พายุฤดูร้อน

คอลัมน์ รู้ไปโม้ด

โดย…น้าชาติ ประชาชื่น

พายุฤดูร้อน เกิดขึ้นได้อย่างไร

พาสตา

ตอบ พาสตา

พายุฤดูร้อน (Thunderstorms) คือพายุฝนฟ้าคะนองที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนเมษายนและต้นเดือนพฤษภาคม หรือช่วงก่อนเริ่มต้นฤดูฝน จัดเป็นพายุประจำถิ่นที่มักเกิดขึ้นในบริเวณประเทศไทยตอนบน เมื่ออากาศในช่วงเปลี่ยนฤดูมีความชื้นสูงและร้อน

ในขณะที่ความกดอากาศสูงก็ยังคงแผ่ลงมาเป็นครั้งคราว นำอากาศที่แห้งและเย็นกว่ามาผสมผสาน ทำให้เกิดมวลอากาศที่อเสถียรภาพ มีการแลกเปลี่ยนมวลกันในแนวดิ่ง เกิดการยกตัวของมวลอากาศอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดเมฆฝนฟ้าคะนองขนาดใหญ่กว่าปกติ และมีลมกระโชกแรงเกิดขึ้น ในบางครั้งทำให้เกิดลูกเห็บตก

ช่วงเวลาดังกล่าว แผ่นดินได้รับรังสีดวงอาทิตย์มากกว่าช่วงอื่นๆของปี เนื่องจากแกนของโลกเริ่มเอียงเข้าหาดวงอาทิตย์ และดวงอาทิตย์เคลื่อนมาอยู่บริเวณเส้นศูนย์สูตร ทำให้อากาศที่อยู่เหนือพื้นผิวโลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น โดยเฉพาะทำให้อากาศร้อนอบอ้าวและชื้นในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และตอนบนของภาคกลาง

ประกอบกับลมที่พัดเข้าสู่ประเทศไทยในช่วงนี้เป็นลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดมาจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้ ในระยะนี้ถ้ามีลมเหนือ (อากาศเย็น) พัดลงมาจากประเทศจีน จะทำให้อากาศ 2 กระแส คือกระแสลมใต้หรือตะวันออกเฉียงใต้

เป็นอากาศร้อนและชื้นพัดผ่านทะเลมา และกระแสลมเหนือ เป็นอากาศแห้งและเย็นพัดผ่านพื้นทวีปมา กระทบกัน ทำให้การหมุนเวียนของอากาศแปรปรวนรวดเร็วและฉับพลัน เป็นเหตุให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองอย่างแรงและรวดเร็ว มีฟ้าแลบ ฟ้าร้อง และฟ้าผ่ารวมอยู่ด้วย

พายุฟ้าคะนองเป็นพายุที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาอันสั้น ประมาณ 30-40 นาที มีน้อยครั้งที่เกิดขึ้นนานกว่า 2 ชั่วโมง

โดยทั่วไป พายุฤดูร้อนมักเกิดขึ้นในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากการแผ่ลิ่มของความกดอากาศสูงจากประเทศจีนลงมาบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดังนั้นในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนและชื้น

มีการยกตัวของมวลอากาศอยู่บ้างแล้ว แต่เมื่อมีอากาศเย็นจากบริเวณความกดอากาศสูงซึ่งมีลักษณะจมตัวลง และมีอุณหภูมิต่ำกว่า ทำให้มวลอากาศร้อนยกตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว และเมฆคิวมูโลนิมบัส (Cumulonimbus) ที่ก่อตัวขึ้นก็จะเจริญขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งอุณหภูมิยอดเมฆต่ำ กว่า -60 ถึง 80 องศาเซลเซียส จึงทำให้เกิดลูกเห็บตกได้

[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน