องมีพวกใบรับรองต่างๆ ตลอดเวลา” ช่างภาพสูงประสบการณ์กล่าว

ส่วนอนาคตการทำอาชีพช่างภาพการบินสำหรับคนรุ่นใหม่ นายโตกุนากะมองว่ายากมากแทบจะไม่มีโอกาสเลยในอนาคต เพราะว่าพวกอุตสาหกรรมการบินก็ลดต้นทุนลง ซึ่งบรรดาธุรกิจพวกนี้งบฯ น้อยลงและมีขนาดเล็กลง ส่วนทางการกับการทำอาชีพนี้ต้องใช้งบฯ สูงในการขึ้นบินเพื่อถ่ายรูปแต่ละครั้ง ตลอดจนการเกิดขึ้นของบรรดาดีไซเนอร์ด้านกราฟิกที่เข้ามาแทนที่ ทำให้โอกาสสำหรับคนรุ่นใหม่ๆ ที่อยากทำมีน้อยลง

“ผมคิดว่าก่อนหน้านั้นอาชีพนี้สนุก แต่ยากที่จะประทังชีวิตครับ”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน