หัวใจติดปีก นับนกอินทนนท์

หัวใจติดปีก นับนกอินทนนท์ – เส้นทางเดินในป่าร่มครึ้ม สองข้างทางเป็นต้นไม้ใหญ่ สูงแหงนคอตั้งบ่า เด็กและผู้ใหญ่กลุ่มหนึ่งยืนกันอยู่เงียบๆ บางคนยกกล้องสองตาขึ้นส่อง บางคนยืนนิ่งๆ ฟังเสียงร้องของนก เพื่อจำแนกว่าเป็นนกชนิดไหน

“พี่ๆ เขามีประสบการณ์มาก เป็นนักดูนกที่เก่ง บางคนแค่ฟังเสียงก็รู้แล้วว่านกอะไร”

แอนฟิลด์ ด.ช.ธนัท ขันธรักษ์ อายุ 11 ขวบ บอกเล่าความประทับใจจากการเข้าร่วมกิจกรรมงานนับนกที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ จัดโดยชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา

หัวใจติดปีก นับนกอินทนนท์

ช่วยกันฟัง ช่วยกันสังเกต

หมอหม่อง นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ ประธานชมรม เล่าถึง Inthanon Census หรืองานนับนกอินทนนท์ ว่าเป็นการชวนนักดูนกทั่วประเทศให้มาช่วยกันนับนก ชวนกันทุกปี มากันทุกครั้งอย่างต่อเนื่อง รวม 20 ปีแล้ว

หัวใจติดปีก นับนกอินทนนท์

หมอหม่อง นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์

“เวลาที่เราต้องการจะดูข้อมูลทางชีววิทยา ดูการเปลี่ยนแปลง เราจำเป็นต้องดูระยะยาว เพราะว่าในแต่ละปี มีปัจจัยเยอะมากที่มีผลต่อประชากรของนก การนับนกเรามองสองทาง คือ ดูประชากรนก ตัวไหนเพิ่มขึ้นหรือลดลง อีกมุมหนึ่งเราใช้นกเป็นปรอทวัดไข้ เหมือนเครื่องตรวจสุขภาพของระบบนิเวศโดยรวม เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรให้ยั่งยืนในอนาคต”

นอกจากกิจกรรมนับนกดอยอินทนนท์ ชมรมยังจัดกิจกรรมนับนกในเมืองเชียงใหม่ปีละครั้ง เรียกกันว่า งานนับนกปิ๊ดจะลิว และทุกๆ เดือนก็มีกิจกรรม Chiang Mai Bird Walk ชวนนักดูนกและคนที่สนใจ ไปดูนกตามชานเมืองบ้าง ไปต่างอำเภอก็บ่อย บางครั้งเข้าป่าขึ้นดอยไปไกล แต่ไม่ว่าจะใกล้หรือไกล ก็จะมีเด็กๆ เข้าร่วมกิจกรรมแบบไปไหนไปกันเสมอ

หัวใจติดปีก นับนกอินทนนท์

สมุดบันทึกนกของแอนฟิลด์

“ผมคิดว่าวัยที่เหมาะกับการเริ่มดูนกคือ 9 ขวบขึ้นไป”

มะเดี่ยว วรพจน์ บุญความดี กรรมการชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา ให้มุมมองจากประสบการณ์การเป็นผู้นำพาเด็กๆ เดินป่า ดูนก ศึกษาธรรมชาติมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน

“ถ้ายังเด็กมาก 3-5 ขวบ ไม่ต้องดูนกก็ได้ เด็กเล็กจะมองสิ่งใกล้ตัว ถ้าให้ดูนก เขาจะมองไม่เห็น แล้วจะรู้สึกว่าทำไมไม่เห็น เราพาเขาไปสัมผัสธรรมชาติ ไปเดินป่า เจอนกก็ดูนก เจอต้นไม้ดูต้นไม้ เขาจะซึมซับ พอพาไปบ่อยๆ โตมาเขาจะหากิจกรรมที่ถูกจริตกับเขาเอง”

หัวใจติดปีก นับนกอินทนนท์

ครอบครัวมลิทองพาลูกๆ เข้าป่า

หัวใจติดปีก นับนกอินทนนท์

งานนับนกอินทนนท์

แอนฟิลด์ เป็นหนึ่งในเด็กที่พบกิจกรรมที่ถูกจริตในเวลาที่พร้อม แอนฟิลด์เริ่มดูนกรอบบ้านก่อน แล้วขอให้พ่อกับแม่พาไปตามแหล่งที่อยู่ของนก ชอบ ติดใจ กระตือรือร้นค้นคว้าเอง เพราะอยากดูนกให้เป็น จำแนกชนิดนกให้ได้ ตอนนี้ แอนฟิลด์อายุ 11 ขวบ ดูนกและจำแนกชนิดนกมาแล้ว 400 กว่าชนิด

“ดูได้ทั้งปี กี่ครั้งก็ได้ ถึงจะเจอนกชนิดซ้ำๆ ก็ไม่เบื่อ เพราะนกไม่ได้ทำอะไรเหมือนเดิม ครั้งนี้เราเห็นนกบินอยู่ ครั้งต่อไปก็อาจจะกำลังกินลูกไม้หรือว่าทำรัง แต่นักดูนกที่ดีต้องอยู่เงียบๆ เดินเบาๆ และอดทน ถ้าเราดูนกโดยที่นกไม่ระแวงเรา นั่นคือมีความสุขที่สุดครับ”

ประสบการณ์การดูนกของแอนฟิลด์เปิดกว้างขึ้นอีกเมื่อได้แรงบันดาลใจจากพี่ๆ ในงานนับนกอินทนนท์

หัวใจติดปีก นับนกอินทนนท์

ไบน็อก และเทเลสโคป อุปกรณ์ข้างกาย

“อยากจะฝึกฟังเสียงนกแล้วบอกได้ว่าเป็นนกชนิดไหน พี่ๆ หลายคนเก่งมาก เขาก็บอกเรา สอนเรา ผมก็อยากจะฝึกฝนจนสามารถไปบอกต่อคนอื่นได้ครับ”

“เด็กหลายคนรุ่น 20 ปีที่แล้ว ตอนนี้กลายเป็นนักปักษีวิทยาที่เก่งกาจ ความรู้ความสามารถระดับโลกและเป็นนักอนุรักษ์ที่สำคัญมาก มีรุ่นหลังๆ ส่งต่อกันมา เห็นพี่ทำก็อยากทำ อยากเก่งแบบพี่ พี่ก็แนะนำ สอนกัน สร้างคนที่มีหัวใจรักธรรมชาติต่อไปเรื่อยๆ” หมอหม่องเล่าด้วยความสุขที่กิจกรรมของชมรมเป็นเวทีให้ความรู้และถ่ายทอดความรักธรรมชาติผ่านนกตัวเล็กๆ

หัวใจติดปีก นับนกอินทนนท์

นกกินปลีหางยาวเขียว อ่างกาเนนสิส

“พอเด็กได้เห็นความน่ารักของนก เห็นความเชื่อมโยงระหว่างนกกับต้นไม้ ทำให้รู้ว่าโลกนี้ไม่ได้มีแต่มนุษย์ เขามีเพื่อนเป็นนก เป็นสัตว์ เป็นต้นไม้ เกิดความอ่อนโยนในจิตใจ ความอ่อนโยนเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะต้องมีในมนุษย์ทุกคน เมื่อมีความอ่อนโยน รู้สึกได้ต่อชีวิตทั้งหลายที่อยู่รอบตัว จะมีความรัก ความหวงแหน เมื่อเติบโตขึ้นก็จะเลือกวิถีชีวิตที่ย่างก้าวบนโลกนี้โดยไม่ไปทำลาย ไม่ไปก่อให้เกิดผลกระทบต่างๆ”

ใครอยากมีเพื่อนน่ารัก เสียงใส และมีปีก ติดตามในทุ่งแสงตะวัน วันเสาร์ที่ 28 มีนาคม 2563 เวลา 05.05 น. ทางช่อง 3 กด 33

ประทุม สิรสุนทร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน