4 ผลงานนวัตกรรุ่นเยาว์

ร.ร.เบญจมราชรังสฤษฎิ์ 2

คอลัมน์ ไอคิวทะลุฟ้า

ผลงานนวัตกรรุ่นเยาว์ – สํานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้รับการสนับสนุนงบประมาณดำเนิน “โครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (Fabrication Lab)”

เพื่อพัฒนาทักษะนวัตกรแก่เด็กและเยาวชนไทย โดยเข้าเยี่ยมชมโครงงานสิ่งประดิษฐ์ของนักเรียนที่โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ 2 จ.ฉะเชิงเทรา นำโดย ดร.อ้อมใจ ไทรเมฆ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. และคณะ

เครื่องวัดปริมาณออกซิเจนละลายน้ำด้วยแสง

เริ่มที่ “เครื่องวัดปริมาณออกซิเจนละลายน้ำด้วยแสง” นายวรินทร วงศ์อามีน ชั้น ม.5 ตัวแทนกลุ่ม เล่าว่ารอบๆ โรงเรียนมีปริมาณน้ำที่เราไม่รู้เลยว่าเป็นน้ำดีหรือน้ำเสีย จึงพัฒนาเครื่องวัดปริมาณออกซิเจนละลายน้ำด้วยแสงขึ้นมา โดยใช้ชุดทดสอบออกซิเจนละลายภาคสนามและเทียบกับแถบสีมาตรฐานเพื่อตรวจสอบคุณภาพน้ำ และนำน้ำที่ทดสอบไปเทียบกับค่าปริมาณออกซิเจนละลายน้ำที่ได้จากเครื่องวัดปริมาณออกซิเจนละลายน้ำด้วยแสง

จากนั้นนำเครื่องวัดมาใช้ในการทดลองเพื่อดูประสิทธิภาพของเครื่องวัดผลการทดลองพบว่า ค่าเฉลี่ยของออกซิเจนละลาย (DO) เมื่อเทียบกับแถบสีมาตรฐาน และเมื่อเทียบกับเครื่องวัดในจุดเก็บตัวอย่างมีค่าเท่ากัน แสดงว่าเครื่องวัดดังกล่าวใช้ได้จริงและทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถบอกค่าปริมาณออกซิเจนละลายน้ำได้ชัดเจน ถูกต้อง แม่นยำ

รถตัดหญ้าไฮเทค

ด้านผลงาน “รถตัดหญ้าไฮเทค” นาย ปิยพัทธ์ สิทธินันท์เจริญ ชั้น ม.3 ตัวแทนกลุ่ม เล่าว่า โครงงานนี้เราต้องการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้กับเครื่องตัดหญ้า ให้ผู้ใช้สะดวกไม่ต้องออกแรง ไม่ต้องออกไปตากแดด โดย พี่เลี้ยง มหาวิทยาลัยบูรพา แนะนำว่าควรเปลี่ยนอุปกรณ์โครงรถให้เป็นแบบโครงเหล็กเพื่อความแข็งแรงและสะดวกปลอดภัยขึ้น ซึ่งพัฒนามาจนรถค่อนข้างสมบูรณ์มากขึ้น ผลที่ได้พอใจมาก สามารถตัดหญ้าได้ดี

เครื่องตรวจจับควันบุหรี่อัจฉริยะ

ด้าน นายตะวัน พิกุล สมาชิกในทีม กล่าวเสริมว่า “โครงการ FabLab” ทำให้ได้รับความรู้ในเรื่องการต่อวงจรไฟฟ้า เรื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ เช่น โมดูล (ตัวปรับกระแสไฟ) บอร์ด รีเลย์ เป็นต้น

เครื่องช่วยเหลือผู้ดูแลผู้ป่วยติดเตียง

นอกจากสองผลงานข้างต้น ทางโรงเรียนยังจัดแสดงผลงาน “เครื่องตรวจจับควันบุหรี่อัจฉริยะ” หลักการทำงานคือ เมื่อพบกลุ่มควันแก๊ส เคลื่อนที่ผ่านบริเวณเซ็นเซอร์ จะส่งสัญญาณอะนาล็อก ไปยังตัวบอร์ด KidBright และแจ้งเตือนไปยังแอพพลิเคชั่นไลน์ และผลงาน “เครื่องช่วยเหลือผู้ดูแลผู้ป่วยติดเตียง” ซึ่งน้องๆ ได้วาดแบบร่างและพิมพ์ชิ้นงานด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ พร้อมต่อวงจรสิ่งประดิษฐ์ตามแบบร่าง และเขียนโปรแกรมเพื่อควบคุมการทำงานของอุปกรณ์

เพื่อให้เครื่องดังกล่าวสามารถช่วยให้ผู้ป่วยติดเตียงใช้เตือนเมื่อถึงเวลาพลิกท่าและระบุท่าที่ต้องการพลิกผู้ป่วยแต่ละครั้ง โดยแจ้งเตือนผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่งผู้ดูแลไม่ต้องคอยเดินมาดูที่เตียงว่าถึงกำหนดพลิกตัวหรือยัง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน