คอลัมน์ รู้ไปโม้ด

น้าชาติ ประชาชื่น [email protected]

ลายรดน้ำคืออะไรคะ

มณฑินี

ตอบ มณฑินี

คำตอบนำมาจากสถาบันวิจัยและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี อธิบายว่า ลายรดน้ำเป็นงานประณีตศิลป์ด้านตกแต่งอย่างหนึ่งที่มีรูปแบบและการทำสืบเนื่องกันมาแต่โบราณ จัดเป็นงานช่างศิลป์ที่รวมอยู่ใน “ช่างรัก” อันเป็นช่างหมู่หนึ่งในบรรดาช่างหลวง หรือช่างประจำราชสำนัก ซึ่งเรียกกันว่า “ช่างสิบหมู่”

ลายรดน้ำ หมายถึง การเขียนลวดลายหรือรูปภาพ ให้ปรากฏเป็นลายทองด้วยวิธีปิดทองแล้วเอาน้ำรด จัดเป็นงานประณีตศิลป์สำหรับตกแต่งสิ่งของเครื่องใช้ และเครื่องประดับ สูงสุดคือเครื่องใช้ในพระพุทธศาสนาตลอดไปจนถึงในส่วนที่เกี่ยวกับกษัตริย์ ตกแต่งตั้งแต่สิ่งของที่มีขนาดเล็กขึ้นไปจนถึงประดับตกแต่งผนังห้องที่มีขนาดใหญ่ หมายถึง ตกแต่งตั้งแต่เนื้อที่ไม่กี่ตารางนิ้วไปจนถึงเนื้อที่หลายร้อยตารางฟุตให้วิจิตรงดงาม

การเขียนลวดลายหรือรูปภาพประเภทลายรดน้ำนี้ คงจะมีมาแต่ครั้งกรุงสุโขทัย โดยรับมาจากจีนผู้เป็นชาติแรกที่รู้จักการใช้รัก รวมถึงได้รับการถ่ายทอดกรรมวิธีทำลายรดน้ำ งานประเภทลายรดน้ำคงแพร่หลายและเป็นที่นิยมเรื่อยมาจนถึงสมัยอยุธยา และต่อมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ดังปรากฏศิลปะโบราณวัตถุ ได้แก่ ตู้พระธรรม เครื่องใช้สอย หีบต่างๆ ไม้ประกับหน้าคัมภีร์ พานแว่นฟ้า โตก ตะลุ่ม ฝา บานตู้ ฉากลับแล ฝาผนัง บานประตูหน้าต่าง เป็นต้น

ลักษณะพิเศษของลายรดน้ำอยู่ที่กรรมวิธีการเขียนผิดแผกแตกต่างจากงานจิตรกรรมทั่วไปที่ใช้สีหลายสี หรือแม้แต่งานจิตร กรรมประเภทเอกรงค์ ที่เป็นเช่นนี้ เพราะการเขียนลายรดน้ำใช้น้ำยาหรดาลเขียนบนพื้นซึ่งทาด้วยยางที่ได้จากต้นรัก เมื่อเขียนเสร็จแล้วจึงเช็ดรัก ปิดทอง แล้วเอาน้ำรด น้ำยาหรดาลที่เขียน เมื่อถูกน้ำก็จะหลุดออก ส่วนที่เป็นลวดลายทองก็ติดอยู่ ทำให้ลวดลายหรือรูปภาพที่ปรากฏหลังการรดน้ำเป็นสีทองเพียงสีเดียว บนพื้นสีดำหรือสีแดง ซึ่งพื้นหรือวัสดุนั้นจะต้องทาด้วยยางรัก 2-3 ครั้งเสียก่อนจะลงมือเขียนด้วยน้ำยาหรดาล

ยังมีข้อมูลจากสถาบันอยุธยาศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ว่า งานศิลปะลายรดน้ำมีเอกลักษณ์ที่เป็นภาพที่ใช้สีแค่ 2 สี ได้แก่ สีทองของทองคำ และสีดำของยางรัก ทั้งนี้ สารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่า “ลายรดน้ำ คือ งานจิตรกรรมไทยแขนงหนึ่ง ได้รับช่วงถ่ายทอดความรู้กันมาตั้งแต่สมัยโบราณ เป็นวิธีการที่ช่างเขียนได้คิดทำไว้ช้านานแล้ว ลายรดน้ำประกอบด้วยการลงรัก เขียนลายด้วยน้ำยาหรดาลและปิดทองรดน้ำ”

ส่วนใหญ่จะพบงานลายรดน้ำเขียนบนพื้นไม้ ที่พบมากคือลายรดน้ำประดับภายนอกของตู้พระไตรปิฎก ซึ่งบางครั้งเรียกว่าตู้ลายทอง หีบไม้ลับแล บานประตู บานหน้าต่าง และที่น่าสนใจคือ ภาพลายรดน้ำขนาดใหญ่ ตกแต่งผนังด้านนอกของอาคารไม้ ซึ่งมักเป็นพระตำหนักของกษัตริย์มาก่อน ได้แก่ หอเขียนวังสวนผักกาด และตำหนักไม้ที่วัดไทร เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ

ไม่ปรากฏหลักฐานที่บ่งบอกให้รู้ได้ว่าในสังคมไทยเริ่มทำลายรดน้ำเมื่อใด ทั้งนี้ งานศิลปะลายรดน้ำส่วนใหญ่ที่พบเป็นงานในสมัยอยุธยาตอนต้น ปลาย และต้นรัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่ 1-4)

ลายรดน้ำเป็นงานประณีตศิลป์ที่งดงาม ดังที่ ศ.ศิลป์ พีระศรี ได้กล่าวไว้ในหนังสือ ตู้ลายรดน้ำ ว่า “บรรดาศิลปะประยุกต์ที่คนไทยในสมัยโบราณสร้างขึ้นไว้ มีอยู่ประเภทหนึ่ง (ส่วนมาก) ทำลวดลายเป็นภาพปิดด้วยบนแผ่นทองคำเปลวบนพื้นรักสีดำ งานศิลปะประเภทนี้มีความสำคัญมากสำหรับตกแต่งสิ่งของเครื่องใช้ของชาวบ้าน และเครื่องใช้ในพระศาสนา…งานช่างรักประเภทนี้ เราเรียกว่า “ลายรดน้ำ” (หมายถึงการทำงานสำเร็จในชั้นสุดท้ายด้วยการเอาน้ำรด) ได้เจริญสูงสุดในสมัยอยุธยา ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 22 จนถึงตอนกลางพุทธศตวรรษที่ 23…”

น. ณ ปากน้ำ ศิลปินแห่งชาติผู้เชี่ยวชาญศิลปะไทยได้กล่าวถึงลายรดน้ำว่า “ลายรดน้ำปิดทองหรือลายไทยของเราเป็นวิสุทธิศิลป์ประเภทหนึ่งซึ่งสำแดงออกด้วยน้ำหนักช่องไฟและเส้นอันงามแสดงอารมณ์ ความรู้ต่างๆ แม้จะมีเพียงแค่สีทองของตัวลายกับสีดำ”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน