คอลัมน์ รู้ไปโม้ด

น้าชาติ ประชาชื่น [email protected]

งูหลาม กับ งูเหลือม ต่างกันยังไงครับ

พิชญ์

ตอบ พิชญ์

งูเหลือม (Reti culated python) ชื่อวิทยาศาสตร์ Python reticulatus จัดอยู่ในไฟลัมสัตว์มีแกนสันหลัง ชั้นสัตว์เลื้อยคลาน เป็นงูขนาดใหญ่ ลำตัวยาวเฉลี่ยประมาณ 3.5-6 เมตร เป็นงูที่ยาวที่สุดของโลก โดยตัวที่ยาวที่สุดยาวถึง 9.6 เมตร ถูกจับได้เมื่อปี ค.ศ. 1917 ที่เกาะซีลิเบท มาเลเซีย มีความยาวกว่า งูอนาคอนดา (Eunectes murinus) ที่พบในทวีปอเมริกาใต้ แต่น้ำหนักน้อยกว่า อาจจะหนักน้อยกว่างูอนาคอนดาได้ถึงครึ่งเท่าตัว

ชื่อวิทยาศาสตร์ของ งูเหลือมคือ reticulatus เป็นภาษาละติน แปลว่า เหมือนแห หรือ ร่างแห หมายถึง ลวดลายบนตัวงูที่มองดูคล้ายร่างแห อันเป็นที่มาของชื่อสามัญในภาษาอังกฤษด้วย

ปากงูเหลือม มีขนาดใหญ่ ฟันแหลมคม ขากรรไกรแข็งแรงมาก ทั้งสามารถถอดขากรรไกรในการกลืนเหยื่อที่มีขนาดใหญ่ได้ เกล็ดบริเวณลำตัวตั้งแต่ปลายหัวจรดปลายหางมีสีเหลืองหรือสีเหลืองปนน้ำตาล พื้นตัวสีน้ำตาลแดง มีลายแบ่งเป็นวง หลายสี บริเวณส่วนหัวมีเส้นสีดำขนาดเล็กเรียวยาว เรียกว่า ศรดำ จนเกือบถึงปลายปาก หัวเด่นแยกออกจากคออย่างชัดเจน ปลายหางยาวแหลม เกล็ดเรียบเรียงเป็นแถวได้ระหว่าง 69-74 แถวที่กลางลำตัว เกล็ดทวารเป็นแผ่นเดี่ยว

ซึ่งจัดอยู่ในประเภทงูไม่มีพิษ เลื้อยช้าๆ แต่ดุตามสัญชาตญาณเมื่อมีศัตรู ออกหากินกลางคืนทั้งบนบกและในน้ำ อาศัยนอนตามโพรงดินโพรงไม้ในที่มืดและเย็น หลายๆ วันจึงจะออกหากินครั้งหนึ่ง งูเหลือมกินสัตว์แทบทุกชนิดโดยมักดักซุ่มรอเหยื่อบนต้นไม้ ด้วยมีสีและลายกลืนไปกับธรรมชาติ เมื่อได้จังหวะจะทิ้งตัวลงมารัดจนเหยื่อขาดอากาศหายใจ กินสัตว์ขนาดเล็ก เช่น นก หนู กระต่าย ไก่ เป็ด หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดกลางอย่าง เก้ง กวาง สุนัข รวมทั้งสัตว์เลื้อยคลานด้วยกันอย่างตัวเงินตัวทอง

พบกระจายพันธุ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่ หมู่เกาะนิโคบาร์ พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย เกาะสุมาตรา เกาะบอร์เนียว เกาะสุลาเวสี เกาะชวา เกาะลูซอน และหลายเกาะในหมู่เกาะฟิลิปปินส์ สำหรับในประเทศไทยพบได้ทั่วทุกภาค ปัจจุบันถือเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวน และคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535

ได้มีการศึกษาด้านวิวัฒนาการของงูเหลือม พบว่างูเหลือมและงูเหลือมติมอร์ (P. timoriensis) มีความแตกต่างทางพันธุกรรมไปจากงูในสกุล Python ชนิดอื่นๆ จึงเห็นควรว่าควรแยกสกุลออกมาต่างหากเป็น Malayopython

งูหลาม หรืองูหลามพม่า (Burmese python) ชื่อวิทยาศาสตร์ Python bivittatus เป็นงูขนาดใหญ่ ไม่มีพิษ ลักษณะคล้ายกับงูเหลือม ซึ่งเป็นงูในสกุลเดียวกัน แต่งูหลามมีขนาดเล็กกว่า ความยาวโดยเฉลี่ยประมาณ 1-3 เมตร (พบใหญ่ที่สุด 5.18 เมตร น้ำหนัก 74 กิโลกรัม ที่อุทยานแห่งชาติเอเวอร์เกลดส์ สหรัฐอเมริกา ทำลายสถิติตัวที่มีความยาว 5 เมตร ในประเทศพม่า) มีลำตัวที่อ้วนป้อมกว่า อีกทั้งหางก็สั้นกว่า และมีขีดบนหัวเป็นสีขาว เรียกว่า ศรขาว สีสันและลวดลายแตกต่างจากงูเหลือม บวกนิสัยไม่ค่อยดุ จึงเป็นที่นิยมของผู้ชอบเลี้ยงสัตว์เลื้อยคลาน โดยเฉพาะตัวที่สีกลายเป็นสีเผือกและลวดลายแตกต่างไปจากปกติ

พฤติกรรมการหากิน มักจะหากินบนพื้นดิน ไม่ชอบขึ้นต้นไม้หรือลงน้ำเหมือนงูเหลือม แต่ถ้าหากลงน้ำก็ว่ายน้ำได้ดีและสามารถหยุดลอยตัวบนผิวน้ำโดยไม่จม เพื่อพักผ่อนได้ด้วย จากการทดลองของนักวิทยาศาสตร์พบว่า งูหลามพม่าอาศัยอยู่ได้ดีในพื้นที่น้ำจืด น้ำกร่อย แต่ไม่สามารถจะอยู่รอดได้ในน้ำทะเล

เชื่อว่าในน้ำทะเลมีสารเคมีที่มีพิษต่อร่างกายงูหลามพม่า พบกระจายพันธุ์ตั้งแต่ตอนเหนือของพม่า สำหรับในประเทศไทยพบได้ทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ ทั้งนี้ งูหลามจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535

เคยถูกจัดให้เป็นชนิดย่อยของงูหลามอินเดีย (P. molurus) แต่จากการศึกษาโดยละเอียด ด้วยความแตกต่างในหลายๆ ส่วน ชนิดย่อย P. molurus bivittatus ที่เคยใช้ จึงถูกยกให้เป็นชนิดต่างหากและใช้ชื่อวิทยาศาสตร์อย่างในปัจจุบัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน