อพท.ดึงกูรู เสริมทักษะชุมชน ชดเชยรายได้ท่องเที่ยวที่หดหาย

อพท.ดึงกูรู ช่วยชุมชน– ปฎิเสธไม่ได้ว่าผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในด้านเศรษฐกิจ ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง

แม้ว่าภาครัฐจะเร่งผลักดันให้เกิดการใช้จ่าย แต่สถานการณ์ต่างๆ ยังไม่ดีขึ้นมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ได้รับกระทบอย่างหนักจากการปิดเมือง

นักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่สามารถเข้ามาท่องเที่ยวในไทยได้ ขณะที่นักท่องเที่ยวไทยยังไม่ท่องเที่ยวมากเท่าที่ควร แม้ภาครัฐจะออกมาตรการกระตุ้นภาคท่องเที่ยว

ธิติ จันทร์แต่งผล-ชินาวุธ ชินะประยูร-กรณษา ปานสุวรรณ

 

เพื่อช่วยเหลือชุมชนหารายได้ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. โดยสำนักงานพื้นที่พิเศษ 3 หรือ อพท.3 ร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า และ บริษัท ลาซาด้า ประเทศไทย พัฒนาทักษะ e-Commerce ให้ชุมชนในภาคตะวันออก

ด้วยการให้ความรู้ชุมชนท่องเที่ยวในภาคตะวันออก และผู้ประกอบการท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยง เพื่อเปิดร้านค้าออนไลน์เพิ่มช่องทางสร้างอาชีพและรายได้ ให้กับสถานประกอบการท่องเที่ยวและชุมชนท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19


สร้างแพลตฟอร์มช่วยขายสินค้า

นายธิติ จันทร์แต่งผล ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 3 อพท. เผยว่า ในช่วงที่รัฐบาลมีการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้สถานประกอบการท่องเที่ยวและชุมชนท่องเที่ยวขาดรายได้ อพท.3 จึงพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์บนเว็บไซต์

www.smartactivebeach.dasta.or.th แบบชั่วคราว เพื่อช่วยประชาสัมพันธ์สินค้าและผลิตภัณฑ์ด้านการท่องเที่ยว ผ่านช่องทางออนไลน์ของ อพท. และเมื่อสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 มีแนวโน้มที่ดีมากขึ้น

เมื่อรัฐบาลประกาศปลดล็อก ดาวน์ อพท.3 จึงจัดให้ความรู้ชุมชน เพื่อสร้างความรู้และพัฒนาทักษะด้าน e-Commerce ในยุคดิจิทัล ที่จะนำไปสู่การเพิ่มโอกาสในการแข่งขันด้านการตลาดและการประชาสัมพันธ์บนแพลตฟอร์มออนไลน์ และเป็นการเพิ่มช่องทางสร้างอาชีพและเพิ่มรายได้ให้แก่สถานประกอบการท่องเที่ยวและชุมชนท่องเที่ยว

แนะใช้ดิจิตอล ลดต้นทุน เพิ่มกำไร

ดร.ชินาวุธ ชินะประยูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ ด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ดีป้า กล่าวว่า เมื่อเศรษฐกิจโลกถูกขับเคลื่อนด้วยดิจิตอล เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในสังคมมากขึ้น ดีป้าจะผลักดัน 5 เรื่องหลัก

ได้แก่ 1. เมืองอัจฉริยะ 2. ดิจิตอล สตาร์อัพ จะส่งเสริมให้นำเทคโนโลยี นวัตกรรมมาใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 3.IOT ไทยแลนด์ดิจิทัล วัลเล่ย์ ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างที่อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี 4.สร้างคนดิจิตอล และ 5. ประยุกต์ใช้เทคโนโลยี

การนำเทคโนโลยีมาช่วยบริหารธุรกิจ จะมีผลให้ลดต้นทุน และบริหารจัดการได้ดีขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มความยืดหยุ่นในการทำธุรกิจ และสร้างนวัตกรรมใหม่

ธุรกิจท่องเที่ยวควรปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ทั้งการนำเทคโนโลยีมาใช้ในระบบบริหารจัดการ การตลาดดิจิทัล แพลตฟอร์มการท่องเที่ยว ระบบขนส่งสินค้าชุมชน การบริหารลูกค้า ด้วยการนำระบบอัตโนมัติมาตอบคำถามหรือข้อสงสัยของลูกค้า

ท่องเที่ยวชุมชนมีความโดดเด่นเรื่องของอัตลักษณ์ชุมชน ทั้งด้านที่พัก โฮม-สเตย์ ซึ่งนักท่องเที่ยวสนใจ หากปรับการให้บริการที่ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวด้วยการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้ จะช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชนมากขึ้น

การนำเทคโนโลยีดิจิตอล เพื่อมาเสริมสร้างการต่อยอดนวัตกรรม เพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตในการประกอบธุรกิจ จะช่วยเสริมสร้างความรู้และพัฒนาทักษะการนำเทคโนโลยีดิจิตอลที่สามารถนำไปปรับใช้กับธุรกิจ เพื่อให้เกิดการสร้างอาชีพและรายได้ สร้างการปรับตัวทางธุรกิจให้สอดคล้องกับยุคนิวนอร์มัล ให้แก่วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวและผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคตะวันออก

ปัจจุบันมีนิติบุคคล 5 แสนราย จากจำนวนจดทะเบียนนิติบุคคล 7 แสนราย กำลังเผชิญกับความเสี่ยง แรงงาน 37 ล้านราย ประสบปัญหาในการประกอบอาชีพ นักศึกษาจบใหม่ 5 แสนคน หางานทำไม่ได้ เกษตรกร 12 ล้านราย ขายสินค้าไม่ได้ เช่นเดียวกับ พ่อค้าแม่ค้า หาบเร่ แผงลอย ตลาดสด 2 ล้านราย ก็ขายของไม่ได้ เพราะกำลังซื้อในระบบลดลง

หากนำเทคโนโลยีมาใช้จะช่วยให้ปัญหาต่างๆ ดังกล่าวคลี่คลาย เช่น หากเกษตรกรนำโดรนมาช่วยดูแลผลผลิตในไร่ ในสวนหรือดูปลา จะช่วยลดต้นทุนด้านแรงงาน และหากเกษตรกรสามารถรวมตัวกัน 20 ราย แล้วใช้โดรนร่วมกัน ก็จะทำให้ต้นทุนลดลงมากขึ้น เมื่อลดต้นทุนได้ ผลกำไรก็จะเพิ่มขึ้น

สำหรับธุรกิจการท่องเที่ยว สามารถนำแอพพลิเคชัน สมาร์ทโฟน มาใช้ในการดูแลความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยว ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดูแลนักท่องเที่ยว รวมถึงสามารถช่วยเหลือนักท่องเที่ยวได้ทันที หากอยู่ในภาวะอันตราย

เคล็ดลับสร้างร้านค้าออนไลน์

ด้านน.ส.กรณษา ปานสุวรรณ วิทยากรอาวุโส ลาซาด้า ประเทศไทย ให้ความรู้ชุมชนเรื่องการสร้างร้านค้าออนไลน์ e-commerce กับมหาวิทยาลัยลาซาด้า และฝึกปฏิบัติจัดตั้งร้านค้าออนไลน์บนลาซาด้า ตั้งแต่การเปิดร้าน โดยต้องมีอีเมล์ 1 อีเมล์ และสามารถลงทะเบียนได้ 1 ครั้งเท่านั้น

การเลือกสินค้ามาขายในลาซาด้า การกำหนดราคา รูปแบบสินค้า การให้รายละเอียดสินค้าให้เพียงพอ การเข้าร่วมแคมเปญส่งเสริมการขาย และควรมีการรับประกันความพึงพอใจ เพื่อกระตุ้นการตัดสินค้าซื้อ การเลือกใช้โทนสี ก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะหยุดสายตาลูกค้าให้กับเลือกซื้อสินค้า

“กลยุทธ์การตั้งราคาไม่ควรถูกมากเกินไป เพราะอาจถูกมองว่าเป็นของปลอม ของลอกเลียนแบบ แต่ให้ใช้วิธีจัดโปรโมชั่นแทน เช่น ซื้อชิ้นแรกในราคาปกติ ส่วนชิ้นที่ 2 ชิ้นที่ 3 ราคาจะลดลงเพิ่มขึ้น”

ท่องเที่ยวสุราษฎร์ ชวนเที่ยวงานชักพระฯ “สุราษฎร์ธานี…วิถีแห่งสายน้ำ”

จุดเช็กอินใหม่โคราช! นั่งใบบัวยักษ์จิบกาแฟผ่อนคลายในค่ายทหาร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน