คอลัมน์ที่ 13

ประวัติเรือหลวงจักรีนฤเบศร เมื่อครั้งเกิดพายุไต้ฝุ่นเกย์ในอ่าวไทยบริเวณ จ.ชุมพร ปี 2532 กองทัพเรือเป็นหน่วยงานหลักในการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล

แต่มีขีดจำกัดในการปฏิบัติการ เนื่องจากเรือขนาดใหญ่ที่สุดที่มีอยู่ขณะนั้น ไม่สามารถทนสภาพทะเลที่ถูกพายุไต้ฝุ่นเกย์ได้ การช่วยเหลือผู้ประสบภัยกระทำได้ด้วยความยากลำบาก และไม่ได้ผลตามที่ต้องการ

การที่มีเรือขนาดใหญ่พร้อมอุปกรณ์ทันสมัย จะสามารถใช้ในการค้นหาและให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเลได้อย่างรวดเร็วและทันเหตุการณ์ ตลอดจนการมีเฮลิคอปเตอร์ประจำการบนเรือ จะช่วยขยายพื้นที่ในการลาดตระเวน และระยะเวลาการปฏิบัติการในทะเลได้เป็นเวลานานและมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น

กองทัพเรือจึงมีแนวความคิดสร้างเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ เพื่อให้สามารถบรรลุภารกิจตามความมุ่งหมาย และได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดหาเรือและการปฏิบัติภารกิจของเรือ

จนกระทั่งคณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อ 17 มี.ค. 2535 อนุมัติให้กองทัพเรือ ว่าจ้างสร้างเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ ในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล จำนวน 1 ลำ จากบริษัทบาซาน ประเทศสเปน วงเงินประมาณ 7,100 ล้านบาท และกองทัพเรือลงนามในสัญญาว่าจ้างสร้างเรือเมื่อ 27 มี.ค. 2535

ทำพิธีวางกระดูกงู วันที่ 12 ก.ค. 2537 ปล่อยเรือลงน้ำ วันที่ 20 ม.ค. 2539 ขึ้นระวางประจำการ วันที่ 20 มี.ค. 2540

ความยาวตลอดลำ 182.6 เมตร ความยาวที่แนวน้ำ 164.1 เมตร ความกว้างกลางลำที่แนวน้ำ 22.5 เมตร ความกว้างดาดฟ้าบิน 30.5 เมตร ความสูงถึงดาดฟ้าบิน 18.5 เมตร ความสูงยอดเสา 42 เมตร

กินน้ำลึกเต็มที่ 6.2 เมตร ระวางขับน้ำเต็มที่ 11,544 ตัน ความเร็วมัธยัสถ์ 12 นอต ความเร็วสูงสุด 27 นอต

ระยะปฏิบัติการไกลสุด 10,000 ไมล์ ที่ความเร็ว 12 นอต

อาวุธประจำเรือ อาวุธป้องกันตนเองระยะประชิดแบบ SADRAL จำนวน 3 แท่นยิง อาวุธปืน 20 ม.ม. จำนวน 4 แท่นยิง

ระบบขับเคลื่อน เครื่องจักรใหญ่แบบ CODOG เครื่องยนต์แก๊สเทอร์ไบน์ GM LM 2500 จำนวน 2 เครื่อง

เครื่องยนต์ดีเซล MTU 16 V 1163 TB จำนวน 2 เครื่อง

เพลาใบจักร จำนวน 2 เพลา หมุนออกนอกตัวเรือ ใบจักรแบบปรับพิทช์ได้ จำนวน 4 ใบ/พวง

ระบบไฟฟ้า เครื่องขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า จำนวน 4 เครื่อง เครื่องกำเนิดไฟฟ้า จำนวน 4 เครื่อง

เครื่องจักรช่วยและเครื่องจักรอื่นๆ เครื่องปรับอากาศ ขนาด 155 ตัน จำนวน 3 เครื่อง เครื่องทำความเย็น ขนาด 5 ตัน จำนวน 2 เครื่อง เครื่องปรับแต่งอาการโคลงของเรือ จำนวน 2 ชุดเครื่อง เครื่องผลิตน้ำจืดแบบ REVERSE OSMOSIS จำนวน 4 เครื่อง ระบบลิฟต์ จำนวน 5 ตัว

อากาศยานประจำเรือ เครื่องบินขึ้นลงทางดิ่งแบบ AV-8S จำนวน 9 เครื่อง เฮลิคอปเตอร์แบบ S-70B จำนวน 6 เครื่อง

คุณลักษณะเรือทั่วไป โรงพยาบาล ห้องรักษาพยาบาล ประกอบด้วยห้องตรวจโรค ห้องผ่าตัด ห้องเอกซเรย์ และห้องทันตกรรม ห้องผู้ป่วย รองรับผู้ป่วยได้ จำนวน 15 เตียง ห้องผู้ประสบภัย รองรับผู้ประสบภัยได้ จำนวน 26 เตียง

กำลังพลประจำเรือ(ไม่รวมฝูงบิน) นายทหาร 42 นาย พันจ่า 69 นาย จ่า 230 นาย พลทหาร 110 นาย

กองทัพเรือได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อเรือหลวงลำนี้ว่า “เรือหลวงจักรีนฤเบศร”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน