เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ 4 กรกฎาคม 2563 ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยคณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข และฝ่ายวิจัยนวัตกรรมและวิเทศสัมพันธ์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ จัดโครงการบำเพ็ญพระกุศล “โครงการตรวจภูมิคุ้มกันต่อโรค COVID-19 ในชุมชนชาวไทย” ซึ่งเป็นโครงการตรวจคัดกรองหาภูมิคุ้มกันต่อโรคโควิด-19 ให้กับประชาชนชาวไทย อายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไปที่ไม่เคยมีประวัติติดเชื้อโควิด-19 จำนวนทั้งสิ้น 15,000 ราย

โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.แพทย์หญิงจิรายุ เอื้อวรากุล คณบดีคณะเเพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์วิสุทธิ์ ล้ำเลิศธน รองคณบดีคณะเเพทยศาสตร์และการสาธารณสุข ร่วมให้รายละเอียดโครงการ ที่ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 3 สำนักงานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ แจ้งวัฒนะ

ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เผยถึงพระกรุณาธิคุณใน ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่ทรงห่วงใยถึงสุขภาพของประชาชนชาวไทยจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 โดยที่ผ่านมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานความช่วยเหลือต่างๆ ทางด้านการแพทย์ ด้วยทรงตระหนักถึงสุขอนามัยของประชาชนเป็นสำคัญ และยังทรงมีพระดำริให้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ให้การสนับสนุนในทุกๆด้านอย่างเต็มกำลังเพื่อช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ป่วยในชุมชนโดยรอบของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์

รวมถึงโรงพยาบาลต่างๆ ในท้องถิ่นห่างไกลเพื่อให้ความช่วยเหลือกระจายสู่โรงพยาบาลต่างๆที่ขาดแคลนทั่วประเทศ เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ 4 กรกฎาคมของทุกปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2552 ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี จะทรงบำเพ็ญพระกุศล ด้วยโครงการบำเพ็ญพระกุศลฯ พระราชทานที่กอปรด้วยคุณประโยชน์ทั้งต่อผู้ป่วยและประชาชน

สำหรับโครงการบำเพ็ญพระกุศลเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ ในปี 2563 นี้ ได้พระราชทานโครงการบำเพ็ญพระกุศล “โครงการตรวจภูมิคุ้มกันต่อโรค COVID-19 ในชุมชนชาวไทย” ซึ่งจะดำเนินการโดยคณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข และฝ่ายวิจัยนวัตกรรมและวิเทศสัมพันธ์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ในฐานะที่เราเป็นสถาบันการศึกษาวิจัยด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และการแพทย์ชั้นนำ ซึ่งมีพันธกิจสำคัญในด้านการศึกษาค้นคว้าวิจัย เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่และต่อยอดการนำผลการวิจัยไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนและประเทศชาติ

โครงการดังกล่าวเป็นการช่วยเหลือประชาชนชาวไทยให้ได้รับโอกาสในการเข้าถึงบริการตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อโรคโควิด-19 สนองพระปณิธานขององค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่ทรงห่วงใยสุขภาพอนามัยประชาชน อีกทั้งเพื่อเพิ่มโอกาสการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อให้กับชุมชน โดยศึกษาข้อมูลตามหลักทฤษฏี Herd immunity หรือ ภูมิคุ้มกันของกลุ่มประชากร เป็นสถานการณ์ที่สัดส่วนของประชากรในพื้นที่หนึ่งที่มีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อในจำนวนมาก จนเชื้อไวรัสไม่สามารถแพร่กระจายหรือถูกส่งผ่านต่อไปยังผู้อื่นได้ เท่ากับว่าชุมชนนั้นจะสามารถป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อทางอ้อมได้

ยกตัวอย่าง หากในพื้นที่ชุมชนหนึ่งมีคนติดเชื้อและประชาชนที่อยู่ในชุมชนไม่มีภูมิคุ้มกันเลย การติดเชื้อจะแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วกระจายเป็นโดมิโน แต่ถ้าเกิดมีคนที่มีภูมิคุ้มกันกลุ่มหนึ่งมากั้นการแพร่กระจายไว้ เชื้อไวรัสจะหยุดการแพร่กระจายต่อคนที่มีภูมิคุ้มกันแล้ว ดังนั้น หากในชุมชนมีประชากรประมาณ 60-80% มีภูมิคุ้มกันต่อโรค การป้องกันการติดเชื้อในประชากรจะถูกควบคุมได้เร็วและง่ายขึ้น

ด้านศาสตราจารย์ ดร.แพทย์หญิงจิรายุ เอื้อวรากุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการบำเพ็ญพระกุศลฯ เพิ่มเติมว่า คณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข และฝ่ายวิจัยนวัตกรรมและวิเทศสัมพันธ์ได้รับมอบหมายให้ประสานงานการจัดทำโครงการบำเพ็ญพระกุศลฯ “โครงการตรวจภูมิคุ้มกันต่อโรค COVID-19 ในชุมชนชาวไทย” ในปีนี้

โดยโครงการมีเกณฑ์กำหนดให้ประชาชนที่สนใจเข้าร่วมจะต้องเป็นผู้ที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป และไม่เคยมีประวัติติดเชื้อโควิด-19 มาก่อน ซึ่งมีการแบ่งพื้นที่ชุมชนในการออกหน่วยให้บริการตามพื้นที่ต่างๆ โดยเลือกตัวแทนจากภาคต่างๆ ของประเทศไทย เลือกจังหวัดที่มีการติดเชื้อสูงก่อน เช่น ในกรุงเทพมหานครที่เขตชุมชนเคหะหลักสี่ ซึ่งเป็นชุมชนโดยรอบโรงพยาบาลจุฬาภรณ์

ชานเมืองเราก็เลือกไปที่จังหวัดปทุมธานี ตัวแทนของภาคกลางเราเลือกที่จังหวัดชัยนาท เพราะว่าเป็นจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์ ภาคตะวันออกเลือกไปที่ปราจีนบุรี และภาคอีสานไปที่นครราชสีมาและร้อยเอ็ด ส่วนภาคใต้ไปที่ภูเก็ต เพราะเป็นจังหวัดที่มีการติดเชื้อสูงอีกจังหวัดหนึ่ง เพื่อเป็นการเปรียบเทียบว่าจังหวัดที่มีการติดเชื้อสูงกับจังหวัดที่มีการติดเชื้อต่ำมีความแตกต่างมากน้อยแค่ไหนกับจังหวัดที่อยู่โดยรอบมีผลกระทบมีคนติดเชื้อไปหรือยังซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะช่วยทำให้เรารู้ว่าในประเทศไทยภาคต่างๆมีคนติดเชื้อไปมากน้อยแค่ไหนแล้ว

รวมถึงในโครงการยังเปิดรับอาสาสมัครจากทั่วประเทศเปิดให้ลงทะเบียนผ่านช่องทางออนไลน์และมาเข้ารับการตรวจที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยจะใช้ระยะเวลาดำเนินโครงการ 1 ปี เพื่อตรวจให้กับอาสาสมัครผู้เข้าร่วมโครงการ จำนวน 15,000 ราย ซึ่งจะได้รับการตรวจจำนวน 2 ครั้ง ระยะเวลาห่างกัน 6 เดือน ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับการตรวจภูมิคุ้มกันต่อโรคโควิด-19 และทราบผลว่ามีภูมิคุ้มกันหรือไม่ และจากข้อมูลดังกล่าวจะทำให้เราทราบความชุกของการเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ต่อโรคโควิด-19 ในชุมชนและภาพรวมของประเทศ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการใช้มาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ในอนาคตต่อไป

สำหรับโครงการบำเพ็ญพระกุศลฯ “โครงการตรวจภูมิคุ้มกันต่อโรค COVID-19 ในชุมชนชาวไทย” ให้บริการตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อโรคโควิด-19 ในชุมชนชาวไทยในชุมชนตามจังหวัดต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาคเพื่อกระจายโอกาสในการเข้าถึงการตรวจที่ทันสมัยลงไปสู่ชุมชนซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของระบบสุขภาพที่แข็งแกร่งในอนาคต โดยการตรวจดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อผู้เข้าร่วมโครงการเอง รวมถึงครอบครัวและชุมชนนั้นๆ ซึ่งคณะทำงานของโครงการยังได้ลงพื้นที่ไปให้ความรู้ที่ถูกต้องกับบุคลากรด้านสาธารณสุขในพื้นที่ห่างไกล เพื่อช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนได้มีความเข้าใจในโรคนี้มากยิ่งขึ้น เพื่อเตรียมรับมือและหาวิธีป้องกันได้

นอกจากนี้ เรายังได้นำข้อมูลมาเพื่อศึกษาวิจัยถึงสัดส่วนของผู้ที่มีภูมิคุ้มกันโรคโควิด-19 ในคนปกติว่ามีสัดส่วนเป็นกี่เปอร์เซนต์ของประชากรทั้งหมด ตามหลักทฤษฎี Herd immunity ซึ่งหมายความว่าถ้ามีคนในประเทศ 100 คน กลุ่ม 100 คนนี้ต้องมีภูมิต้านทานอย่างน้อย 60-80% เป็นภูมิคุ้มกันหมู่ที่จะทำให้โรคไม่ระบาด และข้อมูลที่ได้ยังสามารถนำไปเป็นข้อมูลบ่งชี้การดำเนินไปข้างหน้าของการระบาดในประเทศไทยด้วย เชื่อว่าจะประโยชน์ต่อระบบสาธารณสุขในระดับนโยบายของประเทศชาติได้ในอนาคต

ทั้งนี้ ประชาชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการบำเพ็ญพระกุศลฯ “โครงการตรวจภูมิคุ้มกันต่อโรค COVID-19 ในชุมชนชาวไทย” สามารถลงทะเบียนออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ covid19.cra.ac.th โดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จะเปิดให้ผู้ทีสนใจลงทะเบียนออนไลน์ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2563 ตั้งแต่เวลา 08.00 น. เป็นต้นไปจนกว่าจะเต็มจำนวน และจะเริ่มให้บริการตรวจแก่ผู้เข้าร่วมโครงการตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2563 เป็นต้นไป

สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0-2576-6401

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน