คอลัมน์ ข่าวสดหลากหลาย

ณอร อ่องกมล

ด้วยแรงศรัทธาและความเลื่อมใสในพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ละปีจึงมีชาวพุทธ รวมถึงนักท่องเที่ยวจากหลากหลายศาสนา จำนวนมหาศาล ดั้นด้นเดินทางไปแสวงบุญที่ “สังเวชนียสถาน” สถานที่ระลึกถึงพระพุทธเจ้าทั้ง 4 แห่ง คือ สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และปรินิพพาน

สายการบินไทยสมายล์เลยร่วมอนุโมทนาบุญเปิดเส้นทางลัดฟ้า 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์สู่เมืองลักเนา รัฐอุตตรประเทศ ของอินเดีย อีกประตูสู่สังเวชนียสถานตอนบน

ใช้เวลาเดินทางจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพียง 4 ชั่วโมงนิดๆ ก็ถึงท่าอากาศยานเมืองลักเนา เมืองธุรกิจขนาดใหญ่ทางตอนเหนือของแดนภารตะ เปลี่ยนยานพาหนะเป็นรถบัสมุ่งหน้าสู่เมืองสาวัตถีซึ่งอยู่ห่างออกไปราว 175 กิโลเมตร

หากเป็นเส้นทางในบ้านเราคงใช้เวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง แต่ด้วยถนน 2 เลน แถมบางพื้นที่ยังไม่ได้ลาดยาง เลยต้องใช้เวลาเพิ่มเป็นสองเท่า แม้จะนานไปหน่อยแต่ถือว่าได้กำไรจากการศึกษาวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่สมถะและพอเพียง บ้านเรือนส่วนใหญ่ก่ออิฐเปลือยไม่ฉาบปูน ไม่ทาสี สร้างเป็นอาคารสี่เหลี่ยมชั้นเดียว หลายหลังมีกองฟาง และขี้วัวขี้ควายตากแห้งสำหรับทำเชื้อเพลิง ถัดจากชุมชนเป็นทุ่งข้าวสาลีสีเหลืองทองสุกงอม ฝูงวัวเคี้ยวเอื้องอยู่ท่ามกลางกลุ่มเด็กชายหญิงที่วิ่งเล่นอย่างสนุกสนาน มองเพลินๆ ผ่านไปเกือบ 5 ชั่วโมงก็ถึงที่หมาย

แม้เมืองสาวัตถีจะไม่ได้เป็น 1 ในสังเวชนียสถาน 4 แห่ง แต่ก็เป็นที่ตั้งของ “วัดเชตวันมหาวิหาร” ซึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับจำพรรษานานถึง 19 พรรษา นอกจากนี้ยังเป็นเมืองที่พระองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาแก่ภิกษุและพุทธบริษัทให้บรรลุอมตธรรมเป็นจำนวนมาก ยังไม่รวมถึงพระอรหันตสาวกจำพรรษานับพันนับหมื่นองค์ด้วย

พระอาจารย์น้อย พระครูนิโครธบุญญากร เจ้าอาวาสวัดไทย นิโคธาราม ประเทศเนปาล ไกด์กิตติมศักดิ์ เล่าว่าวัดเชตวันมหาวิหาร หรือสาเหต สร้างโดยอนาถบิณฑิกเศรษฐี ซึ่งใช้เงินรวมๆ กว่า 54 โกฏิ ในการซื้อที่ดิน 80 ไร่ที่เป็นพระราชอุทยานของเจ้าเชตแห่งราชวงศ์โกศล และการสร้างถาวรวัตถุต่างๆ

ภายในวัดมีกุฏิของพระพุทธเจ้า หรือพระมูลคันธกุฎี รวมทั้งกุฏิของพระสารีบุตร อัครสาวกเบื้องขวา พระโมคคัลลานะ อัครสาวกเบื้องซ้าย พระสีวลีเถระ พระภิกษุสาวกเอตทัคคะ พระมหากัสสปะ อรหันต์สาวก พระอนุรุทธเถระ องคุลิมาล อัฏกะสถูป สถูปพระอรหันต์ 8 ทิศ ศาลชั้นต้น และศาลฎีกา

ด้านหน้าวัดมี “อานันทโพธิ์” ต้นโพธิ์ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในโลก กว่า 2,500 ปี ตามพุทธประวัติ ชาวเมืองสาวัตถีรู้สึกอ้างว้างเมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จจาริกไปแสดงธรรมต่างเมือง พระอานนท์เถระทรงรับทราบถึงความร้อนใจของผู้มีจิตศรัทธาเลยนำความไปกราบทูล พระพุทธเจ้าจึงรับสั่งให้นำผลโพธิ์จากตำบลพุทธคยามาปลูกที่เมืองสาวัตถี เพื่อเป็นเครื่องหมายแทนพระองค์ ซึ่งการนี้พระโมคคัลลานะทรงแสดงฤทธิ์เหาะไปยังพุทธคยาและนำผลโพธิ์กลับมาสาวัตถีภายในวันนั้น

ใกล้ๆ กับวัดเชตวันมหาวิหาร มีบ้านของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เป็นอาคารสูงเท่าตึก 2 ชั้น มีบันไดขึ้นไปถึงยอดโถงใหญ่ ด้านล่างคาดว่าเป็นที่เก็บสมบัติ ช่องหนึ่งเก็บเงิน ตรงกลางสำหรับอัญมณีเครื่องประดับ และช่องทางซ้ายมือใช้เก็บทองคำ และเยื้องๆ กันคือบ้านของปุโรหิตผู้เป็นบิดาองคุลิมาล มีลักษณะเป็นเนินสูง อาคารก่ออิฐ ด้านบนมีห้องกว้างปิดทึบ 4 ด้าน

นอกจากศาสนสถานแล้ว บริเวณทางเข้าวัดยังมีสถานที่ซึ่งเชื่อว่าพระเทวทัต ผู้จองเวรพระพุทธเจ้ามาหลายชาติหลายภพ ถูกแผ่นดินสูบ เช่นเดียวกับนางจิญจมาณวิกาซึ่งวางอุบายว่าตั้งครรภ์กับพระพุทธเจ้า และนันทมานพที่บุกปล้นสวาทอุบลวรรณาเถ

ติดถนนใหญ่มีเนินเขาสูงตั้งตระหง่านมองเห็นได้แต่ไกล คือ ยมกปาฏิหาริย์สถูป สถานที่ซึ่งพระพุทธเจ้าแสดงปาฏิหาริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด มี 2 เหตุการณ์ ประกอบด้วยการปราบทิฏฐิพวกเดียรถีย์ใต้ต้นมะม่วงคัณฑามพฤกษ์ และการเสด็จสู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อโปรดพระนางมายาเทวี พระพุทธมารดาของพระองค์

จากเมืองสาวัตถีตะลุยกันต่อสู่ลุมพินี เมืองไกรวา ประเทศเนปาล ระยะทางราว 210 กิโลเมตร เลยครึ่งทางไปนิดๆ แวะพักดื่มกาแฟ เข้าห้องน้ำ ยืดแข้งยืดขาที่พุทธวิหาร สาลวโนทยาน 960 ศูนย์การดูแลผู้แสวงบุญที่คุ้นเคยในชื่อ วัด 960 สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองการครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของในหลวงรัชกาลที่ 9 ห่างจากด่านชายแดนโสเนาลี ข้ามเขตอินเดีย-เนปาล 7 กิโลเมตร หายเมื่อยก็ยกขบวนขึ้นรถมุ่งหน้าไปยังด่าน หากออกตอนเช้า หรือช่วงหน้าร้อนที่เป็นโลว์ซีซั่นสำหรับการแสวงบุญ จะใช้เวลาไม่เกินครึ่งชั่วโมงในการตรวจพาสปอร์ต และลงทะเบียนรถ แต่ถ้าเดินทางช่วงหน้าหนาวอาจต้องนอนรอถึง 3 ชั่วโมง

เบ็ดเสร็จกว่าจะถึงที่หมายก็ร่วมๆ 5 ชั่วโมงเพื่อแวะเวียนมาสักการะสังเวชนียสถานแห่งเดียวที่อยู่นอกประเทศอินเดีย และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เมื่อปี 2540 ใช่แล้วที่นี่คือสถานที่ประสูติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จากพุทธประวัติ พระนางสิริมหามายา พระพุทธมารดา ต้องเสด็จกลับกรุงเทวทหะ เมืองต้นตระกูล แต่ขณะหยุดพักพระอริยาบถในสวนลุมพินีวัน เมื่อพระนางยกพระหัตถ์โน้มกิ่งต้นสาละ ก็รู้สึกประชวรพระครรภ์ และได้ประสูติพระสิทธัตถะกุมารในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6

ด้านในมี “วิหารมายาเทวี” ซึ่งมีรูปปั้นของพระนางมายาเทวีเหนี่ยวกิ่งสาละเพื่อให้กำเนิดเจ้าชายสิทธัตถะ นอกจากนี้วิหารหลังปัจจุบันยังสร้างครอบสถูป 3 สมัย โดยสถูปชั้นแรกสร้างขึ้นในยุคของพระเจ้าอโศกมหาราช พุทธศตวรรษที่ 4 เพื่อเป็นเกราะกำบังศิลาที่มีรอยพระพุทธบาทแรกประสูติของพระพุทธเจ้า

พร้อมทั้งสร้าง “เสาอโศก” เสาหินทรายสลักถึงแผ่นศิลา ข้อความว่าที่แห่งนี้เป็นสถานที่ประสูติของพระพุทธองค์ ต่อมาในสมัยพระเจ้ากนิษกะแห่งราชวงศ์กุษาณะ ราวคริสต์ศตวรรษที่ 2 ทรงเลื่อมใสในพุทธศาสนาและพระราชกรณียกิจของพระเจ้าอโศกมาก จึงสร้างสถูปครอบชั้นที่สอง ส่วนสถูปชั้นที่สามสร้างในยุครุ่งเรืองของราชวงศ์ปาละ

แต่วันเวลาผ่านไป พื้นที่สวนลุมพินีวันถูกทิ้งร้างกระทั่งนักโบราณคดีอังกฤษเข้ามาขุดพบเสาอโศก และใช้เวลานานกว่า 8 ปี จึงสามารถถอดข้อความที่สลักไว้ได้เลยเริ่มขุดค้นจนพบ สถูป และแผ่นศิลาซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีจากทั่วโลกเดินทางมาตรวจสอบและเห็นตรงกันว่าเป็นแผ่นศิลารอยพระพุทธบาทตามบันทึก และด้วยคุณค่าทางประวัติศาสตร์ทางการเนปาลเลยไม่อนุญาตให้บันทึกภาพถ่าย รวมถึงวิดีโอภายในวิหาร จึงต้องเดินทางมาชมให้เห็นเป็นบุญตาด้วยตัวเอง

ออกจากวิหารจะพบกับเสาอโศกตั้งอยู่ทางขวามือ ตรงข้ามเป็นสระโบกขรณี เดินเลยไปมีต้นโพธิ์อายุกว่าพันปีแผ่กิ่งก้านสาขาให้ความร่มเย็นแก่ศาสนิกชนที่มานั่งสมาธิ สวดมนต์ รวมถึงนักท่องเที่ยวที่พักสำรวมกายใจได้เป็นอย่างดี แม้สภาพอากาศจะร้อนระอุเหยียบ 40 องศาเซลเซียส แต่ในอาณาบริเวณสวนลุมพินีวันกลับเย็นสบาย และสงบร่มรื่น จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้คนจากทั่วทุกสารทิศจะแวะเวียนมาที่นี่ไม่ขาดสาย บางคนถึงกับนั่งรถไฟระยะทางไกลเกือบ 2,000 กิโลเมตรจากนครมุมไบเพื่อมา สักการะศิลารอยพระพุทธบาทโดยเฉพาะ

ผ่านไปแล้วครึ่งทาง ถึงร่างกายจะเหนื่อยล้าจากการเดินทาง แต่พลังใจเหมือนได้ชาร์จแบตเตอรี่มาเต็มเปี่ยม ออกสตาร์ตจากลุมพินีข้ามชายแดนกลับเข้าอินเดียอีกครั้ง โดยมีจุดหมายที่เมืองกุสินารา ซึ่งอยู่ห่างกันราว 150 กิโลเมตร ที่ตั้งของสาลวโนทยาน หรือป่าสาละ สถานที่ซึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันปรินิพพาน ภายในมี “วิหารปรินิพพาน” ที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางปรินิพพานที่งดงามประณีต เป็นพระพุทธรูปศิลปะสมัย คุปตะ ระหว่างปีพ.ศ.823-2093 โดยช่างฝีมือชาวมธุรา ขนาดยาว 7 เมตร สูง 1 เมตร ประทับบนพระแท่นจุณศิลาที่ทำจากทรายแดงของเมืองจุนนะ วิหารแห่งนี้ขุดพบในปี 2397 และยังขุดค้นต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงปี 2540 ทำให้พบโบราณวัตถุมากมาย

ส่วนปรินิพพานสถูปที่อยู่ด้านหลัง พระเจ้าอโศกมหาราชพระราชทานพระราชทรัพย์สร้างขึ้นครอบพระแท่นปรินิพพาน มีลักษณะเป็นทรงบาตรคว่ำสูง 65 เมตร และยอดฉัตร 3 ชั้น และจากสวนป่าสาละประมาณ 1 กิโลเมตร จะพบกับ “มกุฏพันธเจดีย์” สถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระริมแม่น้ำหิรัญญวดี ซึ่งชาวบ้านทั้งพุทธและฮินดูนิยมประกอบพิธีเผาศพคนในครอบครัวที่ริมแม่น้ำแห่งนี้ เพราะเคารพนับถือว่าเป็นสถานที่มงคลที่เคยถวายพระเพลิงพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นเอง

ถือเป็นทริปสุดคุ้มได้ทั้งแสวงบุญ และอัดแน่นด้วยความรู้เชิงประวัติศาสตร์ พูดแล้วเหมือนโม้ ถ้าไม่เชื่อคงต้องมาพิสูจน์กันเองแล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน