ไอคอนสยาม ร่วมกับ มูลนิธิชัยพัฒนา และองค์กรพันธมิตร ร่วมสืบสานน้อมนำศาสตร์พระราชา ริเริ่มโครงการ “รักษ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ร่วมกันพัฒนาและจัดการน้ำอย่างยั่งยืน”

โครงการ “ไอคอนสยาม” ร่วมกับ มูลนิธิชัยพัฒนา และองค์กรพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ กองทัพเรือ, กรุงเทพมหานคร, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, กรมเจ้าท่า, สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา, สมาคมการค้าธุรกิจในแม่น้ำเจ้าพระยา และ ชุมชนต่างๆ ที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เปิดโครงการ “รักษ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ร่วมกันพัฒนาและจัดการน้ำอย่างยั่งยืน”

โดยร่วมสืบสานน้อมนำศาสตร์พระราชาด้านแนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสีย มุ่งเน้นการให้ความรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้อาศัยในพื้นที่ได้ร่วมฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่การใช้ชีวิตริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างยั่งยืนตลอดไป ที่สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา

นายสุพจน์ ชัยวัฒน์ศิริกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอคอนสยาม จำกัด กล่าวว่า “นโยบายของไอคอนสยามให้ความสำคัญในการร่วมสร้างความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม พร้อมร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืนและอยู่คู่เคียงแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างสมศักดิ์ศรีสืบไป

จึงได้ดำเนินพันธกิจต่อสังคม 3 เรื่องหลักอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาโดยรอบ, มีส่วนร่วมพัฒนาชุมชนและส่งเสริมต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตนอย่างยั่งยืน และ การสืบสานวัฒนธรรมประเพณีไทยอันดีงามที่อยู่คู่กับวิถีคนริมน้ำเจ้าพระยามาช้านาน

ล่าสุดไอคอนสยาม ได้ร่วมมือกับมูลนิธิชัยพัฒนา และองค์กรพันธมิตรต่างๆ เปิดตัวโครงการ “รักษ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ร่วมกันพัฒนาและจัดการน้ำอย่างยั่งยืน” เพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาโดยรอบ ในพื้นที่คลองเป้าหมายจำนวนคลอง 7 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ใน 3 เขตของกรุงเทพมหานคร ได้แก่ เขตคลองสาน เขตตลิ่งชัน และเขตบางกอกน้อย

โครงการ “รักษ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ร่วมกันพัฒนาและจัดการน้ำอย่างยั่งยืน” ได้รับเกียรติเป็นอย่างสูงจากมูลนิธิชัยพัฒนาในการให้ความร่วมมือถ่ายทอดองค์ความรู้ แนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสีย ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อนำมาเป็นแนวทางปฏิบัติและประยุกต์ใช้ในการจัดการกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยเลือกใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์อย่างสูงสุด

ศาสตราจารย์ ดร. เกษม จันทร์แก้ว ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม มูลนิธิชัยพัฒนา และผู้อำนวยการโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กล่าวว่า มูลนิธิชัยพัฒนาได้นำองค์ความรู้ในด้านการบำบัดน้ำเสีย

โดยยึดตามพระราชกระแสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ว่า “…ให้ใช้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ เป็นเทคโนโลยีอย่างง่าย ใครๆ ก็สามารถทำได้ และมีวัสดุหาได้ในท้องที่…” มาดำเนินการในโครงการนี้

ทั้งนี้การใช้เทคโนโลยีการบำบัดน้ำเสียที่เรียบง่ายและใช้ธรรมชาตินี้ แบ่งเป็น 2 ระบบ ได้แก่ วิธีการพึ่งพาธรรมชาติ โดยใช้สาหร่ายสังเคราะห์แสงเพื่อเติมออกซิเจนให้จุลินทรีย์หายใจและย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำเสีย และ ระบบที่สองคือ ระบบพืชและหญ้ากรองน้ำเสีย โดยใช้พืชและหญ้าที่มีคุณสมบัติกรองและดูดซับของเสียที่อยู่ในน้ำ

สำหรับการบำบัดน้ำเสียจากชุมชน ซึ่งเป็นผลจากการประกอบกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ส่งผลให้เกิดสารอินทรีย์ ซึ่งประกอบด้วย คาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน เป็นองค์ประกอบหลักในน้ำเสีย ซึ่งน้ำเสียเหล่านี้สามารถบำบัดได้ โดยการประยุกต์ใช้แนวการบำบัดน้ำเสียตามแนวพระราชดำริ โดยอาศัยแสงแดด และสายลม เพื่อเพิ่มปริมาณออกซิเจนในน้ำให้มีความเหมาะสม

สำหรับจุลินทรีย์ และสาหร่ายสีเขียวในน้ำ ซึ่งช่วยในการย่อยสลายสารอินทรีย์ เพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำ และป้องกันไม่ให้เกิดก๊าซที่มีกลิ่นเหม็น ซึ่งเป็นผลจากการย่อยสลายสารอินทรีย์ด้วยจุลินทรีย์ที่ไม่ใช้ออกซิเจน ส่งผลรบกวนต่อการดำรงชีวิตของประชาชน ในเขตริมคลองอีกด้วย

นอกจากนี้ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอคอนสยาม จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า “ปัจจุบันมีหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ยื่นความประสงค์ขอให้มูลนิธิชัยพัฒนาเข้าไปช่วยเหลือในการบำบัดน้ำเสียในแหล่งน้ำสาธารณะที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของคนที่อาศัยในชุมชนโดยรอบอย่างเร่งด่วนเป็นจำนวนมาก อาทิเช่น วัด โรงพยาบาล สถานที่ราชการ อื่นๆ

ดังนั้นไอคอนสยามจึงริเริ่มโครงการ “รักษ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ร่วมกันพัฒนาและจัดการน้ำอย่างยั่งยืน” โดยในช่วงปีแรก 2560 ระหว่างเดือนมีนาคม – ธันวาคม มีเป้าหมายพัฒนาพื้นที่คลองจำนวน 7 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ใน 3 เขตของกรุงเทพมหานคร

ได้แก่ เขตคลองสาน เขตตลิ่งชัน และ เขตบางกอกน้อย มีการวางแผนดำเนินการโครงการอย่างบูรณาการ โดยเริ่มจากการลงพื้นที่สำรวจสภาพแวดล้อมแหล่งน้ำที่แท้จริง และวิเคราะห์สภาพค่าความสกปรกของน้ำได้แก่ค่าบีโอดี ซึ่งจะสัมพันธ์กับการเลือกวิธีบำบัดน้ำเน่าเสียได้อย่างเหมาะสมกับปัญหาของพื้นที่นั้นๆ ทั้งนี้วิธีการปรับปรุงคุณภาพน้ำเสียในเชิงอนุรักษ์มีหลากหลายวิธี

เช่น การจัดเก็บเศษขยะต่างๆ ในคลอง, การขุดลอกคลอง, การตกแต่งกิ่งไม้เพื่อเปิดให้แสงลงสู่แหล่งน้ำ, การใช้วัชพืชหรือพืชบำบัดน้ำเสีย,การติดตั้งถังดักไขมันในบ้านเรือน, การติดตั้งเครื่องกังหันชัยพัฒนาหรือ การติดตั้งเครื่องกลเติมอากาศ เป็นต้น”

สำหรับการดำเนินโครงการรักษ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยาฯ ได้เริ่มดำเนินการในเบื้องต้นไปแล้วในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยคณะทำงานได้ลงพื้นที่สำรวจในเขตคลองสาน คลองวัดทองเพลง เป็นแห่งแรก และคลองสมเด็จเจ้าพระยา เป็นแห่งที่ 2 และมีคลองเป้าหมายอีก 5 แห่ง

อาทิ คลองวัดสุวรรณ และคลองสาน เขตคลองสาน, คลองวัดทอง เขตบางกอกน้อย, คลองลัดมะยม และคลองมหาสวัสดิ์ เขตตลิ่งชัน เป็นต้น ที่จะลงพื้นที่สำรวจศึกษาลักษณะกายภาพของแต่ละพื้นที่

เพื่อที่จะวางแผนการบำบัดน้ำเน่าเสียได้อย่างเหมาะสมกับปัญหาของพื้นที่เหล่านั้น โดยมีเป้าหมายจะดำเนินการให้แล้วเสร็จทุกพื้นที่ ภายในปี 2560 เพื่อทำให้คุณภาพน้ำในคลองเหล่านี้มีความสะอาด ช่วยทำให้สมดุลทางธรรมชาติกลับสู่ภาวะปกติดังเดิม

นอกจากนี้โครงการฯ นี้จะเน้นการมีส่วนร่วมจากประชาชนผู้อาศัยในพื้นที่ โดยการให้ความรู้ความเข้าใจเป็นแนวทางปฏิบัติในการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และจะเป็นโครงการต้นแบบการพัฒนาพื้นที่ในชุมชนริมน้ำเจ้าพระยาในพื้นที่อื่นๆ อย่างต่อเนื่องในอนาคต

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน