ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์‘อาจารย์มหาวิทยาลัยอยู่ในภาวะคอมฟอร์ตโซน’ : สัมภาษณ์พิเศษ

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ – เพิ่งกลับจากการร่วมประชุมงาน “ASEAN-ROK Startup Expo 2019” ที่นครปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี ในงานดังกล่าว ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิด โดยในการไปเกาหลีใต้ครั้งนี้

รมว.อว.ยังได้เชิญนักศึกษาของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ที่ไปเรียนในโครงการแลกเปลี่ยนกับมหาวิทยาลัยเกาหลีที่นครปูซาน มารับประทานอาหารเช้าด้วยกัน เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องการเรียนการสอน อีกทั้งก่อนกลับยังได้ไปเยี่ยมชม Korea Science Academy(KSA) of KAIST

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์

สุวิทย์ เมษินทรีย์และข้าราชการอว.ถ่ายภาพกับนักศึกษาไทย

ซึ่งเป็นโรงเรียนระดับมัธยมปลายที่จัดการเรียนการสอนและส่งเสริมความ เป็นเลิศด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อันดับหนึ่งของเกาหลี และจัดเป็นโรงเรียนที่ติดอันดับแถวหน้าของโลกด้วย มีนักเรียนทั้งหมด 395 คน และมีนักเรียนต่างชาติเรียนด้วย 36 คน (ไม่มีเด็กไทย)

ในโอกาสนี้ ดร.สุวิทย์ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับข่าวสดในหลายเรื่องหลายประเด็นที่อยู่ในความรับผิดชอบของอว. อันเป็นกระทรวงใหม่ที่ผู้คนจับตามองเป็นพิเศษ ในขณะที่ภารกิจของหน่วยงานนี้มีความสำคัญต่อการพัฒนากำลังคนของประเทศเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในโลกยุคที่กำลังจะเข้าสู่ 5G ในเร็ว วันนี้

ขอทราบแนวทางการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา

จะพัฒนา 3 ลู่ด้วยกัน ลู่หนึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาพื้นที่ อย่างเช่นมหาวิทยาลัยราชภัฏ อีกลู่หนึ่งเน้นด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม อย่างเช่นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าทั้ง 3 แห่ง รวมมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และอาจพ่วงอาชีวะไปด้วย อีกลู่หนึ่งไปสู้ กับโลก

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์

ผู้บริหาร KSA กับทีมอว.

อาทิ จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(..) มหาวิทยาลัยขอนแก่น(มข.) และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่(มช.) แต่ละแห่งมีโจทย์วิจัย มีงบประมาณต่างกัน การสร้างคนก็ต่างกัน ซึ่งจุฬากับมหิดลติดอันดับโลก และที่โตวันโตคืนตามมาติดๆ

คือมช. แต่ขนาดตามมาติดๆ ยังอยู่ในอันดับ 400-500 ของโลก เพราะฉะนั้นถ้าไม่สามารถทำให้มหาวิทยาลัยไทยขึ้นท็อป 100 คนเก่งของประเทศไทยจะไปเรียนเมืองนอกหมด ตอนนี้มีการแข่งขันกันในโลกเพื่อดึงคนเก่งให้อยู่ในประเทศ เรียกว่า Talent War

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์

นักเรียน KSA อธิบายการออกแบบมอเตอร์ไซค์โดยใช้คอมพ์

ดังนั้นการพัฒนาที่ว่านี้ต้องลงทุนระยะยาว เป็นการเมืองระยะยาว ขณะที่การจัดสรรงบประมาณให้สถาบันต่างๆ ก็โดนสำนักงบประมาณตัดแล้ว เลยต้องเกลี่ยใหม่ ให้มหาวิทยาลัยละ 1 พันล้านบาทเลย แต่ต้องต้องตั้งโจทย์ดีๆ ในการสร้างคน และเชิญมือพระกาฬาระดับโลกมาร่วมทำ ไม่อย่างนั้นผมไม่ให้ ไม่ใช่อยู่ดีๆ ไปแจกเงินมหาวิทยาลัย จะให้เวลา 5 ปี แต่ละปีก็วัดว่าลำดับมหาวิทยาลัยไปถึงไหน ตัวเลขฟ้องเองอยู่แล้ว

เวลานี้สิ่งที่ลุ้นอยู่คืองบประมาณว่ากรรมาธิการจะหั่นอะไรหรือเปล่า ถามว่าต่อให้คิดได้คิดถูก แต่ถ้าไม่มีงบประมาณก็ทำไม่ได้ สิ่งสำคัญของกระทรวงนี้คืองบประมาณจะต้องต่อเนื่อง เพราะบางเรื่องเป็นงานวิจัยที่ต้องต่อเนื่อง 5 ปี เหมือนการสร้างคน กระทรวงนี้เป็นกระทรวงฐานราก เพราะฉะนั้นต้อง มองยาว

ปีหน้ามีนโยบายหรือผลงานเป็นรูปธรรมชัดเจนบ้าง

มีเรื่อง 1.BCG Model ซึ่งเป็นการพัฒนา 3 ส่วนเข้าด้วยกัน คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งมี20-30 เรื่องที่ออกมาได้เลยเพียงแต่ว่าจะเอาจริงและต่อยอดมากน้อยแค่ไหน หมายถึงทำสำเร็จที่นี่แล้วต่อยอดขยายผล 2. ปลดล็อกมหาวิทยาลัยให้ก่อนที่จะพัฒนาไปใน 3 ลู่วิ่ง มีอุปสรรคมีข้อจำกัดอะไร จะปลดล็อกให้

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์

สุวิทย์ เมษินทรีย์ ทานอาหารเช้ากับนักศึกษาไทยในนครปูซาน

ซึ่งพอตั้งบประมาณเสร็จผลงานจะค่อยๆ ออกมาอย่างเรื่องยุวชนสร้างชาติ กองทุนยุวสตาร์ตอัพ หรือโครงการอาสาประชารัฐ ซึ่งจะลงที่กาฬสินธุ์ก่อน เรื่องบัณฑิตอาสาจะคุยกับทางระเบียงเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)นำนักศึกษาไปลงใน 10 อำเภอของอีอีซี เพื่อไปดูโจทย์ว่าชาวบ้านต้องการอะไร เป็นบัณฑิตอาสานำร่อง

ปีหน้าผลงานอว.ออกมาชัดเจน ถ้างบประมาณผ่านจะออกมาอีกเยอะ แต่เรื่องสำคัญเป็นเรื่องใหญ่ๆ 3-4 เรื่อง คือ เรื่องแรก BCG ในเชิงเศรษฐกิจ ต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจผ่าน BCG 2. ทำอย่างไรให้เกิดพลังของเยาวเชน ผ่านยุวชนสร้างชาติ 3. ปลดล็อกมหาวิทยาลัย และปรับมหาวิทยาลัยให้เป็น 3 ลู่วิ่ง พลังของกระทรวงนี้มีเยอะ แต่ชอบไปบ่นว่ามหาวิทยาลัยไม่มีคุณภาพ จริงๆ อยู่ที่โจทย์ถ้าให้โจทย์มหาวิทยาลัยดีๆ ก็จะไปได้

มีเสียงวิจารณ์กันว่าการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยไทยไม่ตอบโจทย์โลกยุคนี้

ต่อไปโลกจะเป็นยุค 5G ถามว่า 5G คืออะไรในแง่ที่จับต้อง ง่ายๆ ทำให้คนคุยกับเครื่อง และทำให้เครื่องบังคับกันเอง โดยใช้เดต้า เพราะฉะนั้นเปลี่ยนทุกอย่าง การแพทย์ ก็เปลี่ยน แม้การท่องเที่ยวก็ยังเปลี่ยนเลย ดังนั้นต้องยกเครื่องอาจารย์ครั้งใหญ่

การเรียนรู้ในห้องเรียนโดยอาจารย์ไม่เวิร์กแล้ว ความจริงความรู้อาจารย์ไล่พวกเด็กๆ นี้ไม่ทัน ดังนั้นมหาวิทยาลัยต้องปรับตัวเองให้ฝึกทักษะคน อาจารย์มหาวิทยาลัยอยู่ในภาวะคอมฟอร์ตโซน (comfort zone) เหมือนไล่เขาไม่ได้ มหาวิทยาลัยรัฐปิดไม่ได้ เขาเหมือนอยู่ในตลาดที่ไม่แข่งขัน

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์

มุมสบายๆ ที่ KSA

ผมถึงมีไอเดีย อย่างเช่น ควบรวมหลักสูตรก่อน เพราะควบรวมมหาวิทยาลัยเป็นเรื่องยาก หลักสูตรไหนซ้ำ สมมติ มศวประสานมิตรมี 3 หลักสูตร ผมอยู่อีกมหาวิทยาลัยหนึ่งมี 3 หลักสูตรเหมือนกัน แบ่งกันไปเลยไหม ที่ไหนเก่งหลักสูตรไหน แทนที่จะมีคนละ 3 หลักสูตร ให้มีคนละหลักสูตรก็พอ แล้วให้เด็กเรียนข้ามได้ แต่ละคนใช้ทรัพยากรน้อยลง แต่คมขึ้นก็ไปศึกษาวิจัยเรื่องนั้นๆ ไปเลย

ขณะเดียวกันก็ให้เปิดหลักสูตรนอลดีกรี รีสกิล(Reskill) อัพสกิล เพราะไม่อย่างนั้น ทรัพยากรมหาวิทยาลัยถูกใช้แค่นักศึกษา ซึ่งมีแนวโน้มลดลง ตอนนี้เหลืออยู่ 2 ล้านคน จบปีละ 5 แสนคน ดังนั้นพอนักศึกษาลดลงก็ควรมาเน้นเรื่องคุณภาพ และต้องไปทำรีสกิล อัพสกิล เพราะมีถึง 38 ล้านคน ที่อยู่ในวัยทำงาน ทักษะที่ใช้อยู่ใช้ไม่ได้แล้ว มหาวิทยาลัยจึงต้องไปเล่นเรื่องพวกนี้ พูดง่ายๆ บัณฑิตที่จบการศึกษาไม่เกิน 5 ปี สิ่งที่เรียนมาโดยเฉลี่ยใช้ไม่ได้แล้ว ซึ่งในยุค 5G เครื่องคุยกับเครื่องแทบไม่ต้องใช้คนแล้ว

ผมเพิ่งระดมความคิดกับมหาวิทยาลัย 150 แห่ง เพื่อให้นำหลักสูตรนอลดีกรีออกมา เร็วๆ นี้น่าจะรวบรวมได้เกือบ 2 พันหลักสูตร โดยอว.จะไม่กรอง ให้มหาวิทยาลัยใช้ไปก่อน แล้วค่อยโพสต์ออดิต เมื่อไม่นานมานี้ผมกับดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เรียกประชุมมหาวิทยาลัยเลือกเอกชนรายใหญ่ 10 รายกับสภาอุตสาหกรรม และสภาหอการค้าฯ กับสมาคมธนาคารไทย

เพราะว่าเอกชนรายใหญ่มีหลักสูตรนี้อยู่แล้ว จึงมาระดมความคิดกันแล้วให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอหักภาษีลดหย่อนได้ ตอนนี้บางแห่งเปิดอยู่แล้ว แต่จะมาแพ็กรวมกันให้ดีมานด์กับซับพลายเจอกัน พวกที่เป็นเอสเอ็มอีอยากจะส่งคนมารีสกิล อัพสกิล หักภาษีได้ ไม่เช่นนั้นเอสเอ็มอีไม่มีปัญญาส่งคนมา

ผมว่าเรื่องใหญ่ๆ ของประเทศเรา ควรมี 2-3 เรื่อง วันนี้ไม่ใช่ทำงานแบบกระทรวงใครกระทรวงมัน เลิกได้แล้ว เชย แต่ว่าประเด็นคือต้องใช้พลังทุกภาคส่วน โดยเฉพาะที่อว.มีเรียกว่าจตุภาคีคือมีพลังองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัย 2.ภาคเอกชน 3.ภาคชุมชน 4.มีเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ 4 พลังนี้เพียงพอแล้วที่จะขับเคลื่อนเรื่องใหญ่ๆ ได้แล้ว

ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน