ป้องกันท้อง-ป้องกันโรค

การให้ความรู้แก่วัยรุ่น 2020

ป้องกันท้อง-ป้องกันโรค – ช่วงเดือนแห่งความรัก และวันถุงยางอนามัยสากล (International Condom Day 2020) สสส. กรมควบคุมโรค กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิแพธทูเฮลท์ (P2H) มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ (Access) และสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย จึงถือโอกาสจัดงานแถลงข่าวส่งเสริมการมีสุขภาวะทางเพศ “วัยรุ่น 2020 รู้จักป้องกันท้อง ป้องกันโรค” ที่ห้องกรีน อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ เมื่อ 12 ก.พ.

ป้องกันท้อง-ป้องกันโรค การให้ความรู้แก่วัยรุ่น 2020 : สสส.

พญ.มณฑินี วสันติอุปโภคากร รองผู้อำนวยการกองโรคเอดส์ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค สธ. กล่าวว่า เด็กไทยส่วนมากพบว่ามีความรู้เรื่องการใช้ถุงยางอนามัย เรื่องเอชไอวี แต่ไม่ค่อยตระหนัก เพราะด้วยที่ผ่านมาเราพยายามปรับภาพลักษณ์บอกว่าผู้ติดเอชไอวีใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้ตามปกติ หากดูแลตัวเองอย่างดี วัยรุ่นส่วนมากจึงไม่กลัว ทั้งที่แท้จริงแล้วต่อให้ไม่ใช่เอชไอวีก็มีโอกาสที่จะติดโรคทางเพศสัมพันธ์โรคอื่นๆ ได้หากไม่ใช้ถุงยางอนามัย

สถิติปี 2562 พบเยาวชนอายุ 15-24 ปี ป่วยด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 5 โรค ได้แก่ หนองใน ซิฟิลิส หนองในเทียม แผลริมอ่อน และกามโรคของต่อมและท่อน้ำเหลืองสูงถึง 124.6 ต่อประชากรแสนคน คือพบผู้ติดโรค 14 คนต่อวัน หากแยกรายโรคพบว่า โรคหนองในสูงถึง 69.7 และซิฟิลิส สูงถึง 39.3 ต่อประชากรแสนคน ตามลำดับ

ป้องกันท้อง-ป้องกันโรค การให้ความรู้แก่วัยรุ่น 2020 : สสส.

พญ.มณฑินี วสันติอุปโภคากร

ส่วนอัตราการคลอดของแม่วัยรุ่น ที่แม้ขณะนี้เริ่มมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อเทียบกับประเทศที่มีระดับการพัฒนาที่ใกล้เคียงกัน การคลอดของวัยรุ่นไทยก็ยังคงอยู่ในอัตราที่สูง พบอัตราการคลอดในวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี เท่ากับ 35 ต่อจำนวนประชากรหญิง 1,000 คน กรมควบคุมโรคจึงพัฒนาร่างยุทธศาสตร์ด้านถุงยางอนามัย พ.ศ.2563-2573 ภายใต้ยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ พ.ศ.2560-2573

การขับเคลื่อนดำเนินงานผ่านยุทธศาสตร์ 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.การส่งเสริมให้การใช้ถุงยางอนามัย เป็นวิถีชีวิตประจำวันของประชาชน 2.การส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงถุงยางอนามัย 3.การพัฒนาระบบบริหารจัดการและควบคุมคุณภาพถุงยางอนามัย 4.การพัฒนานโยบายและเสริมสร้างกลไกการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ถุงยางอนามัย และ 5.การควบคุม กำกับ ติดตาม และประเมินผลยุทธศาสตร์ถุงยางอนามัย

นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า หากถามว่า สสส.ทำแบบนี้ถือว่าเป็นการชี้โพรงให้ วัยรุ่นมีอะไรกันหรือไม่ อยากตอบว่าสิ่งที่ สสส.ทำคือการมองสังคมตามความเป็นจริง เราอยู่กับบุตรหลานไม่ได้ตลอดเวลา สิ่งที่เราทำได้คือการให้ความรู้แก่เขา ให้เขารู้เท่าทันตัวเอง ป้องกันตัวเองได้ อีกทั้งอยากให้เรื่องเพศเป็นเรื่องที่คุยกันได้ในครอบครัว อยากเห็นวัยรุ่นเข้าถึงถุงยางอนามัยได้มากขึ้น มีความรับผิดชอบต่อตัวเองและคนที่มีเพศสัมพันธ์ด้วย

ป้องกันท้อง-ป้องกันโรค การให้ความรู้แก่วัยรุ่น 2020 : สสส.

ชาติวุฒิ วังวล

“สสส.ขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ เพราะประเด็นด้านสาธารณสุขพื้นฐานที่ต้องให้ความสำคัญ ซึ่งที่ผ่านมา สสส.พัฒนาจังหวัดต้นแบบขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น โดยประสานกับคณะทำงานท้องวัยรุ่นจังหวัด จัดทำหลักสูตรพัฒนาผู้นำเยาวชนในการเป็นผู้พิทักษ์สิทธิตามมาตรา 5 ของ พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559

โดยทำงานกับเยาวชน มีการพัฒนาชุดความรู้การสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ โดยประสานกับชุมชน ท้องถิ่นและโรงเรียน มีระบบพัฒนาทักษะ ผู้ปกครองให้สามารถสื่อสารเชิงบวกกับบุตรหลานในเรื่องเพศได้ โดยประสานกับพ่อแม่ผู้ปกครองและสถานประกอบการ อีกทั้งยังมีการสื่อสารรณรงค์ในระดับประเทศเพื่อสร้างความรับรู้ใหม่ในประเด็นเรื่องเพศและการติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งต้องเร่งดำเนินการรับมือให้ทันกับการเปลี่ยน แปลงของสภาพแวดล้อมที่รวดเร็ว” นายชาติวุฒิกล่าว

นายสมวงศ์ อุไรวัฒนา รองผู้อำนวยการ Access และผู้รับผิดชอบโครงการสายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม 1663 กล่าวว่า สถิติจากสายด่วน 1663 ปี 2562 พบว่าร้อยละ 80 ของผู้ที่โทรศัพท์เข้ามาขอคำปรึกษาเพราะกังวลเรื่องเอชไอวี/เอดส์ เป็นเพศชาย มีอายุระหว่าง 25-45 ปี มากกว่าเพศหญิงซึ่งยังไม่ได้กังวลเรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และทั้งเพศหญิงและชายมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย เพราะไว้ใจคู่รัก

ป้องกันท้อง-ป้องกันโรค การให้ความรู้แก่วัยรุ่น 2020 : สสส.

สมวงศ์ อุไรวัฒนา

ที่น่ากังวลยิ่งขึ้นคือการพบว่าเพศชาย ที่โทร.มาจำนวนหนึ่งมีคู่นอนหลายคนและไม่พร้อมเปิดเผยความเสี่ยงกับคู่รักของตนเอง นอกจากนี้ สถิติยังพบเพศหญิงวัยทำงานร้อยละ 70 และเพศหญิงอายุต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 30 โทร.เข้ามาขอคำปรึกษาเรื่องการตั้งครรภ์ไม่พร้อม อันเป็นผลมาจากการมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกัน

ทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาของการรณรงค์ส่งเสริมให้คนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะวัยรุ่นมีความรับผิดชอบ พกและใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และตั้งครรภ์ไม่พร้อม

น.ส.สุพัฒนุช สอนดำริห์ ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม กล่าวว่า ปีนี้ สสส.ได้มีแคมเปญในการทำสื่อออกมาหลายรูปแบบ ทั้งคลิปที่เผยแพร่ลงทางออนไลน์, Sex Education X สสส., Digital Poster ให้ความรู้เรื่องถุงยาง และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และ Photo Album ให้ความรู้เรื่องถุงยาง และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

ป้องกันท้อง-ป้องกันโรค

สุพัฒนุช สอนดำริห์

“สื่อที่เราทำนั้น เราอยากจะส่งสารออกไปยังประชาชนให้ได้มากที่สุด เพราะจากการสำรวจที่ผ่านมาพบว่าคนส่วนใหญ่ยังมีทัศนคติที่ทำให้ยังไม่กล้าเปิดใจคุยเรื่องเพศกับคนในครอบครัว เราก้าวข้ามเรื่องการป้องกันไปแล้ว และพยายามสร้างทัศนคติใหม่ต่อประชาชนอยู่” น.ส.สุพัฒนุชกล่าว

 

เรื่องโดย…ธีรดา ศิริมงคล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน