คติ-สัญลักษณ์

ชวพงศ์ ชำนิประศาสน์

พระอารามหลวงชั้นโท ลำดับวรมหาวิหาร เป็นวัดหลวงที่มีรูปแบบคล้ายกับพระอารามหลวงชั้นโทลำดับราชวรวิหาร ปัจจุบันมีพระอารามหลวงลำดับนี้อยู่ 3 วัด คือ

1.วัดจักรวรรดิราชาวาสวรมหาวิหาร เดิมชื่อวัดนางปลื้มมีมาแต่สมัยอยุธยา ต่อมาเรียกว่าวัดสามปลื้ม เจ้าพระยาบดินทรเดชา สิงห์ สิงหเสนี ปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ทั้งวัดในสมัยรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

2.วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร เดิมชื่อวัดบางหว้าใหญ่ มีมาแต่สมัยอยุธยา สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แห่งกรุงธนบุรี ยกฐานะเป็นพระอารามหลวง และจัดให้มีสังคายนาพระไตรปิฎกที่วัดนี้ ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้มีการขุดพบระฆังโบราณในวัด จึงเรียกกันว่าวัดระฆัง

ในวัดนี้มีสิ่งสำคัญคือ พระอุโบสถและหอไตรที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสร้าง และตำหนักทองที่เคยเป็นที่ประทับของพระเจ้าตากสินและสมเด็จพระสังฆราช (ศรี)
2
หอไตรเป็นเรือนไม้แฝด 3 หลัง ที่รื้อพระตำหนักและหอนั่งเดิมของรัชกาลที่ 1 มาปลูกสร้างขึ้นใหม่ สิ่งสำคัญที่เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ชนก็คือ เป็นวัดที่สมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี จำพรรษา ณ วัดนี้ และได้สร้างพระสมเด็จอันเป็นพระเครื่องที่เป็นที่พุทธศาสนิกชนอยากมีเก็บไว้บูชามากที่สุด

3.วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร เป็นวัดที่เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต แซ่อึ่ง หรือโต กัลยาณมิตร) ได้อุทิศบ้าน ที่ดินและ ซื้อที่ดินบริเวณใกล้เคียงอุทิศถวายเป็นวัดให้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ที่ได้ทรงสร้างพระวิหารขนาดใหญ่ มีลักษณะพิเศษคือมีหลังคา 4 ตับ มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ พร้อมสร้างพระประธานพระราชทาน พระพุทธรูปองค์ใหญ่ชื่อ พระพุทธรูปไตรรัตนนายก หรือหลวงพ่อโต เช่นเดียวกับวัดพนัญเชิง อยุธยา

ตัวพระอุโบสถเป็นสถาปัตยกรรมแบบจีน ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หลังคา 3 ตับ หน้าบันประดับปูนปั้นลายดอกไม้ ภายในพระอุโบสถมีพระประธานเป็นพระพุทธรูปหล่อปางปาลิไลยก์ ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวในประเทศ

บริเวณรอบวัดปัจจุบันเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมวิถีชีวิตริมน้ำที่สำคัญ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน