มะเร็งกระเพาะอาหาร

จับสัญญาณเตือน

ท้องอืด-อาหารไม่ย่อย

มะเร็งกระเพาะอาหาร (Stomach Cancer หรือ Gastric Cancer) เป็นมะเร็งที่ติดอันดับ 1 ใน 10 ของมะเร็งที่คนไทยเป็นกันมากที่สุด และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 3 ของการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งทั้งหมดทั่วโลก

มะเร็งกระเพาะอาหาร

ผศ.นพ.ธัชธรรม์ สุขสมบูรณ์เจริญ

 

ผศ.นพ.ธัชธรรม์ สุขสมบูรณ์เจริญ หน่วยโรคมะเร็ง ภาควิชาอายุรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า สิ่งที่น่ากลัวที่สุดของโรคนี้คือ อาการในระยะแรกเริ่ม ซึ่งจะดูเป็นอาการที่พบได้บ่อยๆ และไม่รุนแรง เช่น ท้องอืด เรอบ่อย แสบร้อนกลางอก ปวดท้อง แน่นท้อง คลื่นไส้ ไม่อยากอาหาร เป็นต้น

เมื่อระยะของโรคพัฒนามากขึ้น อาจทำให้รู้สึกไม่สบายท้อง โดยเฉพาะช่องท้องบริเวณส่วนบนและตรงกลาง มีเลือดปนอุจจาระ อาเจียนเป็นเลือด น้ำหนักลด อ่อนเพลีย อาจมีลักษณะคล้ายกับอาการของโรค อื่นๆ เช่น โรคแผลในกระเพาะอาหาร ไวรัสลงกระเพาะอาหาร ซึ่งอาจทำให้มองข้ามสัญญาณเตือนเหล่านี้ไป ด้วยเข้าใจว่าเป็นอาการของโรคอื่น

มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งกระเพาะอาหาร

ผศ.นพ.ธัชธรรม์กล่าวต่อว่า มะเร็งกระเพาะอาหารมีหลายลักษณะ ทั้งเนื้อร้ายที่เกิดขึ้นในเยื่อบุ กระเพาะอาหาร มะเร็งต่อมน้ำเหลืองของกระเพาะอาหาร และมะเร็งของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันหรือมะเร็งจิสต์ (GIST) โดยมีสาเหตุที่แตกต่างกันออกไป

เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียเอช.ไพโลไร (H. Pylori) ในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้น การอักเสบของกระเพาะอาหารเรื้อรังจากการกินอาหารบางชนิดที่ไปกระตุ้นให้เกิดการอักเสบ เช่น อาหารปิ้งย่าง รมควัน รสเค็ม หรืออาหารหมักดอง การสูบบุหรี่จัด หรือดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ พันธุกรรม รวมไปถึงผู้ที่เคยเป็นโรคมะเร็งที่ส่วนอื่นของร่างกายมาก่อน

นอกจากปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวมา ยังมีลักษณะทางกายภาพอื่นๆ ของผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ที่ควรระวังและหมั่นตรวจสอบร่างกาย ได้แก่ ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป โรคนี้พบได้ในเพศชายมากกว่าเพศหญิงถึง 2 เท่า พบในชาวเอเชียมากกว่าชนชาติอื่นๆ และพบในผู้ที่มีกรุ๊ปเลือดเอ มากกว่ากรุ๊ปอื่น ผู้ที่มีประวัติเคยผ่าตัดกระเพาะอาหารมานานกว่า 20 ปี และผู้เป็นโรคโลหิตจางชนิดร้ายแรง (Pernicious Anemia) เป็นต้น

อาการเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งอาจจะไม่จำเพาะเจาะจงกับมะเร็งกระเพาะอาหารเสมอไป ยังมีโรคอื่นๆ ที่พบได้บ่อยกว่ามะเร็งกระเพาะอาหาร เช่น โรคกระเพาะอาหารอักเสบ กรดไหลย้อน เป็นต้น

ผศ.นพ.ธัชธรรม์ อธิบายถึงแนวทางการรักษามะเร็งชนิดนี้ว่า การรักษามะเร็งกระเพาะอาหารจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทีมแพทย์ ในสาขาต่างๆ เช่น ศัลยแพทย์ รังสีแพทย์ และอายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็ง เพื่อวางแผนการรักษาที่ได้ประสิทธิภาพ และเหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย โดยประเมินวิธีการรักษาจากหลายปัจจัย เช่น ขนาด ตำแหน่ง ลักษณะของเซลล์มะเร็ง ระยะของโรคและการกระจายของเซลล์มะเร็ง รวมถึงสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย

ถ้าผู้ป่วยไม่มีข้อจำกัดทางโรคประจำตัวหรือโรคร่วมที่มากเกินไป หากพบว่าเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารระยะแรก ควรประเมินถึงการผ่าตัดออกทั้งหมด และในบางราย อาจจะมีการรักษาเสริม ไม่ว่าจะเป็นการรักษาเสริมด้วยยาเคมีบำบัดอย่างเดียว หรือเคมีบำบัดร่วมกับการฉายรังสีรักษา แล้วแต่ความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย

การรักษาเสริมเหล่านี้ เพื่อลดอุบัติการณ์การกลับมาเป็นซ้ำของโรค หากเป็นระยะ ที่ไม่สามารถผ่าตัดออกได้หรือระยะแพร่กระจาย และยังมีสุขภาพโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี

การรักษามะเร็งระยะนี้สามารถใช้ยาเคมีบำบัด อาจให้ร่วมกับยาที่ออกฤทธิ์จำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง หรือยายับยั้งการสร้างหลอดเลือด รวมถึงการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด ซึ่งเป็นการใช้ภูมิคุ้มกันในร่างกายต่อสู้กับเซลล์มะเร็ง เพื่อยับยั้งระบบควบคุมและสั่งการให้มีการทำลายเซลล์แปลกปลอมหรือหยุดการทำลายเซลล์ของร่างกาย เพราะบางกรณีเซลล์มะเร็งจะอาศัยระบบนี้ในการซ่อนตัวจากการถูกทำลายโดยระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย

ยากลุ่มนี้จึงได้รับการพัฒนาขึ้นมาเพื่อกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันตรวจจับเซลล์มะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดผลข้างเคียงได้มากขึ้นอีกด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน