คอลัมน์ สดจากเยาวชน

วสวัณณ์ รองเดช

พื้นที่ในโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ก ชักพาผู้คนที่ห่างเหินกันไปแสนนานให้กลับมาพบกันได้อย่างน่าอัศจรรย์

ในวาระที่ทุ่งแสงตะวัน รายการที่เด็กดูได้ผู้ใหญ่ดูดี ครบรอบ 25 ปี ทีมงานได้รับข่าวสาร มากมายจากเด็กๆ ที่เคยร่วมรายการในวันวาน

วันหนึ่งเพจรายการทุ่งแสงตะวันก็พลันปรากฏข้อความจากชายหนุ่มเมืองใต้ ลูกทะเลตรัง วิชาญ คงสมุทร ส่งคำทักทาย พร้อม คำชวนให้ทุ่งแสงตะวันย้อนกลับไปเยือนหมู่บ้านของเขาอีกครั้ง

“สวัสดีครับพี่ๆ ทุ่งแสงตะวัน ผมอยากให้พี่ๆ กลับมาเยี่ยมหมู่บ้านของเรา ผมและน้องชายเคยถ่ายรายการกับพี่นกในปี 2534 ไปปลูกป่า ชายเลนกับพี่นกครับ และตอนนี้ป่าชายเลนของเราเติบโตขึ้นและอุดมสมบูรณ์มาก อยากให้พี่นกและทีมงานกลับมาถ่ายทำอีกครั้งครับ”

วิชาญ และ วิเชียร คงสมุทร หรือ ใหญ่ และ เล็ก เป็นพี่น้องฝาแฝดที่เคยร่วมฉายแสงในทุ่งแสงตะวันเมื่อวันวาน 25 ปีที่ผ่านไปเติบใหญ่เข้าสู่วัยแสวงหา ผ่านช่วงเวลาของวัยหนุ่มที่ชีวิตเต็มไปด้วยการ ผจญภัย เรียนรู้โลกแห่งชีวิตจริง ผ่านประสบการณ์บทเรียนมากมาย

ทั้งคู่ออกจากบ้านในวัยที่ยังมีแรงพลังมากมาย เริ่มต้นทำมาหากิน เริ่มต้นชีวิตที่เป็นของตนเอง และเริ่มสร้างครอบครัว เมื่อการเดินทางล่วงเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ ความรู้สึกนึกคิด การมองโลกก็เปลี่ยนไป เริ่มคิดถึงชีวิตอย่างลึกซึ้ง ไตร่ตรอง ใคร่ครวญ และถึงเวลาลงหลักปักฐาน

หากหมุนเวลาย้อนกลับไป เราอาจจะประหลาดใจที่พบว่าความประทับใจ ในวัยเด็กมักมีผลผลต่อการใช้ชีวิตในวัยผู้ใหญ่ เช่นเดียวกับใหญ่และเล็ก แห่ง ทุ่งแสงตะวันในวันวาน

ในปี พ.ศ.2534 ทุ่งแสงตะวันมีโอกาสพบเด็กชายฝาแฝดแห่งหมู่บ้านทุ่งทอง อ.สิเกา จ.ตรัง ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาที่สังคมไทยมีการทบทวนปัญหา สิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่เกิดขึ้นขนานใหญ่ มีการเริ่มต้นฟื้นฟูป่าชายเลนบริเวณบ้านทุ่งทองและใกล้เคียง ฝาแฝดในวัย 7 ขวบ เข้าร่วมกิจกรรมปลูกป่ากับเด็กๆ และผู้ใหญ่ในหมู่บ้านอย่างกระตือรือร้น จากวันนั้น ป่าชายเลนและเด็กๆ บ้านทุ่งทอง ก็เติบโตไปพร้อมกัน ผ่านมา 25 ปีแล้ว

 

ภาพที่น่ายินดีเมื่อพี่นกและทีมงานรายการทุ่งแสงตะวันย้อนกลับไปเยือนป่าชายเลนผืนเดิมนั้นอีกครั้ง ในปี พ.ศ.2560 ก็คือสภาพป่าชายเลนเขียวครึ้มแน่นขนัดเป็นบริเวณกว้างสุดสายตา พื้นที่ป่าชายเลนบ้านทุ่งทองเป็นตัวอย่างของป่าชายเลนที่เสื่อมโทรมจากการสัมปทานป่าในยุคโน้น แล้ว กลับดีขึ้นเพราะพลังชาวบ้าน

 

วิชาญกล่าวว่า “ทุกวันนี้ก็ยังเป็นเหมือนเดิม ยังมีกิจกรรมอนุรักษ์เหมือนเมื่อก่อน เปิดโอกาสให้เด็กๆ เข้ามาร่วม ปลูกป่า มีคณะกรรมการดูแลป่า มีกฎกติกาที่ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี เพราะหมู่บ้านของเราอยู่กันแบบพี่น้อง”

วิเชียร แฝดน้อง กล่าวเสริมในส่วนของการร่วมมือกันในหลายส่วนว่า “ภาครัฐอย่างกรมป่าไม้ก็เข้ามาช่วยดูแล มีการร่วมมือระหว่างฝ่ายรัฐกับชุมชน เพื่อช่วยกันคิดว่าควรใช้ประโยชน์จากป่าอย่างไรให้พอดี”

 

ป่าชายเลนที่วิชาญและวิเชียร คงสมุทร เคยปลูกไว้ ให้ผลเห็นชัดในวันนี้ มีป่าสมบูรณ์โอบอุ้มสัตว์น้ำ ปู ปลา อาหาร หมุนเวียนให้พึ่งพาตามฤดูกาล การทำมาหากินสะดวกสบายขึ้น เศรษฐกิจดีขึ้น เรียกได้ว่าเด็กๆ รุ่นลูกรุ่นหลานโชคดีได้รับผลจากการที่เด็กๆ ยุคโน้นเคยอนุรักษ์ไว้ เป็นความภูมิใจของพี่น้องฝาแฝดในวันนี้

 

พี่นก นิรมล เมธีสุวกุล พิธีกรรายการทุ่งแสงตะวัน กล่าวถึงการได้พบและพูดคุยกับ วิชาญ-วิเชียร คงสมุทร ในวัยผู้ใหญ่ว่า “กิจกรรมดีๆ เป็นความประทับใจในวัยเด็ก เป็นต้นทุนสำคัญสำหรับเด็กๆ ในการเติบโตต่อ และจะเป็นต้นทุนที่ดีที่จะให้พวกเขาส่งต่อโลกแห่งความดีงามนั้นไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลานต่อไปในอนาคต”

จากฝาแฝดวัย 7 ขวบ ที่เคยบอกเล่าเรื่องราวในรายการทุ่งแสงตะวันเมื่อครั้งโน้น ในวันนี้โลกเล็กๆ ของเด็กเมื่อวันวานจะเป็นอย่างไร ชวนไปพบกับมุมมองความคิดและชีวิตของอดีตนักอนุรักษ์ตัวน้อย เมื่อ 25 ปีก่อน ในวันที่พวกเขาเติบโตมีครอบครัว เรื่องราวของวิชาญ-วิเชียร คงสมุทร แห่งท้องทะเลตรัง ในทุ่งแสงตะวันชุดพิเศษ วันนี้ของวันวาน เสาร์ที่ 22 เมษายนนี้ ทางช่อง 3 ช่อง 33 และช่อง 13 เวลา 06.25-06.55 น. ในตอน “ฝาแฝดแห่งทุ่งทอง”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน