คอลัมน์ รู้ไปโม้ด

น้าชาติ ประชาชื่น [email protected]

ฉบับวานนี้ (24 เม.ย.) “ลุงไม่แก่” ถามถึงการก่อตั้งคณะราษฎร ก่อน อภิวัฒน์สยาม 2475 น้าชาตินำข้อมูลจากวิกิพีเดียมาเรียบเรียงตอบถึงการก่อตั้ง ณ ประเทศฝรั่งเศสไปแล้ว วันนี้ถึงช่วงเวลาเดินทางกลับสยามของคณะราษฎร

จากบันทึกความทรงจำของ พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) เล่าถึงเหตุการณ์ต่างๆ ช่วงนี้ไว้อย่างละเอียด โดยท่านเป็นผู้ที่ประสานให้นายทหารระดับสูงที่มีแนวคิดเดียวกัน เช่น พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา เข้าร่วมกับคณะราษฎร ทั้งนี้ พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนายังได้รับการทาบทามจาก แนบ พหลโยธิน ซึ่งเป็นหลานอา โดยเป็นบุตรของ พลโทพระยาพหลโยธินรามินทรภักดี (นพ พหลโยธิน) ให้เข้าร่วมเป็นสมาชิก และรับสถานะเป็นหัวหน้าคณะราษฎร

การประชุมในประเทศไทย คณะราษฎรได้ประชุมกัน 2 ครั้ง ครั้งแรกประชุมกันเพียงไม่กี่เดือนก่อนลงมือ ที่บ้านพักของพระยาทรงสุรเดชที่สะพานควาย และครั้งที่ 2 ที่บ้านพักของร้อยโทประยูร ที่ถนนเศรษฐศิริ โดยได้ตกลงในหลักการ จะต้องพยายามมิให้เกิดการนองเลือด จะต้องไม่กระเทือนต่อพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ เกินควร และตกลงว่า จะปฏิวัติในช่วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จแปรพระราชฐานประทับที่วังไกลกังวล

เมื่อกลับมายังสยาม คณะราษฎรได้พยายามหา สมาชิกเพื่อเข้าร่วมการปฏิวัติ โดยได้ติดต่อประชาชน ทุกอาชีพ ทั้งพ่อค้า ข้าราชการพลเรือน และทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายทหารระดับสูงที่มีแนวความคิดอย่างเดียวกันมานานก่อนหน้านี้ 4-5 ปีแล้ว จนได้สมาชิกทั้งสิ้น 115 คน แบ่งเป็นสายต่างๆ คือ สายพลเรือน นำโดย หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) สายทหารเรือ นำโดย นาวาตรีหลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน) สายทหารบกชั้นยศน้อย นำโดย พันตรีหลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ) และสายนายทหารชั้นยศสูง นำโดย พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) โดยที่ประชุมคณะราษฎรตกลงกันว่า การปฏิวัติตลอดจนสถาปนาความมั่นคง และความปลอดภัยของบรรดาสมาชิก และของประเทศ เป็นหน้าที่ของฝ่ายทหาร ส่วนการร่างคำประกาศ การร่างกฎหมาย และการวางเค้าโครงต่างๆ ของประเทศ เป็นหน้าที่ของฝ่ายพลเรือน

สมาชิกคณะราษฎรที่แบ่งเป็น 3 สาย คือ มีสมาชิกคนสำคัญในแต่ละสาย ได้แก่ สายทหารบก : พระยาพหลพลพยุหเสนา, พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน), พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ), พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น) ทั้งนี้ 4 คน รวมเรียกเป็น “สี่ทหารเสือ” และหลวงพิบูลสงคราม สายทหารเรือ : หลวงสินธุสงครามชัย, หลวงศุภชลาศัย (บุง ศุภชลาศัย), หลวงสังวรยุทธกิจ (สังวรณ์ สุวรรณชีพ) และหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ (ถวัลย์ ธารีสวัสดิ์) และสายพลเรือน : หลวงประดิษฐ์มนูธรรม, หลวงศิริราชไมตรี (จรูญ สิงหเสนี), หลวงโกวิทอภัยวงศ์ (ควง อภัยวงศ์), ตั้ว ลพานุกรม, แนบ พหลโยธิน, ทวี บุณยเกตุ และประยูร ภมรมนตรี

12 มิถุนายน 2475 คณะราษฎรได้วางแผนการที่บ้าน ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี เพื่อดำเนินการควบคุมพระองค์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร และ 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎรยึดอำนาจการปกครองประเทศจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศสยาม จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปเป็นระบอบประชาธิปไตย ในการปฏิบัติการมีพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นหัวหน้าคณะ

เหตุการณ์ประวัติศาสตร์วันนั้น บันทึกอย่างย่อไว้ใน “หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ” หรือเรียกโดยทั่วไปว่า “หมุดคณะราษฎร” ซึ่งเป็นหมุดทองเหลืองฝังอยู่กับพื้นถนนบนลานพระบรมรูปทรงม้าด้านสนามเสือป่า ณ ตำแหน่งที่พระยาพหลพลพยุหเสนาอ่านประกาศคณะราษฎร มีข้อความว่า “ณ ที่นี้ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ” จัดทำขึ้นโดยกระทรวงมหาดไทย มีพิธีฝังหมุดเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2479 โดยมีพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นและหัวหน้าคณะราษฎร เป็นผู้ฝังหมุด

ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองสำเร็จแล้ว คณะราษฎรได้มีบทบาทอย่างสูงในทางการเมืองและสังคม เป็นระยะเวลาประมาณ 15 ปี กระทั่งหมดบทบาทอย่างสิ้นเชิงในปลายปี พ.ศ.2490 จากการรัฐประหารของคณะนายทหารภายใต้การนำของพลโทผิน ชุณหะวัณ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน