นักจิตวิทยาแนะ เมื่อเด็กเผชิญภัย

นักจิตวิทยาแนะ – เหตุสะเทือนขวัญภายในศูนย์การค้า เทอร์มินอล 21 สาขาโคราช หนึ่งใน ผู้ประสบเหตุคือกลุ่มเด็กที่อยู่ในวัยเปราะบาง การเตรียมตัวเด็กๆ เมื่อต้องเผชิญเหตุร้ายรวมถึงการเยียวยาจิตใจเด็กหลังผ่านเหตุการณ์รุนแรงควรทำอย่างไร นักจิตวิทยาเด็กมีคำแนะนำ

นักจิตวิทยาแนะ

ดร.จิตรา

ดร.จิตรา ดุษฎีเมธา อาจารย์ด้านจิตวิทยา รักษาการหัวหน้าศูนย์พัฒนาศักยภาพมนุษย์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าวว่า เมื่อเด็กประสบเหตุสะเทือนขวัญไม่ใช่แค่สมองที่จำเหตุการณ์ แต่เซลล์ร่างกายจะจำเหตุการณ์นั้นด้วย เช่น อาจมีอาการตกใจ กลัวเสียงดัง นอนไม่หลับ หลอน ไม่ควรตอกย้ำเรื่องราวให้เด็กรับรู้ แม้กระทั่งการเล่าหรือดูเรื่องราวผ่านโทรทัศน์ สื่อออนไลน์ จะยิ่งทำให้เด็กขวัญผวา

“ผู้ปกครองสามารถทำให้เด็กระบายการตื่นกลัวนั้นด้วยการเล่าเรื่องราวออกมา สัมผัสกอดลูกเพื่อปลอบขวัญ เด็กเล็กอาจไม่สามารถบอกเล่าเรื่องราวออกมาเป็นคำพูดได้ เราอาจสังเกตว่าลูกมีอาการกลัวหรือยังฝังใจกับเหตุการณ์นั้นหรือไม่จากการลองให้เด็กวาดรูประบายสี วาดรูปอะไรก็ได้อย่างอิสระ จากนั้นสังเกตรูปที่เด็กวาด สีที่ใช้ ดูว่าเป็นภาพที่ยังเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับเหตุการณ์นั้นหรือไม่ ถ้าสังเกตดูแล้วเด็กมีอาการฝังใจ เราสามารถใช้ศิลปะบำบัดดูแลลูกได้ด้วยการให้ลูกวาดรูปถึงเหตุการณ์ในอนาคตที่ดีขึ้น เป็นภาพด้านบวกแล้วบอกเขาว่าอนาคตจะดีขึ้น หรือใช้ดนตรีบำบัดก็ได้”

ดร.จิตรากล่าวต่อว่า เด็กที่ประสบเหตุบางครั้งอาจนั่งนิ่งเป็นเวลานาน ต้องหมอบ ต้องหลบ ทำให้เขาอาจเผชิญสถาวะ fight หรือ freeze คือสู้ หนี หรือตัวแข็งนิ่งไปเลย บางคนตัวสั่น ก้าวไม่ออก ตัวกระตุกตอนนอนกลางคืน ร้องไห้หรือชักเกร็ง มีความเครียด สิ่งที่เราควรทำคือ “หยุดย้ำ” และ “โยกย้าย” หยุดย้ำคือไม่พูดหรือเล่าถึงเหตุการณ์ดังกล่าว

นักจิตวิทยาแนะ

ส่วนโยกย้ายคือการเคลื่อนไหวร่างกาย เช่นถ้าเด็กอยู่ไม่นิ่งหรือนิ่งไปเลยอาจจะให้เขาเคลื่อนไหวร่างกาย เล่น วิ่งแล้วหยุด สื่อว่าตอนนี้ปลอดภัยแล้ว ให้นิ่งสลับกระโดด ให้เขาแตะสัมผัสร่างกายตัวเอง ลูบแขน ขา ตัว ให้รู้สึกว่าร่างกายยังอยู่ดี ปลอดภัยแล้ว ถ้าเด็กตื่นเต้น ร่างกายสั่น ให้เขาเอามือจับที่หัวใจตัวเอง เป่าลมหายใจออกทางปาก เหมือนตอนที่เรารู้สึกโล่งอก ถ้าลูกมีอาการตาลอยไม่โฟกัสหรือหลุกหลิก ลองใช้เกมรักษาอาการ เช่น เกมมองตา บอกให้เขามองตากับเรานานๆ หรือมองไปตามจุดซ้าย ขวา ตามที่เราบอก ให้เกิดการเคลื่อนไหวตามทิศทาง เพื่อรักษาอาการโดยเชื่อมโยงร่างกายกับจิตใจ เพราะการจะบอกว่าอย่าคิดมากอาจทำไม่ได้ เราไม่สามารถปรับตัวปรับความคิดได้ การทำทั้งหมดนี้เพื่อให้เขากลับมาอยู่ในภาวะปกติไวที่สุด

สำหรับการเตรียมพร้อมบุตรหลานรับมือเหตุไม่คาดฝัน ทั้งเหตุรุนแรง ภัยก่อการร้าย ภัยธรรมชาติ ดร.จิตราแนะนำว่าเรื่องเหล่านี้เราสอนเด็กได้ทุกวันตามปกติ เช่น การหนีหากเผชิญไฟไหม้ สอนวิธีการว่าต้องหลบอย่างไร หรือเมื่อเข้าไปในห้าง ให้ลูกดูสัญลักษณ์ว่าตรงไหนคือทางออก ตรงไหนคือลิฟต์ เมื่อมีเรื่องเกิดขึ้นเขาสามารถวิ่งไปหลบตรงไหนได้ เขาควรเข้าลิฟต์หรือไม่ หรือควรเข้าที่ปลอดภัยตรงไหน สอนให้เขามีสติ ไม่โวยวายหรือร้องไห้ หรือถ้าเกิดภาวะตื่นตระหนกการแก้ควรทำอย่างไร เช่น ฝึกลมหายใจ คิดว่าต้องทำอย่างไรต่อไป สอนเด็กให้รู้เท่าทันก่อน

นักจิตวิทยาแนะ

“แต่ถ้าเป็นเรื่องการเก็บกดอารมณ์ เช่นเมื่อเด็กถูกกระทำจากเพื่อน ถูกเพื่อนเอาเปรียบ เด็กมาฟ้อง หรือแม้แต่ไปเห็นเหตุการณ์ร้ายแรง จะเกิดเป็นภาพในความทรงจำ เราต้องสอนวิธีคิดกับลูก อาจใช้วิธีตั้งคำถามเรื่องราวที่อาจเกิดขึ้น เช่นเห็นคนทิ้งขยะควรทำอย่างไร เจอฝุ่น PM 2.5 ควรทำอย่างไร อย่าสอนเฉพาะการประสบเหตุ เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเกิดขึ้นในชีวิต

แต่ควรสอนวิธีคิดที่เขาจะรู้วิธีแก้ไขสถานการณ์ ไม่ต้องพูดถึงเหตุรุนแรงก็ได้ ถ้าเขามีกระบวนการคิดเป็นขั้นตอน สอนทุกๆ วัน บอกเขาทุกๆ วันว่ามีอะไรเกิดขึ้นต้องตั้งสตินะลูก ค่อยๆ หาทางออก ทางออกคืออะไร ทางเลือกคืออะไร ทำให้เป็นเรื่องที่สอนกันปกติในชีวิตประจำวัน” ดร.จิตรากล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน