สตรอว์เบอร์รี่พระราชทาน ๘๐ สร้างรายได้เกษตรกรพื้นที่สูง

“ตามรอย…ดอยคำ” สืบสาน-สานต่อ โครงการพระราชดำริ

ในหลวง ร.9

สตรอว์เบอร์รี่พระราชทาน ๘๐ – “สตรอว์เบอร์รี่ พันธุ์พระราชทาน ๘๐ คัดพิเศษ” ผลไม้สดเฉพาะฤดูกาลจาก “ดอยคำ” ที่ส่งตรงจากเกษตรกรถึงมือชาวไทย

สิ่งสำคัญคือ ดอยคำ อยากให้ผู้บริโภคกินสตรอว์เบอร์รี่ที่สด ที่มีคุณภาพดี จึงเป็นเหตุผลของการคัดสรร สตรอว์เบอร์รี่ พันธุ์พระราชทาน ๘๐ ผลใหญ่พิเศษ รูปทรงคล้ายรูปหัวใจ เนื้อผิวสวย รสชาติดีและกลิ่นหอม เหมาะกับการทานสดๆเพื่อนำมาบรรจุลงกล่องส่งตรงมายังผู้บริโภค แต่เหตุผลสำคัญคือ การทำให้เกษตรกรมีความ “อยู่ดี กินดี”

สำหรับ “สตรอว์เบอร์รี่ พันธุ์พระราชทาน ๘๐” ถือเป็นผลผลิตจากการส่งเสริมเกษตร ตามโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำแม่งอน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งปัจจุบันนี้เป็นสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมและยอมรับในเรื่องของรสชาติอย่างกวางขวาง

ทั้งนี้ ดอยคำ ร่วมส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกและรับซื้อในราคาที่เป็นธรรม ก่อนจะนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้งสตรอว์เบอร์รีอบแห้ง น้ำสตรอว์เบอร์รี่ และสตรอว์เบอร์รี่ทาขนมปัง

จากการส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง ดอยคำ เห็นถึงคุณภาพของสตรอว์เบอร์รีที่ดีขึ้น จึงให้เกษตรกรคัดเอาลูกพิเศษจากสตรอว์เบอร์รี่พันธุ์ดีนี้ มาจำหน่ายแบบสด ในระดับความสุก 90% ทำให้ได้สตรอว์เบอร์รีมีรสชาติดี รสสัมผัสที่นุ่ม และบรรจุกล่องสวยงาม

นอกจากนี้ ดอยคำ ยังใส่ใจในความภาคภูมิใจของเกษตรกร โดยติดฉลากชื่อเกษตรกรไว้ที่กล่อง เพื่อให้ผู้บริโภครู้จักแหล่งที่มา และมั่นใจเรื่องคุณภาพของสตรอว์เบอร์รี่ ที่สำคัญเป็นการสร้างความภูมิใจให้กับเกษตรกรอีกด้วย

นายพิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา “ดอยคำ” ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกสตรอว์เบอร์รี่ พันธุ์พระราชทาน ๘๐ ก่อนนำส่งให้ดอยคำแปรรูป และเมื่อเราส่งเสริมมาระยะหนึ่ง เห็นว่าเกษตรกรพัฒนาผลผลิตจนทำให้มีผลสตรอว์เบอร์รี่ที่มีคุณภาพ ทั้งขนาดและรสชาติ

พร้อมมองว่าการจำหน่ายสตรอว์เบอร์รี่แบบสดนั้นทำให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น ดอยคำจึงให้เกษตรกรคัดเลือกสตรอว์เบอร์รี่ผลใหญ่พิเศษ ขนาดความสุกกำลังพอดี ที่เราเรียกว่า “สตรอว์เบอร์รี่ พรีเมียม” บรรจุลงกล่องแล้วส่งตรงให้กับผู้บริโภค ช่วงต้นฤดูในเดือนม.ค.และก.พ.ของทุกปี

“สตรอว์เบอร์รี่ที่นำเข้าจากต่างประเทศ มีราคาสูงเกินความเป็นจริง ในขณะที่คุณภาพนั้นไม่ต่างกันกับของที่เราผลิตได้เองในประเทศ ทั้งรสชาติ กลิ่นและสี รวมถึงขนาดของผล มีความพรีเมียม เว้นอย่างเดียวคือ ระยะเวลาในการเก็บรักษาและระยะเวลาในการรับประทานมีเพียงแค่ 3 วัน เพราะเราเก็บที่ความสุก 90%

ที่สำคัญเรารับซื้อจากเกษตรกรในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้มาจุนเจือครอบครัว ซึ่งช่วงที่เกษตรกรส่งสตรอว์เบอร์รี่แบบสดมา เขาจะได้ราคาที่สูงมาก โดยเราให้ความรู้เกษตรกรตั้งแต่ปลูกไปจนเก็บเกี่ยวและแพคลงกล่อง จากนั้นดอยคำนำมาตรวจสอบคุณภาพ แล้วส่งจำหน่ายไปยังผู้บริโภคแบบวันเว้นวัน” นายพิพัฒพงศ์ กล่าว

เพื่อตอกย้ำความสำเร็จ “สตรอว์เบอร์รี่ พันธุ์พระราชทาน ๘๐” ดอยคำ จัดกิจกรรมสื่อสัญจร “ตามรอย…ดอยคำ” ประจำปี 2563 ระหว่างวันที่ 26-28 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยเริ่มต้นด้วยการเข้าชมโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๑ (ฝาง) จ. เชียงใหม่ ก่อนเดินทางเข้าพื้นที่เยี่ยมชมวิถีเกษตรกรพื้นที่สูง และเรียนรู้การปลูกสตรอว์เบอร์รี ที่บ้านหนองเต่า ต.ม่อนปิ่น อ.ฝาง จ.เชียงใหม่

จากนั้นร่วมสังเกตการณ์ โรงเก็บผลิตภัณฑ์เกษตร โรงปฏิบัติการวิจัยทางพืช โรงเรือนควบคุมสภาพแวดล้อม พร้อมชมเทคโนโลยีการวิจัย เนื้อเยื่อสตรอว์เบอร์รี่ และโรงเรือนปลูกสตรอว์เบอร์รี่ที่ใหญ่ที่สุดในพื้นที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ปิดท้ายรับฟังบรรยาย พร้อมชมขั้นตอนการผลิต เครื่องผลิตน้้ำผลไม้ดอยคา ในกล่อง UHT ที่โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๒ (แม่จัน) จ.เชียงราย

สำหรับการลงพื้นที่ บ้านหนองเต่า ต.ม่อนปิ่น อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ได้พูดคุยกับ “พี่มนูญ”มนูญ ภูแสนธนา หรือ “แอเบอะ”ที่ชาวบ้านเรียกขาน ในฐานะเกษตรกรชาวเขาดีกรีปริญญาตรี นิติศาสตร์ ราชภัฎเชียงใหม่ ผู้สร้างความฝันผันตัวเกษตรกรปลูกสตรอว์เบอร์รี่ เล่าให้ฟังว่า บ้านตนอยู่ห่างจากชายแดน 3 กิโลเมตร และพ่อแม่ทำไร่สิ้นจี่ รายได้แล้วแต่ผลผลิตในแต่ละฤดูกาล แต่ที่มีแน่นอนคือหนี้

ดังนั้นจึงต้องขยันทั้งช่วยพ่อแม่และเรียน เบื้องต้นอยากเรียนทางด้านกฎหมาย เพื่อมีความรู้ไม่ให้ใครมาเอารัดเอาเปรียบ เมื่อสำเร็จการศึกษาได้เข้าไปทำงานที่มูลนิธิคาทอลิก ดูเรื่องเกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐานให้กับชาวบ้าน และทำอยู่เกือบสองปี ช่วงหลังจึงทำแบบคู่ขนานกับการปลูกสตรอว์เบอร์รี่

กระทั่งช่วงปี 2558 เจ้าหน้าที่ส่งเสริมพัฒนาเกษตรฯ โรงงานหลวงฯ ดอยคำ เข้ามาให้องค์ความรู้การปลูกสตรอว์เบอร์รี่ พร้อมทั้งวางแผนงาน การส่งเสริม และหาช่องทางการตลาด ดูแลเราเหมือนญาติ ดูแลพวกเราอย่างดีมาโดยตลอด 6 ปี ทั้งสอบถามสารทุกข์สุกดิบ ที่สำคัญไม่เคยเอาเปรียบเกษตรกรอย่างพวกเรา ทำให้เรารู้สึกสบายใจ ดีใจมาก และสิ่งสำคัญคือ ความเป็นอยู่ของชาวบ้านดีขึ้นเรื่องๆ อย่างเห็นได้ชัด นับแต่ปี 58 จนถึงปัจจุบัน

“ภายหลังจากดอยคำเข้ามาแนะแนวทางการปลูกสตรอว์เบอร์รี่ ผมจึงหันมายึดอาชีพเกษตรกร และตั้งใจปลูกดูแลผลผลิตอย่างดี ทำตามแนวทางที่ เจ้าหน้าที่ส่งเสริมพัฒนาเกษตรฯมาให้ความรู้ เพราะเมื่อผลผลิตดี มีคุณภาพ ผู้บริโภคก็ได้รับกินสตรอว์เบอร์รี่ที่ดี ที่สำคัญรายได้เข้าครอบครัวผมก็ดีด้วยเช่นกัน

ตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ดูแลเอาใจใส่การปลูกสตรอว์เบอร์รี่ ทำให้มีรายได้ปีเริ่มต้นหลักหมื่นหรือหลักแสน และเคยทำได้ถึง 150,000 บาท และปีนี้ผลผลิตดีชาวบ้านมีรายได้เกินหลักแสนหลายครอบครัว

ต้องขอบคุณ เจ้าหน้าที่ส่งเสริมพัฒนาเกษตรฯ โรงงานหลวงฯ และดอยคำ ที่ช่วยนำผลผลิตสตรอว์เบอร์รี่ พันธุ์พระราชทาน ๘๐ ถึงผู้บริโภค ที่สำคัญทำให้ชาวบ้าน “อยู่ดี กินดี” ถึงทุกวันนี้” เพราะถ้าไม่มี “ดอยคำ” เกษตรกรชาวเขาติดขอบชายแดนอย่างเราคงไม่ได้ “อยู่ดี กินดี” อย่างทุกวันนี้ จากวันนั้นที่ไม่มีอะไร แถมมีหนี้มีสิน แต่เมื่อโรงงานหลวงดอยคำเข้ามา พวกเรามีชีวิตดีขึ้น ไม่ต้องเข้าไปทำงานในเมืองใหญ่ แต่ได้ทำงานที่ถนัดร่วมกับคนในหมู่บ้าน ทั้งใช้ชีวิตในวิถีของเรา ทุกวันนี้อยู่ร่วมกับครอบครัวมีความสุขมากๆ”

“พี่มนูญ” บอกเล่าถึงความประทับใจครั้งหนึ่งในชีวิตว่า ตนรู้สึกปลาบปลื้มอย่างยิ่งที่ได้เข้ารับพระราชทานใบรับรองมาตรฐานเกษตรดีที่เหมาะสม (GAP) จากการผลิตพืชผักผลไม้คุณภาพดีมีความปลอดภัย จากพระหัตถ์ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นช่วงเวลาที่ตื่นเต้น ตื้นตันใจเป็นที่สุด ผมภูมิใจมาก และผมจะรักษาคุณงามความดีที่ได้รับตรงนี้ให้ดีที่สุด เพื่อให้ผลผลิตออกมาดีมีคุณภาพ และผู้บริโภคได้กินสตรอว์เบอรี่ที่ดีและมีประโยชน์”

ด้าน “พี่มอ” ธนกฤต จันทรสมบัติ เจ้าหน้าที่ส่งเสริมพัฒนาเกษตร โรงงานหลวงอาหารสําเร็จรูปที่ ๑ (ฝาง) จ.เชียงใหม่ เด็กหนุ่มไฟแรงวัย 27 ชาวแม่จัน เปิดเผยว่า หน้าที่หลักของตน คือการนำเอาองค์ความรู้ทางวิชาการเกษตรที่ผ่านการวิจัยจากโรงปฏิบัติการวิจัยทางพืชมาถ่ายทอดให้กับพี่น้องเกษตรกรบนพื้นที่สูง

โดยเฉพาะเกษตรกรที่ปลูกสตรอว์เบอร์รี่ และมัลเบอร์รี่ ซึ่งดูแลพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่ จ.เชียงใหม่ 3 อำเภอ ประกอบไปด้วย อ.ฝาง อ.ไชยปราการ อ.แม่อาย โดยในพื้นที่ทั้งสามอำเภอมีเกษตรกรปลูกสตรอว์เบอร์รี่รวมทั้งสิ้น 50 ไร่ 85 ครัวเรือน เริ่มปลุกตั้งแต่เดือนต.ค.เก็บผลผลิตได้ 5 เดือน

ตั้งแต่กลางเดือนธ.ค.62 จนถึงสิ้นเดือนเม.ย.63 ซึ่งจะมีรายได้ต่อครัวเรือนเฉลี่ย 7-8 หมื่นบาท แต่ถ้าเกษตรกรมีความตั้งใจขยันเอาใจใส่และดูแลสตรอว์เบอร์รี่อย่างดี ก็สามารถทำรายได้มากถึง 1-2 แสนบาทต่อครัวเรือน ปีที่ผ่านมามีเกษตรกรขายสตรอว์เบอร์รี่ได้ 1 แสนบาท ทั้งสิ้น 10 ราย และ 2 แสนบาท 5 ราย

อย่างไรก็ตามหลังเสร็จสิ้นการปลูกสตรอว์เบอร์รี่ ช่วงเดือนเม.ย. ต่อเนื่องเดือนพ.ค.เกษตรกรรอเก็บผลผลิตลิ้นจี่ ซึ่งปีนี้คาดว่าจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก เนื่องจากในปีนี้ภาคเหนือมีอาหารหนาวต่อเนื่อง ทำให้ต้นลิ้นจี่ออกดอกเป็นจำนวนมาก

หลังจากที่ช่วงสองปีที่ผ่านมาลิ้นจี่ไม่ออกผล เมื่อเมื่อเสร็จสิ้นเก็บผลลิ้นจี่ ชาวบ้านจะเริ่มปลูกข้าวนอกเหนือจากเก็บไว้ทางเอง ชาวบ้านก็จะนำไปจำหน่าย จากนั้นจะเริ่มปลูกสตรอว์เบอร์รี่อีกครั้ง ซึ่งจุดนี้สะท้อนให้เห็นว่าชาวบ้านบนพื้นที่สูงมีกิจกรรมทางการเกษตรต้องทำตลอดทั้งปี และหากว่าขยัน อดทน เอาใจใส่พืชผลของตนเอง เชื่อว่าทุกครัวเรือนจะมีรายได้จุนเจือเลี้ยงครอบครัวได้ตลอดทั้งปี”

 

“บ้านผมก็มีอาชีพที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรเช่นกัน ดังนั้นจึงมีความผูกพันกับชาวไร่ชาวสวน ด้วยเหตุนี้ผมจึงมีความฝันที่อยากมีส่วนช่วยเหลือเกษตรกร จึงเลือกศึกษาต่อในคณะที่เกี่ยวกับเกษตร ก่อนสอบติดคณะเกษตรฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กระทั่งได้ฝึกงานที่ โรงงานหลวงอาหารสําเร็จรูปที่ ๒ (แม่จัน) จ.เชียงราย

พอดีช่วงนั้นทางโรงงานเปิดรับสมัครเจ้าหน้าที่ ผมจึงได้สมัครและได้รับคัดเลือกให้เข้ามาทำงานที่ โรงงานหลวงอาหารสําเร็จรูปที่ ๑ (ฝาง) จ.เชียงใหม่ รู้สึกดีใจได้ทำงานที่ตนเองชอบ เพราะผมเชื่อว่าหากได้ทำงานที่ชอบแล้วชิ้นงานที่ทำย่อมประสบความสำเร็จ และตลอดที่ผมทำงานกว่า 3 ปี ผมตั้งใจทำงานเต็มความสามารถ และดีใจทุกครั้งที่เกษตรกรมีผลผลิตดี เพราะตรงนี้จะนำมาซึ่งรายได้สู่เกษตรกรโดยตรง” เจ้าหน้าที่ส่งเสริมพัฒนาเกษตร โรงงานหลวงอาหารสําเร็จรูปที่ ๑ (ฝาง) จ.เชียงใหม่ เผยด้วยความประทับใจ

ธนกฤต บอกเล่าอีกว่า จากการได้เข้ามาสัมผัสชีวิตของพี่น้องเกษตรกรพื้นที่สูงทำให้รู้สึกผูกพันอย่างมาก และเห็นชัดเจนว่า ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น มีสุขภาพจิตสุขภาพกายที่ดีขึ้น อีกทั้งชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ส่งเสริมพัฒนาเกษตรฯ สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างดี ส่วนหนึ่งเนื่องจากเรานำเอาผลสรุปงานวิจัยของนักวิจัยมาถ่ายทอดให้เกษตรกร ก่อนลงมือทำงานในไร่ตัวเอง ในทางกลับกันเราก็พร้อมรับฟังปัญหาของเกษตรกรที่สะท้อนจากประสบการณ์จริงในทางปฏิบัติ เพื่อส่งสารต่อถึงนักวิจัย เพื่อนำไปสู่การพัฒนาสายพันธุ์พืชที่ให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

“ส่วนตัวมองว่ากิจการด้านการพัฒนาการทางการเกษตรไม่มีวันที่สิ้นสุด เพราะการพัฒนางานทางด้านเกษตรนั้นจะพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ ไม่มีวันสิ้นสุด ดังนั้นยังมีอะไรอุปสรรค์อีกมากที่ท้าทายอีกมากรอเราพิสูจน์ฝีมืออยู่ เพื่อให้เราเอาความรู้ดีๆ ไปส่งต่อเกษตรกรลงมือปลูกจริง

เมื่อเกษตรกรพื้นที่สูงสามารถปลูกสตรอว์เบอร์รี่ได้ผลผลิตงอกงาม ดอยคำนำเสนอต่อไปสู่ตลาด ผู้บริโภคได้รับประทานผลสตรอว์เบอร์รี่ที่ดีมีคุณภาพ เชื่อว่าทุกฝ่ายก็สมหวังตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ”

ส่วน “พี่แนน” ศิรินภา ไชยพล ผู้จัดการแผนกนวัตกรรมเกษตร (Lab) โรงงานหลวงอาหารสําเร็จรูปที่ ๑ (ฝาง) จ.เชียงใหม่ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด พาชมโรงเรือนแห่งใหม่นี้พร้อมเปิดเผยว่า โรงเรือนสำหรับทำการวิจัยผลการปลูก “สตรอว์เบอร์รี่พันธุ์พระราชทาน ๘๐” ซึ่งเป็นโรงเรือนระบบ อีวาโปเรทีฟ คูลลิ่ง ซิสเต็มส์ (Evaporative Cooling Systems) หรือ Evap

ซึ่งเป็นโรงเรือนระบบปิด ที่สามารถควบคุมอุณหภูมิและน้ำภายในโรงเรือน เป็นการควบคุมระบบแบบอัตโนมัติ และควบคุมอุณหภูมิภายในห้องไว้ที่ 20-25 องศา ดังนั้นจึงสามารถควบคุมขบวนการผลิต และสามารถดูรักษาป้องกันโรคได้ทั่วถึงทั้งโรงเรือน

สำหรับโรงเรือนแห่งนี้มีทั้งสิ้น 14 โรงเรือน แบ่งเป็นโรงเรือนของโครงการวิจัยฯ 6 โรงเรือน และโรงเรือนเกษตรกรสมัครใจเข้าร่วมโครงการ 3 โรงเรือน ซึ่งภายในโรงเรือนนั้นจะแบ่งแถวการปลูกออกเป็น 16 ราง 8 แถว ปลูกรวมทั้งสิ้น 2,200 ต้น โดยเริ่มต้นโครงการปลูกสตรอว์เบอร์รี่ตั้งแต่วันที่ 5 ต.ค.62 และสิ้นสุดโครงการปลายเดือน เม.ย.

อีกทั้งดำเนินการปลูกสตรอว์เบอร์รี่แบบคู่ขนาน ซึ่งจะมีความแตกต่างกัน ทั้ง ผู้ปลูก กระบวนการปลูก และวิธีการดูแลสตรอว์เบอร์รี่ แต่ทุกขั้นตอนตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงกระบวนการเก็บผลผลิตเหล่านั้นจะมีการบันทึกข้อมูลอย่างละเอียด เพื่อนำผลของข้อมูลทั้งสองด้านมาประมวลผลการวิจัย เพื่อนำไปพัฒนาขั้นตอนการปลูกสตรอว์เบอร์รี่ให้ได้วิธีที่ดีที่สุด

“สำหรับโรงเรือนที่ใช้ในการวิชัยครั้งนี้ เป็นโรงเรือนที่ปลอดสตรอว์เบอร์รี่อินทรีย์ และนับตั้งแต่ปลูกสตรอว์เบอร์รี่ พันธุ์พระราชทาน ๘๐ กระทั่งต้นสตรอว์เบอร์รี่ออกผลผลิตนั้น ผลการจิจัยครั้งนี้ถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจ แต่ยังไม่สามารถสรุปผลการดำเนินการได้ เพราะต้องรอให้เสร็จสิ้นโครงการวิจัยในช่วงปลายเม.ย.

ซึ่งหลังจากนั้นจะมีการสรุปผลการดำเนินการแบบสมบูรณ์ ทั้งนี้ในการตอนการดูแลนั้นเราควบคุมผลสตรอว์เบอร์รี่ให้มีขนาด AA – A – B และจากการชั่งน้ำหนักผลสตรอว์เบอร์รี่ พบว่าลูกสตรอว์เบอร์รีใหญ่สุดที่เก็บได้มีน้ำหนักถึง 35 กรัม และผลเฉลี่ยน้ำหนักผลสตรอว์เบอร์รี่โดยรวมอยู่ที่ 30-33 กรัม ถือว่าน่าพอใจระบบหนึ่ง แต่ยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจนต้องรอสิ้นสุดโครงการดังที่กล่าวมาแล้วขั้นต้น จากนั้นจะมีการประมวลผลการวิจัยครั้งนี้อย่างสมบูรณ์ชัดเจนอีกครั้ง”

ผู้จัดการแผนกนวัตกรรมเกษตร (Lab) เปิดเผยอีกว่า นอกจากนี้ เรายังมีการวิจัยในส่วนของต้นสตรอว์เบอร์รี่ในห้องแล็บ เพื่อเพาะพันธุ์ต้นที่ดีที่สุด แข็งแรงที่สุด ทนต่อโรค ซึ่งหากเราวิจัยแล้วเสร็จ จะได้พันธุ์สตรอว์เบอร์รี่ที่สมบูรณ์ จากนั้นส่งต่อให้เกษตรกรนำไปปลูกจริง ทั้งหมดนี้เพื่อสร้างความมั่นใจให้เกษตรกรที่ปลูกสตรอว์เบอร์รี่ จะได้ผลผลิตที่ดีและสร้างรายได้ให้เกษตรกร เพื่อความ “อยู่ดี กินดี” ต่อไป

ธนมนพร เตชะตน ผู้จัดการโรงงานหลวงอาหารสําเร็จรูปที่ ๑ (ฝาง) จ.เชียงใหม่ และรักษาการผู้จัดการโรงงานหลวงอาหารสาเร็จรูปที่ ๒ (แม่จัน) จังหวัดเชียงราย บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด บรรยายว่า โรงงานหลวงอาหารสําเร็จรูปที่ ๑ เกิดขึ้นเมื่อปี 2515 เพื่อแปรรูปผลไม้ และในปี 2517 โรงงานหลวงอาหารสาเร็จรูปที่ ๒ จึ้งเกิดขึ้นตามมา

 

โดยมีกิจกรรมหลัก ผลิตน้ำผลไม้บรรจุกล่อง อาทิ น้ำสตรอว์เบอร์รี่ น้ำลิ้นจี่ น้ำเสาวรส น้ำมะม่วง และน้ำมะเขือเทศ รวมถึงถั่วหลือง และผลไม้แช่แข็ง โดยทั้งสองโรงงานนั้นมีแนวทางที่ชัดเจน เริ่มตั้งแต่นำพืชผลไม้ให้เกษตรกรพื้นที่สูงปลูก รับซื้อผลิตผล ตั้งโรงงานแปรรูปผลไม้เป็นน้ำผลไม้พร้อมดื่ม รวมถึงแช่แข็งเพื่อส่งจำหน่ายต่างประเทศ ในส่วนของถั่วเหลือมีทั้งน้ำนมถั่วเหลือ ถั่วเหลืองอัดเม็ด และแป้งถั่วเหลือง ซึ่งถือเป็นเจ้าแรกของประเทศไทย ผลผลิตทั้งหมดสามารถตอบโจทก์ความต้องการของประชาชนอย่างมาก

“นอกจากนี้เน้นหลักเรื่องของ โรงงาน ชุมชน วัด โรงเรียน และสถานอนามัย โดยในส่วนของชุมชนนั้นเราส่งเสริมการปลูกผลไม้ซึ่งก็มีเกษตรกรพื้นที่สูงลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก และมากขึ้น และเมื่อผลไม้ออกผลผลิตมากจนล้นตลาด เราจึงนำมาแปรรูปดังที่กล่าว อีกทั้งการันตีกระบวนการผลิตจนถึงส่งออก

ซึ่งที่ผ่านมานั้นเราได้รับรางวัลระดับสากลมากมายหลายรางวัล อีกทั้งเพื่อต่อยอดความสำเร็จเรามีการสนับสนุนกิจกรรมด้านการเกษตรและการพัฒนางานวิจัย และนอกเหนือจากการปลูกสตรอว์เบอร์รี่ เรายังส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก ฝรั่งสีชมพู มัลเบอรี่ เสาวรส และเพื่อสร้างความมั่นใจเรามีมาตรการประกันราคาให้กับเกษตรกรที่ลงทะเบียนไว้กับดอยคำ

สิ่งสำคัญอีกหนึ่งประการคือการส่งเสริมการมีส่วนร่วมระหว่างโรงงานทั้งสองแห่งกับชุมชน ทั้งหมดนี้เพื่อให้เกษตรกรพืนที่สูงได้อยู่ดีกินดี และนำผลผลิตทั้งผลไม้สดและน้ำผลไม้บรรจุกล่องที่มีคุณภาพที่ดีถึงผู้บริโภค”


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน